นักชีววิทยา คณะวิทย์ ม.เชียงใหม่ พัฒนาสูตรอาหารเสริม L-tyrosine ต้นทุนต่ำ จากกากสาหร่ายสไปรูลินา

11 มีนาคม 2567

คณะวิทยาศาสตร์

        นักชีววิทยา คณะวิทย์ ม.เชียงใหม่ พัฒนาสูตรอาหารเสริม L-tyrosine ต้นทุนต่ำ จากกากสาหร่ายสไปรูลินา เพิ่มผลผลิตเมลานินได้มากถึง 4 เท่า พร้อมต่อยอดสู่การประยุกต์ใช้ในอาหาร ยา และเครื่องสำอาง ภายใต้งานวิจัย หัวข้อ "Optimization of Melanin Production by Streptomyces antibioticus NRRL B-1701 Using Arthrospira (Spirulina) platensis Residues Hydrolysates as Low-Cost L-tyrosine Supplement" 

งานวิจัยนี้มีเป้าหมายในการพัฒนาสูตรอาหาร เพื่อลดต้นทุนแหล่งกรดอะมิโนแอล-ไทโรซีน (L-tyrosine) ในการผลิตเมลานิน จากแอคติโนมัยซีท Streptomyces antibioticus NRRL B-1701 โดยใช้ไฮโดรไลเสต (hydrolysate) ที่ได้จากการย่อยกากชีวมวลของสาหร่ายสไปรูลินา (Arthrospira platensis) ซึ่งเป็นของเหลือจากการสกัดไฟโคไซยานิน (phycocyanin) ผ่านการออกแบบการทดลองทางสถิติโดยการใช้วิธีพื้นที่ผิวการตอบสนอง (Response surface methodology; RSM)


ผลการศึกษาพบว่า ไฮโดรไลเสตจากกากสาหร่าย A. platensis ที่ทำแห้งด้วยการใช้เครื่องอบลมร้อน (Hot air oven) มีความเข้มข้นของ แอล-ไทโรซีน สูงถึง 0.268 g tyrosine/ 100 g dried biomass และจากการศึกษาพัฒนาสูตรอาหารสำหรับเพาะเลี้ยงแอคติโนมัยซีท โดยใช้ไฮโดรไลเสตจากสาหร่ายดังกล่าวด้วยวิธีพื้นที่ผิวการตอบสนอง (RSM) พบว่าสูตรอาหารใหม่ที่ได้จากการศึกษา สามารถเพิ่มผลผลิตเมลานินได้มากถึง 4 เท่าเมื่อเทียบกับสูตรอาหารเดิม โดยผลิตได้สูงถึง 0.24 g/L ภายในเวลา 36 ชั่วโมง

ผลการศึกษานี้พิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพของไฮโดรไลเสตจากกากสาหร่ายในการเป็นแหล่ง แอล-ไทโรซีน ที่มีต้นทุนต่ำสำหรับการผลิตเมลานินจากแอคติโนมัยซีท S. antibioticus NRRL B-107

เมลานินจากแอคติโนแบคทีเรีย เป็นสารชีวโมเลกุลที่มีประโยชน์หลายด้าน ทั้งการประยุกต์ใน อาหาร ยา และเครื่องสำอาง แต่ยังมีข้อจำกัดในด้านปริมาณ และต้นทุนการผลิต แต่จากงานวิจัยชิ้นนี้ที่สามารถลดต้นทุนการผลิตสารดังกล่าว ความก้าวหน้านี้ทำให้เกิดแนวโน้มการใช้งานเมลานินจากแอคติโนแบคทีเรียในอุตสาหกรรมที่มากขึ้นในอนาคต

องค์ความรู้ที่ได้ยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะนอกจากจะสามารถลดต้นทุนการผลิตแล้ว ยังเป็นการนำกากชีวมวลที่โดยปกติจะถูกจำกัดทิ้ง วนกลับมาใช้ใหม่เพื่อเป็นแหล่งกรดอะมิโนที่มีราคาสูง ทั้งนี้ ยังเป็นจุดเริ่มต้นการศึกษาที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาเพื่อลดต้นทุนการผลิตสารที่มีมูลค่าสูง หรือใช้ทดแทนสารอื่นอีกด้วย

นักวิจัย
ทีมนักวิจัยจากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย รศ. ดร. ชยากร ภูมาศ, ดร. อรณิช กระแสสินทร์ ร่วมกับคณะนักวิจัย ได้แก่ นางสาวศรีทิพย์ เสนสุภา, ดร. กาญจนา มหานิล, ดร. สฎา อยู่สถาพร ผศ. ดร. จีรพร เพกเกาะ, รศ. ดร. วสุ ปฐมอารีย์ และ ดร. ศิรสิทธิ์ ศรีนวลปาน จากศูนย์วิจัยด้านความหลากหลายของจุลินทรีย์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

ผู้ที่สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่: https://www.mdpi.com/2673-6284/12/1/24


แกลลอรี่