คณะวิทย์ มช. ผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ สร้างกำลังคนสมรรถนะสูงสำหรับอุตสาหกรรม New Growth Engine แบบ Non-degree

30 สิงหาคม 2563

คณะวิทยาศาสตร์

        วิทยาการคอมพิวเตอร์ มช. จัดพีธีมอบประกาศนียบัตรและสัมมนารายงานผลการวิจัยในโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อสร้างกำลังคนสมรรถนะสูงสำหรับอุตสาหกรรม New Growth Engine แบบ Non-degree เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม 2563
ณ Kantary Hills Hotel เชียงใหม่

ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดพิธีมอบประกาศนียบัตร และสัมมนาเพื่อรายงานผลการวิจัย ในโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง สำหรับอุตสาหกรรม New Growth Engine ตามนโยบาย Thailand 4.0 และการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย ประเภทประกาศนียบัตร (Non-degree) กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล หลักสูตรการวิเคราะห์ข้อมูลอัจฉริยะ (Intelligent data analysis) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม 2563 ณ Kantary Hills Hotel เชียงใหม่ โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์อุษณีย์ คำประกอบ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ พัฒนาคุณภาพองค์กร และยุทธศาสตร์ผลิตบัณฑิตที่มีคุณธรรม คุณภาพ และมีทักษะการเป็นพลเมืองโลก  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธี และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุรี เตชะวุฒิ หัวหน้าภาควิชาวิทยการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ กล่าวรายงานความเป็นมาในการจัดงาน

ตามนโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย ประจำปีการศึกษา 2562 Thailand 4.0 หรือโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล ได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และได้กำหนดให้มีการปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม (Transformation of Culture) เพื่อสร้างคนไทยที่มี คุณภาพ คุณธรรม จริยธรรม มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย พัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต ปฏิรูปการเรียนรู้แบบพลิกโฉม (Transformation of Learning) รวมทั้งการพัฒนาและรักษากลุ่มผู้มีความสามารถพิเศษ (Talents) สอดคล้องกับแนวคิดการจัดการศึกษา (Conceptual Design) ตามแผนการศึกษาแห่งชาติ โดยยึดหลักสำคัญในการจัดการศึกษา ประกอบด้วยหลักการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All) หลักการจัดการศึกษาเพื่อความเท่าเทียมและทั่วถึง (Inclusive Education) หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) และหลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคม (All for Education) อีกทั้งวิสัยทัศน์เชิงนโยบายของรัฐที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้านนวัตกรรม ด้วย Thailand 4.0 เพื่อให้ประเทศไทยกลายเป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง และสามารถรับมือกับโอกาสและภัยคุกคามแบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในศตวรรษที่ 21

กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นอีกด้านหนึ่งที่ต้องการการปฏิรูป นโยบาลดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยุทธศาสตร์ที่ 5 จึงต้องมีการพัฒนากำลังคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Workforce) สร้างคน สร้างงาน สร้างความเข้มแข็งจากภายใน เพื่อให้บุคลากรในวิชาชีพด้านดิจิทัลมีคุณภาพและปริมาณเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาที่ขาดแคลน หรือมีความสำคัญต่อการสร้างนวัตกรรมดิจิทัล

ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะหน่วยงานทางการศึกษาที่มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพในระดับสากล ได้ตอบสนองนโยบายดังกล่าว โดยจัดการเรียนการสอนภายใต้โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง สำหรับภาคอุตสาหกรรม New Growth Engine ตามนโยบาย Thailand 4.0 และการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย ประเภทประกาศนียบัตร (Non-degree) กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมีหน้าที่ดำเนินงานจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรการวิเคราะห์ข้อมูลอัจฉริยะ (Intelligent data analysis) โดยเป็นหลักสูตรระยะสั้นที่จัดการเรียนการสอนแบบหน่วยการเรียนรู้ (Module) ประกอบด้วยการศึกษากระบวนวิชาบรรยาย 6 หน่วยกิต (90 ชั่วโมงทฤษฎี) และกระบวนวิชาเรียนรู้ ณ สถานประกอบการ 270 ชั่วโมงปฏิบัติ รวมเป็น 360 ชั่วโมง โดยใช้เวลาศึกษาไม่เกิน 1 ปี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุรี เตชะวุฒิ หัวหน้าภาควิชาวิทยการคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า "ปัจจุบันมีจำนวนผู้เรียนในหลักสูตรกังกล่าว รวมทั้งสิ้น 25 คน โดยมีผู้เรียนที่ผ่านหลักสูตรการวิเคราะห์ข้อมูลอัจฉริยะ (Intelligent data analysis) ซึ่งผ่านทั้งกระบวนวิชาบรรยาย และกระบวนวิชาเรียนรู้ จำนวน 22 คน ผู้เรียนที่ผ่านการเรียนกระบวนวิชา การวิเคราะห์ข้อมูลและการเรียนรู้ของเครื่อง (Data Analytics and Machine Learning) จำนวน 22 คน  และผู้เรียนที่ผ่านการเรียนกระบวนวิชา การจัดดำเนินการข้อมูล (Data Manipulation) จำนวน 23 คน โดยตลอดระยะเวลาของการเรียนในหลักสูตร ผู้เรียนทุกคนมีความสนใจใฝ่เรียนรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการทำวิจัย และมีส่วนร่วมในทุกกิจกรรมเป็นอย่างดี ทำให้ภาควิชาฯ เชื่อมั่นว่า ผู้เรียนจะสามารถนำองค์ความรู้ และเทคนิคที่ได้รับไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพของตนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ"

สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาในหลักสูตรดังกล่าว สามารถติดตามรายละเอียดหลักสูตรและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ www.cs.science.cmu.ac.th หมายเลขโทรศัพท์ 0-5394-3412-16

แกลลอรี่