ผู้บริหารคณะแพทย์พบประชาชน เผยถึงแผนการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา พร้อมเดินหน้าประกาศก้าวสู่การเป็น “โรงเรียนแพทย์ในดวงใจ” ด้วยแผนกลยุทธ์ใหม่

9 มกราคม 2566

คณะแพทยศาสตร์

          ผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์ มช. มุ่งเดินหน้าประกาศก้าวสู่การเป็น “โรงเรียนแพทย์ในดวงใจ” เผยถึงผลงานที่ผ่านมาสร้างความภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก ขับเคลื่อนองค์กรสู่สากลอย่างมีระดับ พร้อมสร้างองค์กร สร้างผู้นำ เพื่อเปลี่ยนแปลงแผนกลยุทธ์ MED CMU บนพื้นฐาน การศึกษา การวิจัย การบริการ และนวัตกรรม โดยยกระดับและพัฒนาบุคลากร

          ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงวิสัยทัศน์ ของคณะแพทยศาสตร์ มช. ในการเป็นโรงเรียนแพทย์ในดวงใจ เพื่อยกระดับสุขภาวะของมนุษยชาติอย่างยั่งยืน โดยเริ่มการมุ่งสู่การเป็นองค์กรสมรรถนะสูง ด้วยการเปลี่ยนแปลงระบบต่างๆมากมาย และปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์ มช. ก้าวไปสู่การเป็น “โรงเรียนแพทย์ในดวงใจ” ด้วยแผนกลยุทธ์ใหม่ MED CMU เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศด้าน การศึกษา การวิจัย การบริการ และนวัตกรรม ร่วมกับการยกระดับและพัฒนาบุคลากร

          ผลงานเด่นในปี 2565 ที่ผ่านมา ได้แก่ความคืบหน้าในการปรับปรุงอาคารผู้ป่วย “สุจิณฺโณ” และอาคารที่เกี่ยวข้อง ของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เริ่มปรับปรุงไปแล้วหลายส่วน โดยขณะนี้ได้ปรับปรุงหอผู้ป่วยในอาคาร “สุจิณฺโณ” เสร็จแล้วจำนวน 4 ชั้น และวางแผนจะเสร็จทั้งหมดภายใน 18 เดือน รวมถึง การปรับปรุงห้องผ่าตัด,ห้องสังเกตุอาการ,ห้องปลูกถ่ายกระดูก, ห้องชันสูตร ,ห้องฉุกเฉิน ,ลานพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และห้องประชุมชั้น 15 สุจิณฺโณ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในโครงการอื่นๆ ประกอบด้วย การสร้างศูนย์การแพทย์หริภุญไชย ที่จ.ลำพูน และศูนย์บริการสุขภาพ และบริการสาธารณสุข (Medical Hub) เพื่อรองรับพันธกิจด้านการศึกษา การวิจัยและการบริการที่เป็นเลิศ

          คณะฯ ได้จัดคอนเสิร์ตการกุศล “สวนดอกร้อยดวงใจ...เพื่อโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ อาคารผู้ป่วยสุจิณฺโณ และช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่” ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี กิจกรรมแถลงข่าวความสำเร็จในการปลูกถ่ายตับอ่อนเป็นครั้งแรก ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการรักษาเบาหวานชนิดที่ 1 ,การแถลงข่าวโครงการTelemedicine ระหว่างคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โรงพยาบาลเทพรัตนเวชชานุกูล เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา ร่วมกับบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี่(ประเทศไทยจำกัด) และ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (AIS) ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ได้เปิดศูนย์เรียนรู้ตลอดชีวิต CMEx Lifelong Learning Center” แห่งแรกในภาคเหนือ มีหลักสูตรต่างๆ ในกิจกรรมนี้เช่น การฝึก Ultrasound และการฝึกฟื้นคืนชีพในระดับต่างๆ คณะฯมีผลงานนวัตกรรมด้านการแพทย์ และกิจกรรม Suandok Innovation District ซึ่งมุ่งเน้นการเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยในการเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรม

