มช. รับทุนวิจัย EU เป็นสถาบันการศึกษาตัวแทนประเทศไทย จับมือ 15 สถาบันทั่วโลก สร้างเครือข่ายวิจัยร่วม สู่การพัฒนาธุรกิจภายใต้ทุน SME 5.0

15 กุมภาพันธ์ 2566

คณะบริหารธุรกิจ

          ผศ.ดร.กรกฎ ใยบัวเทศ ทิพยาวงศ์ ผู้ช่วยคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมด้วย ผศ.ดร.วรัทยา แจ้งกระจ่าง ผู้ช่วยคณบดี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2 หัวเรือใหญ่จากคณะบริหารธุรกิจและวิศวกรรมศาสตร์ มช. นำคณะนักวิจัยทุน SME 5.0 A strategic Roadmap Towards the Next Level of Intelligent, Sustainable and Human-Centered SMEs ภายใต้ทุน The European Union’s Horizon 2021 Research and Innovation Program under the Marie Sk?odowska-Curie Grant agreement No. 101086487 เดินหน้าร่วมการประชุม Kick off กิจกรรมแรกของโครงการ โดยเดินทางเยือนสถาบันเทคโนโลยี KTH Royal ณ เมืองสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา (วันที่ 23-24 มกราคม 2566) เพื่อหารือแนวทางการแลกเปลี่ยนนักวิจัยระหว่าง 15 สถาบันเครือข่ายภายใต้ทุนดังกล่าวจากทั่วโลก พร้อมร่วมหาแนวทางในการพัฒนา SME ที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ 5.0 ภายใต้กรอบด้าน Intelligent SME, Sustainable SME และ Human – Centred SME

         ผศ.ดร.กรกฎ ใยบัวเทศ ทิพยาวงศ์ กล่าวว่า นับเป็นโอกาสดีที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้รับทุน The European Union’s Horizon 2021 ต่อเนื่องจากทุน SME 4.0 ครั้งก่อน โดยครั้งนี้ ได้รับคัดเลือกร่วมกับคณะบริหารธุรกิจในการรวมพลังแสดงศักยภาพด้านงานวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อร่วมกับนานาประเทศในการสร้างองค์ความรู้ วิทยาการใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ด้านความเจริญก้าวหน้า พร้อมเกิดแนวทางการจัดการธุรกิจภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นของกลุ่มธุรกิจ SME ทั่วโลก โดยมีกำหนดระยะเวลาดำเนินงานเป็นเวลา 4 ปี

          ด้าน ผศ.ดร.วรัทยา แจ้งกระจ่าง กล่าวเพิ่มเติมว่า การร่วมวิจัยครั้งนี้ เป็นความภูมิใจของคณะบริหารธุรกิจ (CMUBS) ที่ได้รับทุน SME 5.0 ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพราะเป็นเพียง 2 คณะที่เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และประเทศไทย ที่ได้ร่วมแสดงศักยภาพด้านงานวิจัย พร้อมแสดงความมั่นใจทิ้งท้ายว่า คณะนักวิจัยจะร่วมดำเนินกิจกรรมโครงการและงานวิจัยอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างผลงานอันเป็นประโยชน์และเป็นที่ประจักษ์ต่อประชาคมโลก

          สำหรับทุน SME 5.0 ประกอบด้วยเครือข่ายวิจัยจาก 15 สถาบันทั่วโลก ประกอบด้วย KTH Royal Institute of Technology จากประเทศสวีเดน, Technical University Munich จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี, Free University of Bolzano และ Endian จากประเทศอิตาลี, Purdue University Fort Wayne และ Worcester Polytechnic Institute จากสหรัฐอเมริกา, Universidad del Salvador จากสาธารณรัฐอาร์เจนตินา, University of Stellenbosch จากสาธารณรัฐแอฟริกาใต้, Montanuniversit?t Leoben, Technical University Graz และ Komptech Gmbh จากสาธารณรัฐออสเตรีย, Technical University of Ko?ice และ ELCOM sro จากประเทศสโลวาเกีย, University of Malta จากประเทศมอลตา, Deakin University จากประเทศออสเตรเลีย และ Chiang Mai University จากประเทศไทย ทั้งนี้ ตัวแทนนักวิจัยจากคณะบริหารธุรกิจและวิศวกรรมศาสตร์ที่เดินทางร่วมประชุมหารือ ณ สถาบันเทคโนโลยี KTH Royal เมืองสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ได้แก่ ผศ.ดร.กรกฎ ใยบัวเทศ ทิพยาวงศ์ ผู้ช่วยคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์, ผศ.ดร. วรัทยา แจ้งกระจ่าง ผู้ช่วยคณบดี คณะบริหารธุรกิจ, รศ.ดร.คมกฤต เล็กสกุล ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านกำลังคน, สถาบันความรู้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ, รศ.ดร.ศักดิ์เกษม ระมิงค์วงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ, ศ.ดร.นคร ทิพยาวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยทั้งหมดเดินทางกลับมายังประเทศไทยเพื่อเตรียมแผนการดำเนินในระยะต่อไปเรียบร้อยแล้ว


ข้อมูลโดย : หน่วยสื่อสารองค์กร คณะบริหารธุรกิจ
แกลลอรี่