“A Gift of Sight, A Whole New Life" … มอบชีวิตใหม่ด้วยการบริจาคดวงตา

23 สิงหาคม 2565

คณะแพทยศาสตร์

หากพูดถึงการบริจาคดวงตาแล้ว หลายคนอาจยังไม่ทราบแน่ชัดว่าคืออะไร หรืออาจมีความเชื่อ และมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริจาคดวงตา ทำให้ในปัจจุบันมีผู้บริจาคดวงตาน้อยกว่าผู้ป่วยที่รอรับดวงตาเพื่อใช้ในการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา


หลายคนอาจคิดว่าคนตาบอดทุกชนิดสามารถเปลี่ยนดวงตาแล้วกลับมามองเห็นได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว “ดวงตา” ที่มีลักษณะเป็นทรงกลมคล้ายกับลูกบอล ส่วนที่สามารถเปลี่ยนหรือปลูกถ่ายได้เรียกว่า“กระจกตา” ซึ่งมีลักษณะโค้งนูนใส อยู่ด้านหน้าตรงกลางของดวงตา กระจกตามีความสำคัญในการมองเห็นโดยช่วยหักเหแสงให้ผ่านเข้าไปโฟกัสในตา และยังเป็นผนังด้านหน้าที่ช่วยปกป้องอันตรายจากภายนอก ดังนั้นการผ่าตัดนี้จะได้ผลดีก็ต่อเมื่อส่วนประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการมองเห็นของดวงตาผู้ป่วยยังดีอยู่ ดังนั้นผู้ที่ตาบอดหรือสายตาพิการที่จะมารับการปลูกถ่ายกระจกตาจะต้องมีสาเหตุจากโรคของกระจกตาเท่านั้น
โรคของกระจกตาซึ่งรักษาไม่ได้ด้วยยา แต่สามารถรักษาได้ด้วยการปลูกถ่ายกระจกตา (corneal transplantation) มีดังนี้
1) โรคกระจกตาเสื่อมจากเซลล์ของกระจกตาสูญเสียทำงาน หรือทำงานไม่ปกติจนทำให้กระจกตาบวมมองเห็นภาพไม่ชัด และมีอาการระคายเคืองร่วมด้วย
2) กระจกตาเป็นแผลเป็น ที่เป็นผลมาจากอุบัติเหตุหรือการติดเชื้อที่ตามาก่อน จึงเกิดแผลเป็นหรือรอยขุ่นฝ้าที่กระจกตา ซึ่งรบกวนการมองเห็นของผู้ป่วย
3) โรคกระจกตาติดเชื้อ ในผู้ป่วยบางรายไม่ตอบสนองต่อยาฆ่าเชื้อ จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดนำกระจกตาที่ติดเชื้อออก แล้วปลูกถ่ายด้วยกระจกตาที่ดีเข้าไปแทนที่
4) กระจกตาที่ผิดปกติจากพันธุกรรม โดยเกิดจากพัฒนาการที่ผิดปกติ หรือ การมีสารบางอย่างสะสมในกระจกตา ทำให้กระจกตาขุ่นมัว มักเกิดขึ้นกับดวงตาทั้งสองข้าง
5) โรคกระจกตาโก่ง (Keratoconus) เป็นภาวะที่กระจกตามีรูปร่าง โก่ง หรือโค้งนูนมากกว่าปกติ จากการที่กระจกตาบางลง ทำให้ความแข็งแรงน้อยลง ทำให้เสียรูป แม้กระจกตาจะไม่ขุ่น แต่จากการมีรูปร่างผิดปกติทำให้โฟกัสแสงไม่ได้ เกิดการมองเห็นไม่ชัด จากสายตาสั้น หรือ สายตาเอียงที่ไม่สมมาตร ผู้ป่วยโรคนี้บางรายอาจไม่สามารถแก้ไขการมองเห็นด้วยการสวมแว่นตา หรือ คอนแทคเลนส์ จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา
6) ผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาไปแล้วแต่ร่างกายผู้ป่วยไม่รับ มีภาวะปฏิเสธกระจกตา (Graft rejection) อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาซ้ำรอบใหม่
การบริจาคดวงตา เปรียบเสมือนการบริจาคอวัยวะส่วนอื่นของร่างกายโดยเป็นการบริจาคดวงตาทั้งดวง ในหนึ่งคนสามารถบริจาคได้สองข้าง ซึ่งจักษุแพทย์จะนำส่วนของกระจกตาจากดวงตาบริจาค มาใช้รักษาผู้ป่วยด้วยวิธีผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาได้อย่างน้อย 2 คน หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับโรคในตาที่ผู้ป่วยเป็นอยู่
ในปัจจุบันการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาถือเป็นการผ่าตัดปลูกถ่ายเนื้อเยื่อที่ประสบความสำเร็จค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะส่วนอื่นๆ โดยไม่จำเป็นต้องเจาะเลือดเพื่อตรวจดูว่าเนื้อเยื่อของผู้บริจาคและผู้รับบริจาคเข้ากันได้หรือไม่
??ท่านสามารถแสดงความจำนงบริจาคดวงตาได้ที่
1. ธนาคารดวงตา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2. สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัด หรือ สำนักงานกิ่งกาชาดทุกจังหวัด
3. ศูนย์ดวงตา สภากาชาดไทย โดยสามารถแสดงความจำนงผ่านช่องทางออนไลน์ ได้ที่ http://eyebank.redcross.or.th


ขอขอบคุณข้อมูลจาก รศ.พญ.นภาพร ตนานุวัฒน์ อาจารย์ประจำหน่วยกระจกตาและการแก้ไขสายตา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ คณะอนุกรรมการวิชาการ ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย
เรียบเรียง : นางสาวธัญญลักษณ์ สดสวย
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#บริจาคดวงตา
#MedCMU #MedCMUในมือคุณ
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#สื่อสารองค์กรMedCMU

แกลลอรี่