มช. ชูภูมิปัญญาล้านนาสร้างสรรค์ ร่วมกับ มอ. ชูเอกลักษณ์อาณาจักรลังกาสุกะ เฉิดฉายในเทศกาล Russian Creative Week. Moscow Fest ที่รัสเซีย

13 กรกฎาคม 2566

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในนามคณะกรรมการพันธกิจสากล ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) นำภูมิปัญญาล้านนาสร้างสรรค์ “From Local Wisdom to Global Living” นำเสนอผ่านหัตถกรรมเครื่องไม้เคลือบยางรัก เครื่องปั้นดินเผาบ้านเหมืองกุง และ งาน "ทอแสง" สิ่งทอถักสีเรืองแสง เผยแพร่ความงามของวัฒนธรรมล้านนา และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้นำเสนอมรดกทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของอาณาจักรลังกาสุกะด้วยแนวคิด “From Local Wisdom to Global Peace” ผ่านการสร้างสรรค์ลวดลายบนผ้าบาติก บินลัดฟ้า เข้าร่วมเทศกาล "Russian Creative Week. Moscow Fest" ณ พาวิลเลียนประเทศไทย สวนสาธารณะ Gorky Park กรุงมอสโก สหพันธรัฐรัสเซีย เมื่อวันที่ 5-9 กรกฎาคม 2566 โดยมีผู้แทนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน 2 ท่าน คือ อาจารย์ ดร.อฬิญญา พงษ์วาท ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์และนายพิทักษ์ ทนาบุตร นักจัดการงานทั่วไป สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์ เข้าร่วมงานดังกล่าว

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะสถาบันการศึกษาสมาชิกเครือข่าย ทปอ. ร่วมจัดแสดงนิทรรศการศิลปวัตถุร่วมสมัยและผลิตภัณฑ์ที่สร้างขึ้นบนพื้นฐานทางวัฒนธรรมท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่ง โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้นำเสนอภูมิปัญญาของอาณาจักรล้านนาด้วยแนวคิด “From Local Wisdom to Global Living” ผ่านหัตถกรรมเครื่องไม้เคลือบด้วยยางรัก เครื่องปั้นดินเผาบ้านเหมืองกุง รวมถึงสิ่งทอถักสีเรืองแสง และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้นำเสนอมรดกทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของอาณาจักรลังกาสุกะด้วยแนวคิด “From Local Wisdom to Global Peace” ผ่านการสร้างสรรค์ลวดลายบนผ้าบาติก พร้อมทั้งนำเสนอวิถีชีวิตผ่านแผ่นพับ เช่น เรือกอและ เวาบูลัน หนังตะลุง เครื่องราง กรงนก และเครื่องจักสาน

พาวิลเลียนประเทศไทยจัดตั้งโดย Department of Entrepreneurship and Innovative Development of the City of Moscow ร่วมกับ Creative Industries Agency (CIA) สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก สำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย (CEA) และหน่วยงานระหว่างประเทศ (JMCC) ได้จัดแสดงผลงานที่แสดงถึงทิศทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทย ได้แก่ สิ่งทอ แฟชั่น เครื่องประดับ หัตถกรรม เซรามิก การศึกษา ภาพยนตร์และวิดีโอเกม รวมถึงงานฝีมือที่แสดงถึงวัฒนธรรมและ ภูมิปัญญาดั้งเดิมประยุกต์เข้ากับศิลปะร่วมสมัย

นายศศิวัฒน์ ว่องสินสวัสดิ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก กล่าวว่า “รัสเซียและไทยมีความสัมพันธ์อันดีมายาวนาน ทั้งสองประเทศมีความเคารพและความเข้าใจเป็นหนึ่งเดียวกัน พาวิลเลียนประเทศไทยในงานนี้ เป็นอีกก้าวสำคัญของการพัฒนาความสัมพันธ์ไทย-รัสเซียในด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สะท้อนศักยภาพและความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศ รัสเซียเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้ในการขับเคลื่อนเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชน ผมมั่นใจว่าผู้เข้าชมพาวิเลียนประเทศไทยจะเพลิดเพลินและประทับใจในความพยายามของ นักสร้างสรรค์ชาวไทยที่ผสมผสานศิลปะและงานฝีมือแบบดั้งเดิมเข้ากับยุคสมัยใหม่ นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อย่างเป็นรูปธรรม”

แกลลอรี่