นักวิจัย มช. ชู “ผักฮาน” พืชท้องถิ่นไทย ต้านมะเร็งเม็ดเลือดขาว เพิ่มโอกาสทางการรักษา

14 กรกฎาคม 2566

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือโดยทั่วไปเรียกว่า ลูคีเมีย (Leukemia) ในประเทศไทยเป็นมะเร็งที่ 1 ใน 10 โรคมะเร็งที่พบบ่อย สามารถพบได้ในทุกเพศ ทุกวัย ปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรค มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เล็งเห็นความสำคัญของการวางรากฐานการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การขยายขีดความสามารถในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งในประเทศไทย จากการใช้ทรัพยากรที่สามารถหาได้หรือผลิตได้เองในประเทศไทย จากการบูรณาการความรู้จากทีมนักวิจัยจากหลากหลายสาขาความรู้ภายในรั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทั้ง คณะวิทยาศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้ร่วมกันศึกษาผลของการต้านมะเร็งเม็ดเลือดขาวจากพืชที่ใช้ในการบริโภคและการแพทย์ทางชาติพันธุ์ (Elsholtzia stachyodes) ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย รวมทั้งมีความสนใจในการค้นหาแนวทางใหม่ ๆ ในการกำจัดเซลล์มะเร็งโดยการใช้แอนติบอดี (antibody) ที่สามารถผลิตได้เองภายในประเทศ จากฝีมือของทีมนักวิจัยไทย โดยความอนุเคราะห์จาก ศ.ดร.วัชระ กสิณฤกษ์ ภาควิชาเทคนิคการแพทย์ คณะเทคนิคการแพทย์

ในกระบวนการวิจัย นักวิจัยได้ทำการเก็บพืชในสกุล Elsholtzia ที่มีการใช้ในการบริโภคและการแพทย์ทางชาติพันธุ์ในชาวกะเหรี่ยง อาข่า นำมาทำการสกัดเป็นสารสกัดหยาบและสารแยกส่วน จากนั้นทดสอบการออกฤทธิ์ต่อเซลล์เชื้อสายมะเร็งเม็ดเลือดขาวจำนวน 3 ชนิด (K562, U937, Raji) รวมถึงทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ปกติ (Peripheral Blood Mononuclear Cells: PBMCs) โดยสารสกัดที่ออกฤทธิ์ต้านมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ดี และมีความเป็นพิษต่อเซลล์ปกติน้อย จะถูกเลือกนำไปทำการวิเคราะห์องค์ประกอบของสารที่ออกฤทธิ์ได้ดีที่สุดด้วยเทคนิค HPLC และ LC-MS

จากผลการศึกษาพบว่า สารแยกย่อยจากพืช Elsholtzia Stachyodes หรือ ผักฮาน ในภาษาท้องถิ่นสามารถออกฤทธิ์ต้านมะเร็งเม็ดเลือดขาวทั้ง 3 ชนิดได้ดีที่สุด และยังมีความเป็นพิษต่อเซลล์ปกติที่ต่ำ และจากการศึกษาองค์ประกอบของสารแยกส่วนจากพืชชนิดนี้ พบว่ามีสารในกลุ่ม Luteolin และ Apigenin เป็นองค์ประกอบหลักซึ่งมีฤทธิ์ในการฆ่าเซลล์มะเร็งผ่านกลไกที่หลากหลาย และจากการศึกษากลไกการออกฤทธิ์พบว่า สารแยกส่วนจากพืชชนิดนี้สามารถเหนี่ยวนำให้เซลล์เชื้อสายมะเร็งเกิด ER-stress, Cell cycle arrest, Autophagy และนำไปสู่การตายของเซลล์มะเร็งในรูปแบบ Apoptosis

งานวิจัยชิ้นนี้ได้ขยายผลการศึกษาจากทีมวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยอาจารย์และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาห้องปฏิบัติการอณูชีววิทยาและเซลล์วิทยา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ นำโดย ผศ.ดร. ภัทรพล ลีธนัชอุดม, นายเมธพงศ์ กุลอภิสิทธิ์, นายกัมปนาท พรหมโลก โดยความร่วมมือกับ รศ.ดร. เฉลิมพงษ์ แสนจุ้ม ภาควิชาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ดร. จิระประภา วิภาษา ศูนย์วิจัยชีวโมเลกุลและเซลล์วิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ผศ.ดร. อังคณา อินตา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผศ.ดร. พิชญา มังกรอัศวกุล ภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่การศึกษาเพื่อค้นหาและพัฒนาสารต้านมะเร็งชนิดใหม่ ๆ จากความรู้ในท้องถิ่น รวมไปถึงการใช้ประโยชน์จากแอนติบอดีที่สามารถผลิตได้เองภายในประเทศ จากฝีมือทีมนักวิจัยไทย ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น และยังสามารถพัฒนาเป็นยา เพื่อใช้ในการรักษามะเร็ง หรือใช้ควบคู่ไปกับการรักษามะเร็งด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษามะเร็งให้ประสบผลสำเร็จดีขึ้น

แกลลอรี่