ช่วยสร้างโอกาสเกษตรกรไทย ! “สติกเกอร์ติดผลไม้” ดูดสารเอทิลีน ยืดอายุผักผลไม้

19 มีนาคม 2568

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

“ขยะอาหาร” ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ แต่ขยะอาหารไม่ได้มีเพียงแค่เศษอาหาร แต่ยังรวมถึงอาหารหมดอายุ – โดยเฉพาะ “ผักผลไม้ที่เน่าเสีย” จากการขายไม่หมด – ด้วยเช่นกัน

ในระดับโลก ผักและผลไม้สดยังคงเป็นประเภทอาหารที่เหลือทิ้งมากที่สุดประเภทหนึ่ง ส่วนในไทยนั้น แม้ระบบการผลิตและรักษาอาหารสดจะดีขึ้นจากเทคโนโลยีการเกษตรและการเข้ามาของค้าปลีกแบบซูเปอร์มาร์เก็ตตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 แต่การยืดอายุผักและผลไม้เพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์นั้นยังคงเป็นโจทย์ที่ท้าทายอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผักและผลไม้ที่มีสาร “เอทิลีน (ethylene)” เช่นกล้วยและมะเขือเทศจะเสียเร็วและเกิดเชื้อราได้ง่ายกว่าผลผลิตทางการเกษตรหลังเก็บเกี่ยวชนิดอื่น ๆ

ตรงนี้เองที่เป็นโจทย์ทำให้กลุ่มนักวิจัยจากคณะอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนา “สติกเกอร์ติดผลไม้” สำหรับการยืดอายุการเก็บรักษากล้วยและมะเขือเทศในเชิงพาณิชย์ โดยศ.ดร.พรชัย ราชตนะพันธุ์ เป็นหัวหน้าโครงการ ระหว่างที่ศึกษาสารดูดซับเอทิลีนในผักและผลไม้นั้น กลุ่มนักวิจัยได้ทดลองใช้สารต่าง ๆ ที่อาจช่วยลดเอทิลีนในผักและผลไม้ได้ อาทิ ดินสอพองและต่างทับทิม (Marl + KMnO4) ผงคาร์บอน (Activate Carbon) และก๊าซโอโซน (Ozone) แต่ก็ไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ซ้ำยังอาจจะเพิ่มสารตกค้างในผักและผลไม้อีกด้วย

ต่อมา กลุ่มนักวิจัยได้ค้นพบสารไทเทเนียมไดออกไซด์ (Photocatalyst) ที่สามารถยืดอายุผักและผลไม้ได้นานขึ้น ทั้งยังมีต้นทุนที่ต่ำ แต่มีข้อจำกัดคือต้องกระตุ้นไทเทเนียมไดออกไซด์ก่อนใช้งาน กลุ่มนักวิจัยจึงดัดแปลงโดยนำไทเทเนียม ทองแดง และอะลูมิเนียมมาสังเคราะห์ผ่านวิธีการสปาร์ค ไม่จำเป็นต้องกระตุ้นด้วยแสงยูวีอีกต่อไป นอกจากนี้ ระหว่างที่เคลือบสารต้านเอทิลีนลงบนกระดาษสติกเกอร์ กลุ่มนักวิจัยก็ใช้โลหะอนุภาคนาโนเข้ามาช่วยเพื่อให้สารเคลือบไม่ฟุ้งกระจาย

จากการวิจัยและทดลอง พบว่าสารเคลือบดังกล่าวสามารถลดแบคทีเรียสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) และอีโคไล (Escherichia coli) บนกล้วยหอมได้ร้อยละ 98 และยืดอายุการเก็บรักษากล้วยหอมได้จาก 9 วันเป็น 15 วัน ด้วยนวัตกรรมที่สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาขยะอาหาร ทำให้ “สติกเกอร์ติดผลไม้” จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับรางวัลต่าง ๆ ทั้งจากในและต่างประเทศ เช่น รางวัลเหรียญทอง ผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมจากงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565” ในไทย และรางวัลเหรียญทองจากงานประกวด “Seoul International Invention Fair 2023” เมื่อ 2 ปีก่อนที่เกาหลีใต้

เหนือสิ่งอื่นใดคือ กลุ่มนักวิจัยตั้งใจที่จะพัฒนา “สติกเกอร์ติดผลไม้” ไปใช้ในเชิงพาณิชย์เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าในหมู่เกษตรกรและลดจำนวนผักผลไม้เน่าเสียในท้องตลาด จึงได้นำนวัตกรรมนี้มาจัดแสดงในงาน “วันนักประดิษฐ์ 2568” เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ถือเป็นผลงานอีกชิ้นหนึ่งที่มุ่งแก้ไขปัญหา “ขยะอาหารล้นเมือง” โดยตรง

ที่มา https://www.thaipbs.or.th/now/content/2460?fbclid=IwY2xjawJHapBleHRuA2FlbQIxMAABHU_3-66mQItI5vl8vdhAuXEU7h1YeXkCbCJp-io77AldUJ21j17elmH-Gg_aem_jwVcZbP8nx6DI13d4tRikg 

ข้อมูลโดย : https://www.thaipbs.or.th/now/content/2460?fbclid=IwY2xjawJHapBleHRuA2FlbQIxMAABHU_3-66mQItI5vl8vdhAuXEU7h1YeXkCbCJp-io77AldUJ21j17elmH-Gg_aem_jwVcZbP8nx6DI13d4tRikg
แกลลอรี่