เปิดทำเนียบ อาจารย์ EDU : รองศาสตราจารย์ ดร.เพ็ชรี รูปะวิเชตร์ กลยุทธ์ในการจัดการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อพัฒนาภาวะพฤฒิพลังในผู้สูงอายุ

8 ตุลาคม 2563

คณะศึกษาศาสตร์

เปิดทำเนียบ อาจารย์ EDU ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ.2563 พบกับผลงานของ รองศาสตราจารย์ ดร.เพ็ชรี รูปะวิเชตร์

ประวัติการศึกษา รองศาสตราจารย์ ดร.เพ็ชรี รูปะวิเชตร์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี 2 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาการสอนภาษาอังกฤษ วิชาโทบริหารธุรกิจ เกียรตินิยม อันดับที่ 1 เหรียญเงิน จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี 2528 และสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในปี 2557

ปริญญาโท สาขาการศึกษานอกระบบ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปริญญาเอก สาขา Business Education จาก School of Cultural Diversity มหาวิทยาลัย Queensland University of Technology เมือง บริสเบน ประเทศออสเตรเลีย

ประกาศนียบัตรการอบรม หัวข้อ เทคนิค การอาชีวศึกษาแบบทวิภาคีและการฝึกอบรม จากสถาบัน InWent ประเทศเยอรมัน 2547

ปัจจุบันนี้ ท่านทำงานด้านการสอนที่สาขาวิชาบริหารธุรกิจ ภาควิชาอาชีวศึกษาและการส่งเสริมสุขภาวะคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาเป็นเวลา 18 ปี 6 เดือน โดยสอนหมวดวิชาเอกด้านการจัดการของสาขา คือ 1.วิชาการจัดโครงการอาชีพอิสระ 2.วิชาการเรียนรู้ลักษณะการจัดการ: การจัดการข้ามวัฒนธรรม 3.วิชาเทคนิคการฝึกอบรมและการประชุม 4.วิชาการเรียนรู้และการจัดการอาชีพทางธุรกิจ 5.วิชาการเรียนรู้ด้านการจัดการธุรกิจเพื่อความร่วมมือในระดับภูมิภาคอาเซียน และ 6.วิชาการบรรยายพิเศษทางธุรกิจศึกษา

การสอนระดับบัณฑิตศึกษา ปริญญาโทและเอก อาจารย์เพ็ชรี ได้หยุดสอนตั้งแต่ปี 2560 เนื่องจากปิดหลักสูตร แต่ยังคงช่วยเป็นทีมอาจารย์ที่ปรึกษาและกรรมการสอบให้กับสาขาบริหารการศึกษาและอื่น ๆ ตามความเหมาะสมเป็นประจำ

ทางด้านผลงานวิจัยที่ผ่านมาอาจารย์เพ็ชรีมีความชื่นชอบและประทับใจมากที่สุด คือ เรื่องการสร้างตลาดชุมชนเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อดำเนินรอยตามทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ช่วงปี 2546-2547 ทั้งนี้เกิดจากที่อาจารย์ได้อาสาเป็นผู้เขียนโครงการและทำกระบวนการในพื้นที่ ร่วมกับผู้บังคับการทหารสังกัดหน่วย นปค.32 และผู้นำท้องถิ่น จนได้รับงบประมาณมาเพื่อจัดสร้างอาคารที่ทำการตลาด การทำงานวิจัยครั้งนี้ของท่านได้นำเอาคำกล่าวของ นพ.ประเวศ วะสี ที่กล่าวว่า “การทำวิจัย นักวิชาการต้องเอาชุมชนเป็นหลัก…” นับว่าเป็นอาจารย์รุ่นแรก ๆ ที่ลงศึกษาชุมชน แต่เป็นที่เสียดายเพราะหลังจากนั้นโครงการไม่มีความยั่งยืน ไม่มีการดำเนินการต่อใด ๆ อาคารถูกทิ้งร้าง สิ่งที่ได้เรียนรู้คือการทำงานในท้องถิ่นมีความซับซ้อนและละเอียดอ่อน อย่างไรก็ตาม อาจารย์เพ็ชรีได้ไปนำเสนองานวิจัยของการศึกษาแห่งชาติ ที่กรุงเทพ และงานวิถีวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2549 มีผู้ฟังให้ความสนใจและให้กำลังใจและหลังจากนั้นจนปัจจุบันอาจารย์เพ็ชรียังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับอดีตคณะทำงานในพื้นที่

