มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้กำหนดนโยบายนำมหาวิทยาลัยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral University) ภายในปี 2032 โดยกำหนดเป็น 1 ในนโยบายแผน 13 ของมหาวิทยาลัย ซึ่งมุ่งสร้างต้นแบบการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผลักดันนโยบายการใช้พลังงานทดแทน การอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางด้านสภาพแวดล้อมเท่านั้น ยังพัฒนาการดำเนินการจัดการอย่างยั่งยืนด้วยด้วยการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาช่วยแก้ปัญหา และพัฒนาการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย โดยเน้นการใช้ข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการด้านต่าง ๆ (Data-Driven) ที่นำไปสู่การยอมรับในวงกว้าง ได้รับมอบตราสัญลักษณ์จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมให้เป็นพื้นที่พัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศ (Smart City)
ด้วยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานที่นำไปสู่วิถีชีวิตแบบคาร์บอนต่ำ ตั้งเป้าเป็นต้นแบบในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ รวมทั้งลดต้นทุนการบริหารจัดการพลังงานทั้งระบบ โดยมีกรอบการดำเนินงานด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน ทั้งหมด 5 ด้าน คือ
- การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกขององค์กร (Organization GHG Management)
- การจัดทำมาตรการลดคาร์บอนในองค์กร (CMU Carbon Reduction Projects)
- มาตรการการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่สีเขียว (CMU Carbon Sinks)
- ารพัฒนาบุคลากรและปลูกจิตสำนึก (CMU Human Developments)
- การปรับตัวเตรียมความพร้อมต่อ Climate Change (CMU Climate Adaptation and Resilience)
ดังสะท้อนให้เห็นจากการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย ตั้งแต่การบริหารจัดการทรัพยากร เช่น การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา (Solar Rooftop) ทั่วทั้งมหาวิทยาลัย รวมถึงระบบผลิตพลังงานความร้อน Solar Collector ณ หอพักนักศึกษา สามารถลดค่าไฟฟ้า และลดการปล่อยคาร์บอน รวมกว่า 8,000 tCO2e/ปี อีกทั้งครอบคลุมไปถึงกิจกรรมนักศึกษาที่จัดขึ้นโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม อย่างเช่น การรับน้องขึ้นดอยประจำปี 2566 และขบวนแห่กระทงใหญ่ “โคมคำ สุวรรณหงส์” ที่ร่วมรณรงค์การจัดการขยะอย่างครบวงจร ไม่ก่อมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม
ในปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีการดำเนินงานอย่างเข้มแข็ง ส่งผลให้โครงการต่าง ๆ ได้รับรางวัล และการรับรองเป็นที่ประจักษ์ อาทิ การรับรองเป็นองค์กรผู้นำด้านก๊าซเรือนกระจก Climate Action Leading Organization จากเครือข่าย Thailand Carbon Neutral Network โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ซึ่งมีสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มช. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ
นอกจากนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นสถานศึกษาที่ตั้งอยู่บริเวณภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัญหา PM 2.5 ในทุกปี ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ สุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่างเด็กเล็ก และผู้สูงอายุ ความสำคัญของอากาศสะอาดจึงเป็นความต้องการพื้นฐานของสุขภาพที่ต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ “โครงการสร้างห้องปลอดฝุ่นให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก” เป็นหนึ่งในโครงการที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดทำร่วมกับมูลนิธิพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Safe Zone) สำหรับอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 603 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ
โครงการสร้างห้องปลอดฝุ่นให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ดำเนินโครงการมาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 สร้างห้องปลอดฝุ่นให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสำเร็จไปแล้ว 24 แห่ง ในพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ต อำเภอเชียงดาว และอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่
- ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลสันปูเลย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
- ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านป่าขุย ต.สันปูเลย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
- ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดปทุมสราราม ต.เชิงดอย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
- ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านผาลาย ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
- ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดดอนศรีสะอาด อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
- ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดห้วยคอก ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่
- ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดแม่สาบใต้ ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่
- ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านถ้ำ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
- ห้องการศึกษาพิเศษ โรงเรียนบ้านทุ่งหลุก อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
- โรงเรียนบ้านห้วยทราย ทต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
- โรงเรียนตำรวจตะเวนชายแดนเบญจมะ 1 อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่
- ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลแม่ก๊า อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่
- ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ทต.สันผักหวาน อ.หางดง จ.เชียงใหม่
- ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ทต.แม่ท่าช้าง อ.หางดง จ.เชียงใหม่
- ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลเวียงยอง อ.เมือง จ.ลำพูน
- โรงเรียนบ้านน้ำตกแม่กลาง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
- ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กน้ำตกแม่กลาง ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
- ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กน้ำตกแม่กลาง ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
- โรงเรียนบ้านโป่งน้อย ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
- โรงเรียนบ้านพระนอน ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
- โรงเรียนชุมชนวัดท่าเดื่อ ต.สันผีเสื้อ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
- โรงเรียนชลประทานเขื่อนแม่กวง (จิราธิวัฒน์อุปถัมภ์) ต. หนองแหย่ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่
- ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านป่ารวก ต.ไชยปราการ อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่
- ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดสันต้นเปา-บ้านอ่าย ต.ไชยปราการ อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่
ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ร่วมบริจาคสมทบทุน โดยยอดรวมปัจจุบันอยู่ที่ 2,177,069.99 บาท และยังคงรับบริจาคสนับสนุนโครงการอย่างต่อเนื่องผ่าน CMU e-Donation หรือเว็ปไซต์ https://donate.cmu.ac.th/home/project-home-details/48/7 สามารถนำใบเสร็จรับเงินไปลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า
โครงการฯ ดังกล่าวดำเนินการโดยใช้ “นวัตกรรมสร้างอากาศสะอาด (Clean air)” จากทีมนักวิจัยสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ออกแบบห้องปลอดฝุ่นด้วยหลักการเติมอากาศสะอาดเข้าไปในห้องด้วยพัดลมที่มีเครื่องกรองอากาศผ่านทางท่อเข้าไปในห้องพัก และปิดช่องเปิดขนาดใหญ่ด้วยการติดตั้งมุ้ง หรือผ้าม่านกันฝุ่นบริเวณหน้าต่าง หรือบานเกร็ดภายใน เป็นการควบคุมระดับของสิ่งปนเปื้อนในอากาศ เช่น เชื้อโรค ฝุ่นละออง ไอ สารเคมี ก๊าซ ควัน ฯลฯ ป้องกันการเกิดผลกระทบด้านสุขภาพ โดยเฉพาะในเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้และโรคหืด ทางเดินหายใจของเด็กกลุ่มนี้จะมีความไวต่อการกระตุ้นจากฝุ่นละอองได้มากกว่าคนทั่วไป ช่วยลดการสะสมสิ่งปนเปื้อนในอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งจะนำมาซึ่งความเจ็บป่วยของเด็กเล็ก นอกจากนี้ นวัตกรรมดังกล่าวยังช่วยลดความร้อน ตลอดจนควบคุมปัญหาเรื่องกลิ่น ความชื้น และคุณภาพอากาศในห้องอีกด้วย ช่วยส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่พวกเขาสามารถเรียนรู้ และเติบโตได้อย่างปลอดภัย