Research VDO Series 55 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มช. : เล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ เมล็ดไม้เพื่ออนาคต

28 กุมภาพันธ์ 2562

คณะวิทยาศาสตร์

ชมคลิป VDO เมล็ดไม้เพื่ออนาคต

ชมคลิป VDO เมล็ดไม้เพื่ออนาคต (Full version)

ในโลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัยก้าวหน้า ทุกคนเห็นความเปลี่ยนแปลงมากมายเกิดขึ้นรอบตัว ทั้งเรื่องของนวัตกรรมที่ก้าวไกล และวัฒนธรรมที่มีการเคลื่อนไหวแลกเปลี่ยนกันอย่างอิสระ และในท่ามกลางความเจริญวัฒนาทั้งหลาย ก็ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และเป็นความเคลื่อนไหวที่ยิ่งใหญ่เหนือกว่าการควบคุมของมนุษย์ นั่นก็คือการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ

ในแต่ละวันเราได้เห็นข่าวภัยพิบัติผ่านสื่อต่างๆ มากมาย ทั้งแผ่นดินไหว ไฟป่า ภูเขาไฟระเบิด สึนามิ ดินโคลนถล่ม ไปจนถึงน้ำแข็งขั้วโลกละลาย และข่าวสารเหล่านี้ก็ฉายวนซ้ำต่อเนื่องมานานหลายปี ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นเด่นชัดว่าธรรมชาติกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทุกนาที บางครั้งเล็กน้อย บางครั้งรุนแรง จนมนุษย์เราไม่อาจคาดเดา หรือวางแผนที่จะรับมือได้

คำถามคือ แล้วเราจะอยู่นิ่งเฉยเพื่อเฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นโดยไม่ทำอะไรเลยหรือ?

โครงการธนาคารเมล็ดพันธุ์ไม้ยืนต้นโลก-ประเทศไทย (Global Tree Seed Bank Project; Thailand-BKF) เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มุ่งมั่นเป็นส่วนหนึ่งในการเก็บรวบรวมและรักษาเมล็ดพันธุ์ไม้ป่า เพื่อเป็นหลักประกันสำหรับอนาคต โดยไม่รอให้ถึงวันที่หายนะทางธรรมชาติมาถึง ผ่านการทำงานของหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า ซึ่งเป็นหน่วยวิจัยที่เกิดจากการรวมกลุ่มของนักนิเวศวิทยาและนักศึกษา ภายใต้คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิจัยเทคนิค วิธีการในการฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศ เพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ที่ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โครงการธนาคารเมล็ดพันธุ์ไม้ยืนต้นโลก-ประเทศไทย (Global Tree Seed Bank Project; Thailand-BKF) เกิดขึ้นได้ด้วยพระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระหว่างเสด็จเข้าร่วมประชุมพรรณพฤกษชาติประเทศไทย ณ สวนพฤกษศาสตร์คิว สหราชอาณาจักร เมื่อปี พ.ศ. 2557 ทั้งนี้ ในประเทศไทยมีการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และสวนพฤกษศาสตร์คิว เพื่อทำงานร่วมกันในการเก็บรวบรวม ศึกษา และอนุรักษ์ส่วนต่างๆ ของพรรณพืช ภายใต้ข้อตกลงและกฎหมายทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

โครงการธนาคารเมล็ดพันธุ์ไม้ยืนต้นโลก-ประเทศไทย (Global Tree Seed Bank Project; Thailand-BKF) ในปัจจุบัน (พ.ศ. 2559-2562) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนการ์เฟลด์เวสตัน โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ งานหลักของนักวิจัยก็คือ การเก็บรวบรวมและส่งเมล็ดไปยังธนาคารเมล็ดพันธุ์ ณ เวคเฮิสตเพลส เมืองซัสเซกส์ สหราชอาณาจักร ซึ่งมีเป้าหมายในการเก็บเมล็ดไม้ยืนต้นจำนวนไม่น้อยกว่า 244 ชนิด

