รู้เท่าทัน เฝ้าระวังโรคหืด

13 มิถุนายน 2567

คณะแพทยศาสตร์


ความชุกของโรคหืดในผู้ใหญ่พบได้ประมาณร้อยละ 5 ส่วนใหญ่จะมีอาการไม่ค่อยรุนแรง ผู้ที่มีอาการรุนแรงมากพบได้ไม่ถึงร้อยละ 10 ของผู้ป่วยที่เป็นโรคหืด แต่โรคนี้มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และการใช้ชีวิตประจำวัน รวมทั้งมีโอกาสเกิดการกำเริบต้องมารับการรักษาในโรงพยาบาล ในเด็กพบมีความชุกของโรคหืดมากกว่าผู้ใหญ่คือพบได้ประมาณร้อยละ 10 โรคนี้เกิดจากการอักเสบของหลอดลม โดยมีปัจจัยที่ทำให้เกิดการอักเสบ เช่น สารก่อภูมิแพ้ต่างๆ เมื่อได้รับสารก่อภูมิแพ้จะทำให้หลอดลมมีการอักเสบและหลอดลมมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นต่างๆ ทำให้เกิดหลอดลมตีบ มีอาการหายใจเหนื่อย หายใจมีเสียงดัง ไอ และแน่นอกได้ ในบางรายจะมีอาการทางจมูก เช่นมีน้ำมูกไหล คัดจมูก จาม คันรอบตา หรือมีผื่นคันร่วม


อาการบ่งชี้
ไอแห้ง หายใจไม่ทัน หายใจเหนื่อย หายใจมีเสียงวี๊ด แน่นหน้าอก โดยอาการจะสัมพันธ์กับสารกระตุ้น เช่น สารก่อภูมิแพ้ การติดเชื้อทางเดินหายใจ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หรือหลังการออกกำลังกาย
เมื่อมีอาการน่าสงสัย ผู้ป่วยควรพบแพทย์ เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง หากวินิจฉัยโรคได้เร็วก็จะได้รับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม ทำให้อาการเหนื่อยดีขึ้น และสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติที่ไม่เป็นโรคหืด


สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหืด
1. เกิดจากพันธุกรรม พ่อแม่ที่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้หรือหอบหืดก็จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นหอบหืดได้
2. ปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคหอบหืด เช่น สารก่อภูมิแพ้ ได้แก่ ไรฝุ่น ขนสุนัข ขนแมว แมลงสาบ ดอกหญ้า เกสรดอกไม้ สารเคมีบางอย่าง การติดเชื้อทางเดินหายใจ การเปลี่ยนสภาพอากาศหรือหลังการออกกำลังกาย


การตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคภูมิแพ้หรือไม่
1. จากประวัติ ว่าอาการมีความสัมพันธ์กับสิ่งกระตุ้น
2. การทดสอบทางผิวหนัง โดยนำสารกระตุ้นต่างๆ มาสะกิดที่ผิวหนังว่ามีการแพ้ตัวไหน
3. การตรวจเลือดเพื่อตรวจหาว่าแพ้ตัวไหนบ้าง เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ ขนสัตว์ ขนแมว หญ้า


การตรวจวินิจฉัยโรคหืดในทางการแพทย์
1. ซักประวัติ อาการ ปัจจัยกระตุ้น
2. ตรวจร่างกาย อาจฟังเสียงหายใจได้เสียงวี้ด
3. ตรวจยืนยันว่าเป็นโรคหืด โดยการตรวจสมรรถภาพปอด
ยารักษาผู้ป่วยหอบหืด ได้แก่
1. ยาควบคุมอาการ ได้แก่ ยาสูดต้านการอักเสบสเตียรอยด์ และยาขยายหลอดลมที่ออกฤทธิ์ยาว
2. ยาบรรเทาอาการ ได้แก่ ยาสูดขยายหลอดลมที่ออกฤทธิ์เร็ว


การรักษาอื่นๆ เช่น
1. หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น สารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่น ไรฝุ่นในที่นอน ขนสัตว์ เกสรดอกไม้ สารเคมี อากาศเปลี่ยน ความชื้น ความเย็น รวมทั้งหยุดสูบบุหรี่
2. ควรลดน้ำหนัก ในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน
3. การออกกำลังกายที่เหมาะสม
4. รักษาโรคร่วม เช่น เยื่อบุจมูกอักเสบ กรดไหลย้อน
5. แนะนำให้ได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โควิด-19 และปอดอักเสบชนิดนิวโมคอคคัส


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : รศ.นพ.อรรถวุฒิ ดีสมโชค หัวหน้าหน่วยวิชาโรคระบบการหายใจ เวชบำบัดวิกฤต และภูมิแพ้ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.
เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แกลลอรี่