รู้ทัน.. ครรภ์เป็นพิษ แม่ท้องต้องระวัง
18 สิงหาคม 2565
คณะแพทยศาสตร์
สำหรับผู้ที่กำลังจะเตรียมตัวเป็นคุณแม่ “การตั้งครรภ์” ล้วนเป็นความใฝ่ฝันที่อยากให้ลูกน้อยในครรภ์ มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และเฝ้าบำรุงลูกน้อยที่อยู่ในครรภ์เป็นอย่างดี เพื่อหวังให้ลูกน้อยคลอดออกมาแล้วมีร่างกายที่สมบูรณ์ครบ 32 ประการ โดยที่ไม่มีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม มีคุณแม่อีกจำนวนไม่น้อย ที่มีความกังวลในขณะตั้งครรภ์ เมื่อเกิดภาวะ “ครรภ์เป็นพิษ” โดยภาวะดังกล่าวนี้หากคุณแม่ไม่สังเกตอาการของตนเอง และไม่เรียนรู้ที่จะป้องกันตนเอง อาจทำให้ถึงขึ้นเสียชีวิตและอาจจะส่งผลประทบร้ายแรงต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้
ครรภ์เป็นพิษคืออะไร
ครรภ์เป็นพิษเป็นภาวะที่เกิดจากความผิดปกติของการฝังตัวของรกบริเวณมดลูกของแม่ที่ผิดปกติ ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น มากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท หากสูงมากกว่า 160/110 มิลลิเมตรปรอท ถือว่ามีความรุนแรงมาก ซึ่งมีโอกาสทำให้เสียชีวิตโดยที่ทำให้เส้นเลือดในสมองแตกได้ ดังนั้นความดันโลหิตเป็นตัวที่แสดงออกให้เห็น
สาเหตุของครรภ์เป็นพิษ
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของภาวะครรภ์เป็นพิษ แต่อาจเกิดได้จากหลายปัจจัยร่วมกัน โดยมีการศึกษาพบว่าอาจเกิดจากการเกาะตัวของรกที่ผิดปกติ ส่งผลให้เส้นเลือดตีบ ทำให้เกิดความดันโลหิตสูงขึ้น ซึ่งในแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน แต่มีโอกาสที่จะเกิดครรภ์เป็นพิษได้
ความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดครรภ์เป็นพิษ
1.เคยตั้งครรภ์ เคยมีภาวะครรภ์เป็นพิษมาก่อน โดยเฉพาะเป็นตั้งแต่อายุครรภ์น้อยๆ น้อยกว่า 34 สัปดาห์ จะเพิ่มโอกาสที่จะครรภ์เป็นพิษในท้องครั้งต่อไปมาก
2.คุณแม่ที่มีปัญหาในเรื่องของเส้นเลือดผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นภาวะความดันโลหิตสูงตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ ต้องทานยาเป็นประจำ
3.เป็นเบาหวาน
4.โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือโรค SLE
5.คุณแม่ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป โอกาสที่จะเกิดครรภ์เป็นพิษสูงขึ้น
ความเสี่ยงที่ทำให้เกิดครรภ์เป็นพิษ
1.ผู้ที่มีกรรมพันธุ์หรือคนในครอบครัวที่มีประวัติครรภ์เป็นพิษมาก่อน
2.ผู้ที่ตั้งครรภ์ที่เป็นโรคไต
3.การตั้งครรภ์ท้องแรก กับท้องที่ 2 ห่างกันมากกว่า 10 ปี
4.ผู้ที่ตั้งครรภ์แฝด
5.BMI มากกว่า 35
6.ผู้ที่ตั้งครรภ์ครั้งแรก
การคัดกรองภาวะครรภ์เป็นพิษ การประเมินครรภ์เป็นพิษให้กับผู้ตั้งครรภ์ ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลในแต่ละพื้นที่ว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ เพราะต้องเป็นโรงพยาบาลที่มีแพทย์เฉพาะทาง ที่ดูแลผู้ตั้งครรภ์ได้ในระดับหนึ่ง
อาการหลักของภาวะครรภ์เป็นพิษ ได้แก่
1.เส้นเลือดในสมองแตก ภาวะความดันโลหิตสูงมากเกินไป หมดสติ ชัก
มีความดันโลหิตสูงหรือจุกแน่นลิ้นปี่อยู่ตลอดเวลา
2.ปวดศีรษะ
3.ตามัว
สัญญาณเตือนครรภ์เป็นพิษ