         ทีมนวัตกรรมของคณะแพทยศาสตร์ มช. สร้างโปรแกรมบ่มเพาะธุรกิจด้านการแพทย์และสุขภาพ เช่น ผลงานโปรแกรมช่วยเหลือผู้ป่วยด้านสมอง เป็นโปรแกรมช่วยผู้ป่วยด้านหลอดเลือดสมองที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ,สารสกัดจากถั่วเหลืองรูปแบบทาภายนอก และรูปแบบรับประทาน ,สร้างกิจกรรมเฟ้นหาสุดยอด Idea Solution ในการแก้ไขปัญหา หรือการสร้างสรรค์บริการด้านการแพทย์ และการดูแลสุขภาพรูปแบบใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์ใช้ชีวิตของผู้คนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในอนาคตคณะฯจะสร้าง Suandok Innovative Hub เพื่อเป็นสถานที่สร้างบรรยากาศด้านนวัตกรรมอย่างเต็มรูปแบบ

         สำหรับผลงานด้านงานวิจัย จำนวนผลงานวิจัยและการอ้างอิงเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยมีการพัฒนาศูนย์วิจัยพุ่งเป้า Fact Research อีกทั้งคณะฯมีนักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานโดดเด่น 2 % ของโลก ซึ่งบุคลากรที่สร้างผลงานเป็นที่ภาคภูมิใจ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ และวารสารชั้นนำของโลก และขณะนี้คณะฯมีงานวิจัยมุ่งเป้า ซึ่งได้กำหนดงานวิจัยพุ่งเป้าที่สำคัญ 4 เป้าหมาย คือ Fact (Functional Food , Aging , Cancer และ Thalassemia) ซึ่ง ประกอบด้วย การวิจัยอาหารและสมุนไพร ผู้สูงอายุ มะเร็ง และโรคธาลัสซีเมีย จำนวนผลงานวิจัยของคณะในปี 2565 จำนวนผลงานวิจัยทั้งหมดที่ตีพิมพ์ในระดับสากล 723 บทความ แม้ว่าผลงานจะได้รับการตีพิมพ์ในปีนี้ แต่ผลงานวิจัยเหล่านี้ถูกอ้างอิงแล้ว 485 ครั้ง จำนวนผลงานวิจัยมุ่งเป้าใน 4 ด้าน FACT Research ด้านผู้สูงอายุ 17 บทความ ด้านมะเร็ง 60 บทความ ด้านธาลัสซีเมีย 19 บทความ ที่น่าภาคภูมิใจคือจำนวนผลิตภัณฑ์ด้านอาหาร และสมุนไพรที่นำออกมาใช้ได้จริงจำนวน 1 ผลิตภัณฑ์ เป็นผลิตภัณฑ์ชื่อว่า FROL ผลิตจากนมถั่วเหลือง ซึ่งเริ่มขั้นตอนการวิจัยจนเป็นผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ ปี 2563 และขณะนี้กำลังออกสู่เชิงพาณิชย์

         นอกจากนี้คณะฯ ดำเนินการก้าวสู่ Digital Faculty โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยและญาติที่ดีขึ้น เพิ่มความสะดวกสบายในการใช้บริการของผู้ป่วยและญาติ เพิ่มความปลอดภัยในการดูแลรักษาผู้ป่วย เพื่อพัฒนากระบวนการทำงาน และการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คณะฯได้สร้างศูนย์บริการการแพทย์ทางไกล เพื่อขยายการเข้าถึงให้ประชาชนอย่างครบวงจรโดยเฉพาะผู้ป่วยห่างไกล พร้อมแอพพลิเคชั่นสำหรับเชื่อมต่อผู้ป่วยและแพทย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษา และเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยที่อยู่ทางไกลได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างทั่วถึง ทั้งนี้เพื่อประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาล เพื่อลดระยะเวลาในการนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลของผู้ป่วย เสริมสร้างทักษะในการดูแลผู้ป่วยสูงวัยด้วยตนเองและผู้ใกล้ชิด

         และเพื่อประโยชน์ต่อการศึกษาทางการแพทย์ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถแลกเปลี่ยนความรู้ และให้คำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทางได้โดยตรง โดยมีการวางระบบโรงพยาบาลเครือข่าย กับโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่จำนวน 20 โรงพยาบาล