แต่เรื่องที่ได้รับตำแหน่งวิชาการ รองศาสตราจารย์ ปี 2554 คือ เรื่อง "ความร่วมมือของสถานประกอบการกับสถาบันอุดมศึกษากับการพัฒนาทักษะหัวหน้างานในองค์กรธุรกิจแบบระบบอุตสาหกรรม" หลังจากส่งรอบแรกปี 2551 ไม่ผ่านงานวิจัยอย่างเดียว

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ ท่านได้ทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับชุมชนและผู้สูงอายุทั้งในประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย เช่น เรื่อง Management of ageing society in Kobe, Japan (การจัดการสังคมผู้สูงอายุของเมืองโกเบประเทศญี่ปุ่น) การจัดการสังคมผู้สูงอายุของพื้นที่หุบเขาเมืองชิมานโตะ จังหวัดโคชิ ประเทศญี่ปุ่น กลยุทธ์การจัดการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุเพื่อพัฒนาภาวะพฤฒิพลังในผู้สูงอายุ จังหวัดเชียงใหม่

ปัจจุบันปี 2563 ทำวิจัยเรื่องการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมระหว่างคนไทยและคนญี่ปุ่น การวิเคราะห์การจัดการศึกษาสำหรับบุตร ร่วมกับ Prof.Dr.Yuikiro Watanabe มหาวิทยาลัย Sega Women’s university ที่มีการเปรียบเทียบ 5 ประเทศ

