ทีมนักวิจัยจากห้องปฏิบัติการวิจัยเคมีของรำข้าวและธัญพืช ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบด้วย นางสาวภิรมณ ปอกกันทา (นักศึกษาระดับปริญญาเอก) นางสาวจิตรกัญญา ยืนยง (นักศึกษาระดับปริญญาเอก) รศ.ดร.สุกัญญา มหาธีรานนท์ และ ผศ.ดร.ภูมน สุขวงศ์ ร่วมกับ รศ.ดร.สุดารัตน์ เจียมยั่งยืน จากคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยในหัวข้อ การใช้กรรรมวิธีไมโครเวฟกับรำข้าวและผลที่มีต่อปริมาณสารพฤกษเคมีและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (Microwave Treatment of Rice Bran and Its Effect on Phytochemical Content and Antioxidant Activity)
งานวิจัยนี้อาศัยการวิเคราะห์หลักโดยใช้เทคนิคยูวี-วิส สเปกโตรสโคปี (Uv-vis spectroscopy) อาศัยหลักการการดูดกลืนแสงที่อยู่ในช่วงอัลตราไวโอเลตและวิสิเบิล สำหรับการวิเคราะห์การออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ การวิเคราะห์ปริมาณฟลาโวนอยด์ และการวิเคราะห์ปริมาณฟีนอลิกรวม และยังใช้การวิเคราะห์สารโดยเทคนิคโครมาโทกราฟีของเหลวสมรรถนะสูง (High Performance Liquid Chromatography (HPLC)) อาศัยความแตกต่างของอัตราการเคลื่อนที่ของสารประกอบที่ผ่านไปในคอลัมน์ โดยการพาของเฟสเคลื่อนที่ภายใต้ความดันสูง สำหรับการวิเคราะห์ปริมาณโทคอล แกมมา-ออไรซานอล สควอลีน ไฟโตสเตอรอล และกรดฟีนอลิก
การศึกษานี้ได้รายงานผลของกรรมวิธีทางไมโครเวฟโดยใช้เตาอบไมโครเวฟสำหรับครัวเรือนต่อฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และปริมาณสารพฤกษเคมีที่สำคัญในรำข้าวที่มาจากข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 โดยมีจำนวนสารสำคัญที่วิเคราะห์มากถึง 30 ชนิด นับว่าหลากหลายที่สุดเท่าที่เคยมีการศึกษามา
โดยการศึกษาพบว่า เมื่อรำข้าวผ่านกระบวนการทำเสถียรเพื่อลดการเหม็นหืนโดยกรรมวิธีนี้ (ใมโครเวฟ) ทำให้ปริมาณของสารพฤกษเคมีที่ศึกษา และการออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของรำข้าวสูงขึ้น (เช่น ปริมาณวิตามินอีเพิ่มสูงขึ้น 2.5 เท่า และปริมาณไฟโตสเตรอลเพิ่มขึ้น 1.5 เท่าจากเดิม) โดยสภาวะที่ดีที่สุดสำหรับการใช้เตาไมโครเวฟในการเตรียมรำข้าวที่ได้จากการศึกษา (กำลัง 440 W เวลา 2.5 นาที) จะเป็นประโยชน์ต่อการนำมาประยุกต์ใช้ทั้งครัวเรือนและหลายอุตสาหกรรมที่ใช้รำข้าวเป็นองค์ประกอบของอาหาร หรือใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหาร เช่น การผลิตน้ำมันรำข้าวเพื่อใช้สำหรับการปรุงอาหาร การผลิตอาหารเสริม ยา และเป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอาง เป็นต้น
ทั้งนี้ กรรมวิธีทางไมโครเวฟนอกจากจะเป็นกระบวนการที่ทำให้รำข้าวเสถียรและรำข้าวมีปริมาณสารพฤกษเคมีสูงขึ้น ยังเป็นกระบวนการที่ใช้พลังงานน้อย ประหยัดเวลา และสะดวกในการใช้งาน อีกทั้งผลจากการวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญของรำข้าวที่มาจากข้าวขาวดอกมะลิ 105 ยังสามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับสารพฤกษเคมีและการประยุกต์ใช้เชิงสุขภาพของรำข้าวชนิดนี้ได้อีกด้วย
งานวิจัยนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการให้กับประชากรโลก โดยเฉพาะคนไทย ที่มีการผลิตและบริโภคข้าวเป็นหลัก ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ของรำข้าวซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการสีข้าวให้ได้ประโยชน์ทางสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น สามารถนำไปต่อยอดเป็นการผลิตผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มได้ ทำให้ผู้บริโภคได้คุณค่าทางสารอาหารและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอย่างสูงสุด ปลอดภัย รวมไปถึงมีกลิ่นและรสสัมผัสดี อีกทั้งการใช้กรรมวิธีทางไมโครเวฟในการเตรียมรำข้าว (การทำรำเสถียรเพื่อลดการเหม็นหืน) ยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรน้ำ ลดการใช้เชื้อเพลิงสำหรับการสร้างความร้อน และลดเวลาในการกระบวนดังกล่าว ส่งผลให้ลดการสร้างของเสียซึ่งอาจนำมาสู่ปัญหาโลกร้อน รวมถึงเป็นการสร้างรูปแบบการผลิตและการบริโภคผลิตภัณฑ์จากรำข้าวที่ดียิ่งขึ้น
งานวิจัยถูกเผยแพร่ในวารสาร Scientific Reports จากสำนักพิมพ์ Nature Portfolio ปีที่พิมพ์ 2022 เล่มที่ 12 วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2565
(Q1 ISI/Scopus, Impact Factor (2022) = 4.996)
อ่านบทความวิจัยได้ที่ DOI : https://doi.org/10.1038/s41598-022-11744-1