ภาวะครรภ์เป็นพิษมักจะเกิดในอายุครรภ์ที่มากกว่า 34 สัปดาห์ขึ้นไป ในช่วง ไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ โดยมีลักษณะ บวมน้ำ ขาบวม น้ำหนักเพิ่มเร็วขึ้นผิดปกติ บางราย 1 สัปดาห์ น้ำหนักขึ้น 4 กิโลกรัม หรือมีอาการผิดปกติเล็กน้อยโดยพบอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจะสังเกตว่าระยะหลังของการตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 3 แพทย์จะนัดทุก 1 สัปดาห์ เพราะมีโอกาสที่จะพบปัญหาครรภ์เป็นพิษได้
การวินิจฉัย
1.เมื่อมาฝากครรภ์ครั้งแรก แพทย์จะตรวจเช็คร่างกาย ถึงความเสี่ยงของการเกิดโรค
2.เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 12-14 สัปดาห์เป็นต้นไป จะเริ่มมีการคัดกรอง โดยการอัลตร้าซาวด์เส้นเลือดของมดลูก เพื่อประเมินความเสี่ยงภาวะครรภ์เป็นพิษ
การรักษาภาวะครรภ์เป็นพิษ
-เมื่อตรวจพบว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษ แพทย์จะให้รับประทานยาทุกวันจนกระทั่งอายุครรภ์ 36 สัปดาห์ เพื่อทำการป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษ
-หากผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่ำ แพทย์จะให้ฝากครรภ์ตามปกติ แต่ในระหว่างนั้นแพทย์จะให้ทำการวัดความดัน และมีการตรวจปัสสาวะทุกครั้ง เพื่อเช็คว่ามีโปรตีนรั่วออกมาหรือไม่ พร้อมสอบถามอาการว่ามีอาการปวดศีรษะ จุกแน่นลิ้นปี่ ตาพร่ามัวหรือไม่ หากไม่มีอาการ แพทย์จะให้คลอดตามปกติ แต่ถ้ามีอาการ แพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล เพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
-ผู้ป่วยมีภาวะอายุครรภ์น้อยกว่า 20 สัปดาห์ แพทย์จะให้ยุติการตั้งครรภ์ เพราะจะต้องใช้เวลานาน กว่าเด็กจะมีชีวิตรอด และความเสี่ยงของแม่จะสูง ทั้งนี้แล้วแต่กรณีของผู้ป่วยในแต่ละราย
-อายุครรภ์ตั้งแต่ 24 สัปดาห์ขึ้นไป แพทย์จะดูแลเด็กในท้อง ยืดอายุครรภ์ให้ได้นานที่สุด โดยที่ไม่เป็นอันตรายต่อแม่และลูก แต่ถ้าอายุครรภ์เกิน 34 สัปดาห์ขึ้นไป ความดันโลหิตไม่ลง อาการแย่ลง เกล็ดเลือดต่ำ ความเสี่ยงต่อเลือดออกไม่หยุด แพทย์จะยุติการตั้งครรภ์ ทั้งนี้แล้วแต่กรณีของผู้ป่วยในแต่ละราย
อย่างไรก็ตามความชุกของครรภ์เป็นพิษอยู่ที่ประมาณ 2-8 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของประเทศนั้นๆ รวมถึงพันธุกรรมหลายอย่างซึ่งทำให้เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ และทั่วโลกได้มีการสำรวจข้อมูลว่าครรภ์เป็นพิษเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต เป็นอันดับที่ 2 รองจากภาวะการตกเลือดหลังคลอด นับว่าเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก ดังนั้นหากคุณแม่ตั้งครรภ์มีความเสี่ยงที่เข้าข่ายจะเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ ควรรีบปรึกษาแพทย์แต่เนิ่นๆ เพื่อแพทย์จะได้ดูแลและติดตามอาการได้อย่างใกล้ชิด
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: ผศ.ดร.นพ.ภูดิศ เจต๊ะวรรณ อาจารย์ประจำหน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารก ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช.
เรียบเรียง:นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#ครรภ์เป็นพิษ
#MedCMU #MedCMUในมือคุณ
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#สื่อสารองค์กรMedCMU