ทั้งนี้ รูปแบบการวิจัยที่อาจารย์เพ็ชรีทำนั้นจะมี 4 ลักษณะคือ
  1. งานวิจัยที่ตนเองสนใจ หรืออยู่ในเหตุการณ์นั้น เช่น เรื่อง การจัดการโรงแรมขนาดเล็ก ประเทศฝรั่งเศส การศึกษาวัฒนธรรมการจัดการของบริษัทญี่ปุ่นและบริษัทสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
  2. งานวิจัยตามภารกิจหน้าที่รับผิดชอบที่ได้ทำงานกับศูนย์วิจัยเพื่อการศึกษาและแรงงาน (CELS Center of Education and Labor Studies) ช่วงปี 2547-2549 ศูนย์ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ Thai Fran go Program เป็นเวลา 3 ปี ประเด็นแรงงาน ทักษะ การจ้างงาน โดยมีทีมคณาจารย์อาวุโสไทย คือ รศ.ดร.อรรณพ พงษ์วาท ศ.ดร.พศิน แตงจวง และ Dr. Alain Mounier, Dr. Xavier Oudin ชาวฝรั่งเศส และอาจารย์เพ็ชรี ยังมีความโชคดีเพราะได้ร่วมเป็นทีมในโครงการวิจัยระดับนานาชาติที่ชื่อ “ Africa Asia University dialogue Network” ที่มีมหาวิทยาลัย Hiroshima เป็นเจ้าภาพ ร่วมกับ รศ.ดร.อรรณพ พงษ์วาท ช่วงปี 2549-2560 เป็นเวลา 12 ปี ต้องเดินทางไปประชุมนำเสนองานวิจัยยังประเทศในทวีปอาฟริกา เช่น มาลาวี กาน่า เคนย่า และประเทศญีปุ่นทุกปี รวมทั้งได้ไปเป็น Visiting Professor ที่ศูนย์วิจัย CICE มหาวิทยาลัย Hiroshima เป็นเวลา 4 เดือน ในปี 2552 ปัจจุบันโครงการนี้ มี ผศ.ดร.เชษฐภูมิ วรรณไพศาล ได้มารับผิดขอบต่อ
  3. านวิจัยตามความถนัด ประสบการณ์และงานในหน้าที่ และงานที่มีความทันสมัยกับยุคปัจจุบัน คือ ด้านผู้สูงอายุ เรื่องการศึกษาของผู้สูงอายุ อาทิ เรื่อง Management of ageing society in Kobe, Japan, การจัดการสังคมผู้สูงอายุของพื้นที่หุบเขาเมืองชิมานโตะ จังหวัดโคชิ ประเทศญี่ปุ่น ที่ได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณของประเทศญี่ปุ่น ส่วนงานวิจัยในประเทศไทย เช่น เรื่อง กลยุทธ์การจัดการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุเพื่อพัฒนาภาวะพฤฒิพลังในผู้สูงอายุ ปัจจัยแห่งความสำเร็จของโรงเรียนผู้สูงอายุ การจัดการศึกษาโรงเรียนผู้สูงอายุเพื่อส่งเสริมสุขภาพและการเรียนรู้ตลอดชีวิต กรณีศึกษาโรงเรียนผู้สูงอายุชราบาลวุฒิวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ การศึกษาการจัดการพฤติกรรมสุขภาพของผู้สูงอายุ โรงเรียนชราบาลวุฒิวิทยาลัย เชียงใหม่
  4. การทำวิจัยร่วมกับเครือข่ายใน/ต่างประเทศ เช่น เรื่อง การศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างเตาเผาขยะในจังหวัดเชียงใหม่ 2552 การศึกษาการจัดการขยะข้ามถิ่น 2553 การศึกษาการจัดการระบบบริหารจัดการน้ำ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำของประเทศไทย 2554 การประเมินวิทยาลัยครูของประเทศเมียนมาโดยทุนวิจัยจาก UNICEF ร่วมกับมหาวิทยาลัย Kobe 2556 Internationalization of Higher Education Institutions of Five countries in ASEAN ร่วมกับมหาวิทยาลัย USM ประเทศมาเลเซีย ทุนจาก Head Foundation สิงคโปร์ การจัดทำแผนและผังแม่บทเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าเชียงใหม่ 2562

นอกจากงานวิจัยของอาจารย์เพ็ชรีแล้ว อาจารย์ยังมีงานอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการสอน และการวิจัย โดยได้ทำครบทุกด้านควบคู่กันไป ทั้งการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ การพัฒนานักศึกษา และการต่างประเทศ ด้วยฐานการเป็นนักพูด/นักฝึกอบรมก่อนมาทำงานเป็นอาจารย์ จึงได้รับเชิญให้ไปบรรยาย จัดทำการอบรมให้ทุกเดือน ๆ ละ 4-5 งานทั้งในเวลาและวันหยุด อีกทั้งยังมีงานด้านการบริหาร ได้แก่ ตำแหน่งผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบัณฑิตศึกษา สมัยคณบดี รศ.ดร.อรรณพ พงษ์วาท ช่วงที่สอง ดำรองตำแหน่งรองคณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ครบวาระสมัยคณบดี รศ.ดร.อรรณพ พงษ์วาท มีการพัฒนานักศึกษาจนสามารถทำให้นักศึกษาได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงการต่างประเทศเป็นตัวแทนประเทศไทยไปร่วมการประชุมที่องค์การสหประชาชาติ UN 65 และการประกวดวิชาการด้านทักษะภาษาอังกฤษ พานักศึกษาไปเรียนรู้ประเทศในอาเซียน