         นอกจากนี้คณะฯยังได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงดิจิทัล โรงพยาบาลได้จัดให้มีระบบข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล ระบบชำระค่าบริการอิเลคทรอนิคส์ โดยการชำระค่าบริการผ่านการโอนเงิน ผ่าน QR Code ผ่านบัตรเครดิต ผ่านระบบเป๋าตัง จัดระบบส่งยาทางไปรษณีย์ พร้อมระบบติดตาม พัฒนาระบบเวชระเบียนอิเลคทรอนิคส์ ระบบการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลระบบยาต่อเนื่องแบบอิเลคทรอนิคส์ ระบบจัดยาอัตโนมัติด้วยหุ่นยนต์ ระบบบริหารยาและเลือดสำหรับผู้ป่วยใน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการพัฒนางาน Digital Faculty ของคณะฯอย่างเต็มรูปแบบ และคณะฯได้เปิดศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้า และกะโหลกศีรษะมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2565 เพื่อดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างเต็มมรูปแบบ ในระบบเครือข่ายและใช้เทคโนโลยีในการใช้ระบบ Digital เดินทางแทนผู้ป่วย

          สิ่งที่เห็นเป็นประจักษ์ในการพัฒนาของโรงพยาบาล คือโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ได้รับอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 12 “โรงพยาบาลที่ดีที่สุดในประเทศไทย ประจำปี 2565” โดยเป็นการจัดอันดับที่ 1 ในระดับภูมิภาคของประเทศ

         สำหรับโครงการที่จะดำเนินในปี 2566

          คณะฯ จะดำเนินการปรับปรุงอาคารสุจิณฺโณ ในส่วนที่เหลืออย่างต่อเนื่อง โดยวางแผน ประมาณ 1 ปีกว่าๆ ตึกทั้งหมดจะต้องได้รับการปรับปรุงด้วยระบบที่ทันสมัยและเป็นมาตรฐานของการแพทย์ในปัจจุบัน และในกลางเดือนมกราคม คณะฯ จะจัดพิธีทอดผ้าป่าสามัคคีมหากุศล เพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์อาคารสุจิณฺโณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ในด้านการศึกษา คณะฯจะเปิดหลักสูตรใหม่ MD+ ซึ่งผู้เรียนจะได้ปริญญาโทที่ University of Leeds เรียนหลักสูตรที่ประเทศอังกฤษโดยเป็นการเรียน 7 ปี ได้ 2 ปริญญา กิจกรรมทั้งหมดนี้เพื่อการเข้าสู่การเป็นโรงเรียนแพทย์ในดวงใจ เพื่อการยกระดับสุขภาวะของมนุษยชาติอย่างยั่งยืน

         ในส่วนของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงแผนที่จะดำเนินการในปี 2566 เกี่ยวกับการเปิดบริการเชื่อมโยง app เปาตัง กับระบบโรงพยาบาล โดยโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ได้ร่วมกับ Application เป๋าตัง ในการยืนยันตัวตนผู้เข้ารับบริการโดยขณะนี้โครงการจัดทำเฉพาะผู้ป่วยในระบบบัญชีกลาง (สิทธิข้าราชการ) ซึ่งที่ผ่านมา เมื่อผู้ป่วยเข้ามารับบริการมีความจำเป็นต้องใช้บัตรประชาชน ในการยืนยันตัวตน ณ แผนกการเงิน หรือที่ตู้ระบบอัตโนมัติของโรงพยาบาล แต่เมื่อโรงพยาบาลได้ทำโครงการร่วมกับ Application เป๋าตัง เพื่อให้ผู้รับบริการยืนยันตัวตน นับจากนี้การเข้ารับบริการยังโรงพยาบาลมหาราชฯ จะช่วยลดขั้นตอนการบริการที่ยุ่งยาก จากที่ต้องต่อแถวเพื่อติดต่อแผนกการเงิน หรือการต่อแถวเพื่อรับบริการ ณ ตู้ระบบอัตโนมัติ ทุกท่านจะได้รับบริการที่สะดวกสบายยิ่งขึ้นในการเข้ารับบริการ โดยที่ทุกท่านสามารถยืนยันตัวตน ผ่าน Application เป๋าตัง ซึ่งทางโรงพยาบาลได้ทำระบบภายในเชื่อมโยงข้อมูลไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อผู้ป่วยเข้ารับการตรวจและได้รับใบนัดเป็นที่เรียบร้อย ไม่จำเป็นที่ต้องไปที่แผนกการเงิน หรือตู้ระบบอัตโนมัติ ผู้ป่วยทุกท่านสามารถรอรับยา ณ ห้องจ่ายยาได้เลย ทำให้ลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก และยังได้รับความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และในอนาคตอันใกล้ ทาง Application เป๋าตัง จะมีการเชื่อมโยงต่อยังสิทธิอื่นๆ ทั้งสิทธิประกันสังคม และสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ในขณะนี้ยังใช้ได้เฉพาะระบบสิทธิข้าราชการเท่านั้น

        โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เปิดบริการ ณ ศูนย์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ไผ่ล้อม) ซึ่งแต่เดิมเรียกว่า คลินิกไผ่ล้อม ซึ่งเดิมมีขนาดค่อนข้างเล็กและแออัด ดังนั้น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้ปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าว ให้เป็นพื้นที่ใหม่ ขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อให้เข้าถึงผู้รับบริการ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัย นักศึกษา และประชาชนทั่วไป พร้อมเปิดคลินิก OPD ในการดูแลผู้ป่วย ตรวจโรคทั่วไป ตรวจโรคเฉพาะทางอายุรกรรม สูตินรีเวช โรคทางกระดูกและข้อ ตรวจอาชีวอนามัย บริการฉีดวัคซีน ตรวจทางห้องปฏิบัติการ ถาพถ่ายทางรังสี รับยาต่อเนื่อง ตรวจสุขภาพ และออกใบรับรองแพทย์ ซึ่งขณะนี้มีห้องตรวจทั้งสิ้น 6 ห้องตรวจ ผู้เข้ารับบริการได้แก่ ประชาชนทั่วไป นักศึกษา และบุคลากร โดยสามารถรับบริการได้ทั้ง 3 สิทธิในการรักษาโรค ได้แก่ สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยมีพื้นที่กว้างขวาง เปิดบริการตั้งแต่ 8.00-20.00 น. ในวันทำการ (เสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่ 08.00-16.00 น.)

