สมาคมควบคุมระบบขับถ่ายปัสสาวะเด็กนานาชาติ (ICCS) และสมาคมศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะเด็กแห่งทวีปยุโรป (ESPU) ได้กำหนดให้วันอังคาร สัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันปัสสาวะรดที่นอนโลก ซึ่งในปีนี้ ตรงกับวันอังคารที่ 31 พฤษภาคม 2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไป ได้รู้จัก เข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญต่อการรักษาภาวะปัสสาวะรดที่นอนจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่เหมาะสม
การปัสสาวะรดที่นอน หรือไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ในเด็กในขณะนอนหลับ แต่เดิมมีความเข้าใจที่ผิดว่าเป็นเรื่องแกล้งทำ หรือเป็นการทำเพื่อเรียกร้องความสนใจ แต่ปัจจุบันทางด้านการแพทย์นั้นพบว่าเป็นโรคที่มีสาเหตุชัดเจน และควรได้รับการรักษา
ปัสสาวะรดที่นอนเป็นภาวะที่พบบ่อยในวัยเด็ก ซึ่งจะถือว่าเป็นความผิดปกติในกรณีที่เกิดขึ้นในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป หากพบว่ามีการปัสสาวะรดที่นอนบ่อยครั้ง อย่างน้อยตั้งแต่ 2 ครั้ง ต่อ สัปดาห์ จะถือว่ามีปัญหา ในเด็ก100 คนพบว่ามีถึง15 คนที่มีอาการของปัสสาวะรดที่นอน และส่วนมากอาการจะลดลงและหายเองเมื่อโตขึ้น แต่จะมีเพียง1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่มีอาการปัสสาวะรดที่นอนไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งในกลุ่มนี้เรียกว่าเป็นการปัสสาวะรดที่นอนตั้งแต่กำเนิด ดังนั้นหากพบว่าบุตรหลานของท่านยังมีอาการปัสสาวะรดที่นอน จนถึงอายุ 6-7 ขวบแล้ว ควรพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์คัดกรองอาการ และตรวจวินิจฉัยโรคต่อไป
สาเหตุภาวะปัสสาวะรดที่นอนในเด็กแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้
1.ส่วนสมอง
มีการนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพ หลับตื้น ปลุกได้ยาก
2. ส่วนของไต
ผลิตน้ำปัสสาวะเยอะผิดปกติในตอนกลางคืน
3. ส่วนของกระเพาะปัสสาวะ
กระเพาะปัสสาวะ บีบตัวไวเกิน ทำให้ปัสสาวะรดที่นอน ทั้งๆ ที่ยังไม่เต็มกระเพาะปัสสาวะ
4.ในเด็กที่มีภาวะท้องผูก
ทำให้เกิดภาวะปัสสาวะรดที่นอนได้
ภาวะปัสสาวะรดที่นอนในเด็ก ส่งผลกระทบต่างๆ ตามมามากมาย เช่น ปัญหาครอบครัวทั้งในด้านจิตใจและความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้ปกครอง ภาวะซึมเศร้า ขาดสมาธิในการเรียน การเข้าสังคม ทำให้เด็กขาดความมั่นใจในตนเอง ส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตของเด็ก
สำหรับผู้ปกครองควรมองว่าปัญหาดังกล่าว เป็นเรื่องที่มีสาเหตุจากทางร่างกาย ดังที่กล่าวมาแล้ว จึงไม่ควรลงโทษหรือตำหนิ แต่ควรแสดงความเข้าใจ และเป็นกำลังใจ รวมถึงการปรับพฤติกรรมร่วมกันในครอบครัวก่อน โดยเฉพาะช่วง 2 ชม. ก่อนเข้านอนควรมีการจำกัดปริมาณน้ำ หรือการดื่มนม ซึ่งจะทำให้เด็กมีโอกาสเกิดปัสสาวะรดที่นอนได้มากขึ้น ควรปัสสาวะก่อนนอนทุกครั้ง ทั้งนี้ผู้ปกครองมีส่วนช่วยในการวินิจฉัยได้ โดยแพทย์อาจให้ผู้ปกครองจดบันทึกข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมของบุตรหลาน เช่น ปริมาณของน้ำที่ดื่ม จำนวนครั้งที่ปัสสาวะในแต่ละวัน จำนวนครั้งของการปัสสาวะรดที่นอนในแต่ละคืนหรือในแต่ละสัปดาห์
อย่างไรก็ตามเมื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาแล้ว อาการของเด็กยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้ผู้ปกครองนำบุตรหลานไปพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาต่อไป
ข้อมูลโดย รศ.นพ.พิษณุ มหาวงศ์ อาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เรียบเรียง : นส.ธัญญลักษณ์ สดสวย
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#วันปัสสาวะรดที่นอนโลก
#MedCMU #MedCMUในมือคุณ
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#สื่อสารองค์กรMedCMU