DUSTBOY นวัตกรรมสู้ฝุ่น PM2.5 จาก มช. ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ในนวัตกรรมของประเทศ ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบ Final รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ 2567

19 สิงหาคม 2567

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

DUSTBOY นวัตกรรมสู้ฝุ่น PM2.5 จาก มช. ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ในนวัตกรรมของประเทศ ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบ Final รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ 2567 ในวันที่ 28 ส.ค. นี้

DUSTBOY นวัตกรรมสู้ฝุ่น PM2.5 จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เครื่องวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศด้วยระบบเซนเซอร์ที่ตรวจวัดคุณภาพอากาศและการเตือนภัยมลพิษทางอากาศ รายงานสถานการณ์ฝุ่นแบบ Real Time ที่ติดตั้งทั่วประเทศแล้วกว่า 700 จุด ตั้งเป้าขยายเป็น 2000-3000 จุด ทั่วไทยในทุกตำบล และเข้าถึงข้อมูลอย่างรวดเร็ว ผ่านทางแอปพลิเคชัน “CMU Mobile” Application สำหรับภายใน มช. เพื่อเป็นสื่อกลางให้บริการข้อมูลให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เฝ้าระวังและวางแผนจัดการปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่ พร้อมทั้งได้เข้าถึงผลงานวิจัยและนวัตกรรม อันจะนำไปสู่ป้องกัน และรับมือด้านสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 ด้วยวิจัยและนวัตกรรม สู่การแก้ไขปัญหานี้อย่างทันท่วงที
.
โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล หน่วยวิจัยเพื่อการจัดการพลังงานและเศรษฐนิเวศ สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าทีมวิจัย ทั้งนี้ โครงการวิจัยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
.
ในปีนี้ DustBoy ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในงานนวัตกรรมที่ผ่านการคัดเลือกไปสู่รอบนำเสนอ Final รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2567 ซึ่งการนำเสนอรอบตัดสินจะจัดขึ้นในวันที่ 28 สิงหาคม 2567 จัดโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
.
เครื่อง DustBoy มีขนาดเล็กกะทัดรัด ติดตั้งง่าย ราคาประหยัด แสดงข้อมูลแบบเรียลไทม์ผ่านหน้าจอ ใช้งานสะดวก ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องตรวจวัดตามระเบียบวิธีสากล ที่กำหนดโดยองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมอเมริกา (US-EPA) โดยมีการเทียบวัดกับเครื่องตรวจวัดมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษและผ่านการทดสอบในห้องปฏิบัติการของสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ระบบฐานข้อมูลของ DustBoy ให้บริการเก็บข้อมูลแบบต่อเนื่องจากเครื่องตรวจวัดและแปลผลข้อมูลเผยแพร่เป็นข้อมูลแบบเปิด (Open Data)
.
นวัตกรรมสู้ฝุ่นนี้ มีการคิดค้นและพัฒนาสถาปัตยกรรมระบบแบบครบวงจรโดยทีมนักวิจัยคนไทยจากหน่วยวิจัยเพื่อการจัดการพลังงานและเศรษฐนิเวศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งการผลิตเครื่อง การพัฒนาซอฟท์แวร์ การดูแลระบบฐานข้อมูล/server การพัฒนาแพลตฟอร์ม การซ่อมบำรุง/ดูแลหลังการติดตั้ง และการให้ข้อมูล จึงทำให้สามารถพัฒนาเครื่องได้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน/ความเหมาะสมของการนำไปใช้ ระบบตรวจสอบการทำงานของเครื่องที่ DustBoy มีและการดูแลหลังการขายร่วมกับผู้รับผิดชอบประจำจุดติดตั้งที่เรียกว่า อาสาDustBoy เป็นส่วนสำคัญในการช่วยรักษาเครือข่ายเครื่องตรวจวัดยังคงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีอายุยืนยาว ส่งผลถึงความยั่งยืนของระบบเฝ้าระวังฝุ่นควัน
.
ระบบเฝ้าระวังของ DustBoy พัฒนาขึ้นเพื่อเสริมการทำงานของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ ให้มีการกระจายจุดตรวจวัดเข้าถึงพื้นที่ชุมชนที่ห่างไกลจากสถานี เพื่อให้ชุมชนมีข้อมูลสำหรับการเฝ้าระวังสุขภาพตนเองจากวิกฤติหมอกควันได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ก่อให้เกิดสังคมตระหนักรู้ถึงความสำคัญของผลกระทบจากมลพิษอากาศ เพื่อเป้าหมายในการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนและความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองอย่างเป็นรูปธรรม

แกลลอรี่