สำหรับขั้นตอนการเก็บเมล็ดนั้นประกอบไปด้วยขั้นตอนย่อยๆ หลายขั้นตอน ดร.เกริก ผักกาด ผู้จัดการโครงการเมล็ดพันธุ์ไม้ยืนต้นโลก-ประเทศไทย ประจำหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า คณะวิทยาศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า การเก็บเมล็ดพันธุ์นั้นต้องใช้เวลาและความละเอียดถี่ถ้วนในการทำงาน เพราะเมล็ดพันธุ์ไม้ไม่ได้มีตลอดทั้งปี ต้นไม้แต่ละชนิดมีช่วงเวลาออกดอกออกผลแตกต่างกันไป อีกทั้งการเก็บเมล็ดพันธุ์แต่ละชนิดต้องเก็บจากบนต้นเท่านั้น ไม่ควรเก็บเมล็ดที่ร่วงหล่นบนพื้นตามธรรมชาติ โดยต้องเก็บชนิดละไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นเมล็ด แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของจำนวนเมล็ดที่มีอยู่ในแต่ละต้น ควรหลีกเลี่ยงการเก็บเมล็ดทั้งหมดบนต้นไม้ต้นเดียว และพยายามเก็บเมล็ดจำนวนน้อยจากทุกต้นในประชากร เพื่อให้ต้นไม้ได้แพร่พันธุ์ตามธรรมชาติ และเพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ โดยหลังจากเก็บเมล็ดมาครบตามจำนวนแล้วยังมีขั้นตอนปลีกย่อยอีกหลายขั้นตอน เช่น การคัดแยกเมล็ดและการทำความสะอาด การตรวจสอบเมล็ดด้วยสายตา การตรวจสอบคุณภาพเมล็ด การแยกเมล็ดออกจากกากและวัสดุอื่น ๆ การทำให้แห้งโดยสารดูดความชื้น รวมไปถึงการทำตัวอย่างพรรณไม้แห้ง เพราะฉะนั้นนักวิจัยต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง และมีความรู้เกี่ยวกับพันธุ์ไม้แต่ละชนิด รวมทั้งกระบวนการคัดแยกและการเก็บรักษาเป็นอย่างดี จึงจะได้เมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์และเหมาะสมที่จะนำไปเก็บรักษาไว้ ณ ธนาคารเมล็ดพันธุ์

ทางด้านอาจารย์ ดร.เดีย พนิตนาถ แชนนอน หัวหน้าศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพเฉลิมพระเกียรติฯ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในคณะทำงาน และผู้สนับสนุนการก่อตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ในประเทศไทย กล่าวถึงความสำคัญของโครงการนี้ว่า เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ไม่รู้ว่าจะมีภัยพิบัติ หรือภัยทางธรรมชาติอะไรเกิดขึ้น หรือพื้นที่ป่าอาจจะถูกเปลี่ยนไปใช้ประโยชน์แบบอื่น ดังนั้น นอกจากการอนุรักษ์พืชพันธุ์ในพื้นที่ธรรมชาติแล้วธนาคารเมล็ดจะเป็นหลักประกันว่าเมล็ดไม้ที่เป็นพืชท้องถิ่นของเราจะไม่สูญพันธุ์ไปไหน เราอาจจะนำเมล็ดไม้เหล่านี้มาใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพื่อปรับปรุงพันธุ์พืช การใช้ประโยชน์ในทางยา หรือแม้กระทั่งการฟื้นฟูระบบนิเวศ และเป็นหลักประกันในเรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศและของโลก

ขณะนี้เรากำลังอยู่กับสถานการณ์จริงที่ว่า มีพืชที่กำลังสูญพันธุ์ไปในทุกๆ วัน เนื่องจากหลายๆ กิจกรรมที่มีผลกระทบต่อพื้นที่ป่าหรือพื้นที่ทางธรรมชาติทั่วไป ดังนั้น การที่เรามีธนาคารเมล็ดพันธุ์ก็จะเป็นหลักประกันที่สำคัญให้กับประเทศไทยและให้กับโลกว่า ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์อะไรขึ้นกับสภาพแวดล้อมหรือระบบนิเวศ เราก็จะยังคงมีทรัพยากรทางธรรมชาติที่สำคัญสำหรับคนรุ่นลูกรุ่นหลาน เพราะในอนาคตเราอาจจะค้นพบว่าพืชบางอย่างสามารถใช้ผลิตเป็นยารักษาโรคที่ไม่สามารถรักษาได้ในปัจจุบัน หรืออาจจะสามารถพัฒนาพืชชนิดนั้นไปเป็นพืชอาหารสำคัญได้ ดังนั้น การที่เราเริ่มต้นตระหนักและศึกษาพืชพันธุ์ที่เรามีอยู่ จะช่วยให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานมีต้นทุนทางธรรมชาติเพื่อดำรงชีวิตต่อไปในอนาคต

ศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพเฉลิมพระเกียรติฯ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะหน่วยงานที่มีเป้าหมายสำคัญในการให้บริการวิชาการแก่ชุมชนด้านธรรมชาติวิทยา การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และการฟื้นฟูระบบนิเวศ จึงมีความมุ่งหวังที่จะเป็นกลไกสำคัญในการรวบรวมเมล็ดพันธุ์ไม้ท้องถิ่น ทั้งเพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ในอนาคต ตลอดจนทำหน้าที่ส่งเสริมความมั่นคงด้านทรัพยากรของประเทศไทยอย่างยั่งยืน

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก
อาจารย์ ดร.เดีย พนิตนาถ แชนนอน
ดร.เกริก ผักกาด

ติดตามชม Research VDO Series 55 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มช. และ vdo clip อื่นๆ ของคณะได้ที่
Youtube : Science CMU Official

2019 #55thAnniversaryScienceCMU
Research@Sci...From Sky To Rock
Studying@Sci E x p a n d i n g Your Mind



แกลลอรี่