         ไม่เพียงเท่านี้ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กำลังอยู่ในช่วงเตรียมการเพื่อเปิดบริการในโรงพยาบาลแห่งใหม่ในจังหวัดลำพูน ซึ่งเรียกว่าศูนย์การแพทย์หริภุญไชย คณะแพทยศาสตร์ มช. ซึ่งในขณะนี้ได้ทำการก่อสร้างแล้วเสร็จในระยะที่ 1 เรียบร้อยแล้ว และกำลังดำเนินการก่อสร้างระยะที่ 2 ต่อไป หากดำเนินการแล้วเสร็จโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จะร่วมดำเนินการกับศูนย์บริการทางการแพทย์ หริภุญไชย เพื่อเปิดหอผู้ป่วยแห่งใหม่ จำนวน 200 เตียง และห้องตรวจผู้ป่วยทั้งหมด 16 ห้องตรวจ ห้องฉุกเฉิน จำนวน 5 เตียง ห้องคลอด 2 ห้อง และห้องผ่าตัด 2 ห้อง ทำให้โรงพยาบาลแห่งใหม่แห่งนี้ สามารถบริการได้ในระดับบริการทุติยภูมิ เพื่อง่ายต่อการดูแลผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยสูติกรรม ศัลยกรรม อายุรกรรม กุมาร และศัลยกรรมกระดูก โดยระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างระยะที่ 2 จะเสร็จสิ้น ในช่วงประมาณต้นปี 2567 และคาดว่าศูนย์บริการทางการแพทย์ หริภุญไชย แห่งนี้จะแล้วเสร็จและเปิดบริการได้ประมาณกลางปี 2567
ท้ายที่สุดโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ได้มีแผนการดำเนินการปรับปรุงห้องฉุกเฉิน จากเดิมที่เข้ารับบริการ มีอายุการใช้งานมากกว่า 10 ปี ทำให้เกิดความทรุดโทรม และจำเป็นต้องมีการปรับปรุงทั้งระบบ ดังนั้นจึงได้มีการย้ายห้องฉุกเฉินไปยังบริเวณด้านหลัง บริเวณที่ให้บริการยาเคมีบำบัดผู้ป่วย ซึ่งแต่เดิมเรียกว่าเป็น ER เก่า โดยการย้ายห้องฉุกเฉินดังกล่าวนี้จะเริ่มดำเนินการในวันที่ 9 มกราคม 2566 ดังนั้นเมื่อประชาชนทั่วไปเข้ามารับบริการ จะได้รับบริการห้องฉุกเฉินนี้เป็นการชั่วคราวก่อน เป็นระยะเวลา 6 เดือน ทั้งนี้ทางโรงพยาบาลจะมีการประชาสัมพันธ์อย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้ป่วยที่เข้ารับบริการยังห้องฉุกเฉินได้เข้าถึงการใช้บริการได้อย่างไม่ติดขัด หากห้องฉุกเฉินนี้ได้รับการปรับปรุงเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะเร่งดำเนินการย้ายกลับมายังที่เดิม ณ อาคารเฉลิมพระบารมี โดยจะมีศักยภาพการให้บริการเพิ่มมากขึ้น มีการบริการห้อง X-ray computer ใหม่ ห้องสวนหัวใจและหลอดเลือดรวมถึง ห้องตรวจ MRI และให้พื้นที่ให้บริการเพิ่มขึ้น เพื่อความสะดวกสบายแก่ผู้ป่วย สะดวกไม่แออัด และจะเป็นห้องฉุกเฉินที่มีระบบดิจิตอลและระบบการดูแลผู้ป่วยทางไกล แบบครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนืออีกด้วย.

         ฝากประชาสัมพันธ์การจัดระเบียบทางเดิน
-พาหนะต้องห้ามที่ห้ามขึ้นตึกได้แก่ จักรยาน,scooter ไฟฟ้า ,Hoverboard
-หากประชาชนเดิน และเข็นรถเข็ญ ให้ชิดซ้าย ทุกเส้นทาง
-จำกัดความเร็วรถขนของไฟฟ้า ไม่เกิน 5 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง ในพื้นที่ที่คับคั่ง และ 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในพื้นที่โล่ง (จะกำหนดเส้นทางอีกครั้ง)
-กำหนดเส้นทางเดินรถขนของไปได้เฉพาะบางเส้นทางเท่านั้น
การดำเนินการปิดบริการลิฟท์เพื่อเปลี่ยนลิฟท์อาคารศรีพัฒน์ และอาคารสุจิณฺโณ
โดยจะเริ่มดำเนินการระยะเวลา 12 เดือน ทำให้มีจำนวนลิฟท์ที่ให้บริการโดยรวมลดลง โรงพยาบาลจึงมีความจำเป็นต้องจะปรับกระบวนการบริการเพื่อลดการใช้ลิฟท์ของอาคารศรีพัฒน์ดังต่อไปนี้
- เพิ่มการส่งยาทางไปรษณีย์ เพื่อลดความแออัดในช่วงที่มีการปิดซ่อมลิฟท์
- จัดการนัดหมายเป็นช่วงเวลาในแต่ละห้องตรวจ
- จัดระบบคัดกรองใบนัด ก่อนเข้าแถวขึ้นลิฟท์
- อนุญาตให้ผู้ป่วยและญาติที่มาเข้ารับบริการที่อาคารศรีพัฒน์ ให้ขึ้นลิฟท์ได้ ในช่วง 1 ชั่วโมงก่อนถึงเวลานัด
- จัดระเบียบการเข้าแถวเพื่อรอขึ้นลิฟท์
- ญาติผู้ป่วยที่นอนในส่วนของศรีพัฒน์ ขอให้มีบัตรผ่านเพื่อขึ้นลิฟท์


ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#ผู้บริหารคณะแพทย์
#MedCMU #MedCMUในมือคุณ
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#สื่อสารองค์กรMedCMU

แกลลอรี่