ตำแหน่งบริหารที่ทำล่าสุดที่หมดวาระลง คือ เป็นคณะกรรมการสภาพนักงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สองสมัย 6 ปี 2559-2563 และตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาอาชีวศึกษาและการส่งเสริมสุขภาวะคนที่ 2 โดยดำรงตำแหน่งครบวาระ ช่วงธันวาคม 2559-2562 นับเป็นงานบริหารที่ภูมิใจเพราะมีกิจกรรมสำคัญ ๆ เช่น การจัดสัมมนาระดับนานาชาติ หลายครั้ง การแลกเปลี่ยนอาจารย์/ นักศึกษากับมหาวิทยาลัย Chiba, Kobe, Hiroshima, Tokei ในประเทศญี่ปุ่น การจัดกิจกรรม International student forum การบริการวิชาการให้กับโรงเรียนผู้สูงอายุชราบาลวุฒิวิทยาลัย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ บ้านธรรมปกรณ์ เชียงใหม่ และเทศบาลตำบลสารภี สันทรายเป็นต้น

ปัจจุบันเป็นประธานสาขาวิชาธุรกิจศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ (2560-ปัจจุบัน) และผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช (วาระ 2563-2566)

จากประเด็นต่างๆของอาจารย์ ที่ทำให้เราได้ทราบถึงประวัติและผลงานต่างๆ ที่น่าสนใจแล้ว สุดท้ายนี้สิ่งที่อาจารย์คิดว่าคุณลักษณะในตนเองที่มี คือ ด้านทักษะด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษแบบนักการทูตที่เรียนรู้จากท่านอาจารย์อาวุโส เช่น รศ.ดร.อรรณพ พงษ์วาท และ ศ.ดร.อนุรักษ์ ปัญญานุวัฒน์ รู้หลักมารยาทการสื่อสารและการทำงานข้ามวัฒนธรรม จาก Prof.Dr.Erica McWillam อาจารย์ที่ปรึกษาสมัยเรียนระดับปริญญาเอก การมีบุคลิกภาพภายนอกและภายในที่ดีเพราะเป็นวิทยากรเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2532 มีประสบการณ์การเป็นผู้ประกอบการอาชีพอิสระ มีความเป็นมิตรกับทุกคน และที่สำคัญคือ มีความมุ่งมั่น มีเป้าหมาย มีแผนการดำรงชีวิต การจัดการเรื่องเวลา มีหลักการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ และติดตามสถานการณ์เป็นปัจจุบันเสมอ เช่น เรื่องการอบรม/การศึกษาสำหรับผู้สูงอายุที่ทำวิจัยและบริการวิชาการด้านนี้มากว่า 10 ปี นับว่าได้ตอบสนองแผนของชาติและแผนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นคุณลักษณ์ที่สำคัญในการหนุนเสริมให้อาจารย์ประสบความสำเร็จในการทำงานได้ในระดับหนึ่งจนถึงทุกวันนี้ โดยอาจารย์เพ็ชรี จะเกษียณอายุการทำงานในเดือนกันยายนปี 2566

จะเห็นได้เลยนะคะว่าคุณลักษณะทุกข้อที่อาจารย์มีนั้นผ่านการศึกษา การเรียนรู้จากคณาจารย์อาวุโสและการทำงานร่วมกับนานาชาติ และท้องถิ่น นับเป็นสิ่งที่สำคัญต่อชีวิตทั้งด้านการงานและด้านชีวิตส่วนตัวอย่างมากเลยค่ะ...

เป็นอย่างไรกันบ้างคะสำหรับผลงานและความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่มีมากมายของ รองศาสตราจารย์ ดร.เพ็ชรี รูปะวิเชตร์ บอกได้เลยว่าบุคลากรของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีจุดเด่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตน ไม่ใช่เพียงท่านนี้ท่านเดียวแน่นอน สามารถติดตามผลงานของอาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ท่านถัดไปได้ในสกู๊ป "เปิดทำเนียบ อาจารย์ EDU" 
แกลลอรี่