ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยถึง การรับเคสผู้ป่วยต่างชาติเข้ามาทำการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ ในขณะนี้ว่าผู้ป่วยกำลังอยู่ในความดูแลของทีมแพทย์โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทย์ มช. นำโดย ผศ.นพ.อานนท์ โชติรสนิรมิต หัวหน้าหน่วยศัลยศาสตร์ระบบทางตับ ทางเดินน้ำดี และตับอ่อน , รศ.นพ.สัณหวิชญ์ จันทร์รังสี และ ผศ.นพ.วรกิตติ ลาภพิเศษพันธุ์ อาจารย์แพทย์ประจำหน่วยฯ ซึ่งการผ่าตัดรักษาผ่านพ้นไปด้วยดี นับเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นความภูมิใจของ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ด้วย ที่สามารถรับเคสคนไข้จากต่างประเทศ มาทำการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจนับได้ว่าเป็นความสำเร็จครั้งแรกๆ ของอาเซียนเลยทีเดียว
ผศ.นพ.อานนท์ โชติรสนิรมิต หัวหน้าหน่วยศัลยศาสตร์ระบบทางตับ ทางเดินน้ำดี และตับอ่อนฯ เปิดเผยว่า
ผู้ป่วยรายดังกล่าวเป็นชายชาวบรูไน มีประวัติป่วยเป็นโรคมะเร็งตับ ที่ผ่านมาได้รับการรักษาด้วยวีธีเคมีบำบัด โดยการฉีดยาเข้าเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงตับ รักษามาประมาณ 2 ปี ระยะหลังการรักษาด้วยวิธีเดิมเริ่มไม่ได้ผล จึงเริ่มมองหาวิธีการรักษาด้วยวิธีการอื่น คือวิธีการเปลี่ยนตับ (ปลูกถ่ายตับ) ซึ่งการรักษาแบบนี้ได้ผลดี แต่ก็มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง โดยผู้ป่วยพยายามมองหาประเทศที่มีศักยภาพที่จะสามารถรักษาด้วยวิธีดังกล่าวได้ ทราบว่าติดต่อไปหลายประเทศ ก่อนจะตัดสินใจเลือกมารักษาที่ประเทศไทย
สำหรับแผนการรักษาผู้ป่วย รศ.นพ.สัณหวิชญ์ จันทร์รังสี เปิดเผยว่า เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในการรักษาผู้ป่วยเคสปลูกถ่ายตับลึกษณะนี้ จึงเป็นการยากที่มีผู้บริจาคอวัยวะสมองตาย แต่โชคดีที่ผู้ป่วยมีบุตรสาวบริจาคตับบางส่วนให้ จึงสามารถทำการรักษาได้ทันที ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการวางแผนมาบ้างแล้วจากทางแพทย์บรูไน เมื่อมาถึงรพ.มหาราชฯ ก็สามารถดำเนินการต่อได้เลย ทางทีมแพทย์เองก็มีความมั่นใจในเทคนิคนี้มาก เพราะที่เชียงใหม่ มีจำนวนเคสปลูกถ่ายตับผู้ใหญ่จากผู้บริจาคที่มีชีวิตมากที่สุดในประเทศไทย คือ 40 ราย นอกจากนี้แล้วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเรายังมีสถิติการรักษาด้วยเทคนิคดังกล่าวมากเป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาคอาเซียนด้วย
ผศ.นพ.วรกิตติ ลาภพิเศษพันธุ์ เปิดเผยว่า การรักษาผู้ป่วยด้วยเทคนิควิธีการปลูกถ่ายตับ ทางรพ.มหาราชฯ ได้ดำเนินการไปแล้วหลายราย เป็นการผ่าตัดตับจากผู้บริจาคด้วยการส่องกล้องทั้งหมด จนถึงขณะนี้รักษาไปกว่า 10 รายแล้ว ทุกรายผลเป็นที่น่าพอใจ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงเกิดขึ้นกับผู้บริจาค ทั้งนี้การผ่าตัดผ่านการส่องกล้องเป็นวิธีที่มีความสะดวกปลอดภัยมาก เพราะแผลเล็กกว่าการผ่าตัดเปิด ทำให้ระยะเวลาในการฟื้นตัวของผู้บริจาคเร็วขึ้น เฉลี่ยนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพียง 5-7 วัน ผู้บริจาคก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เป็นปกติ ภายใน 1-2 สัปดาห์ต่อมาร่างกายก็จะแข็งแรงเหมือนเดิม โดยผู้บริจาค และผู้ป่วยทุกรายได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากทางทีมแพทย์ พยาบาล ของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
ด้านคุณกันยา อุดมสิน พยาบาลประสานงานปลูกถ่ายตับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ กล่าวถึงเคสผู้ป่วยชาวบรูไนรายนี้ว่า ถือเป็นผู้ป่วยต่างชาติเคสแรกที่รพ.มหาราชฯ รับเข้ามารักษาโดยวิธีการปลูกถ่ายตับจากผู้บริจาคที่มีชีวิต โชคดีที่ทางบรูไนได้เตรียมความพร้อมในส่วนของผู้ป่วยมาพอสมควร โดยก่อนส่งตัวมารักษามีการได้ประสานส่งข้อมูลต่างๆ ของผู้ป่วยมาให้ทางทีมแพทย์พิจารณาก่อนเนื่องจากเป็นการผ่าตัดผู้ป่วยต่างชาติ จึงต้องมีการตรวจสอบกับทางสภากาชาดฯ ในรายอะเอียดต่างๆ พอสมควร ซึ่งเคสนี้ก็ไม่มีปัญหาเนื่องจากทางสถานกงสุลบรูไน ได้ออกหนังสือรับรองยืนยันความสัมพันธ์เป็นพ่อและลูกกันจริง จึงทำให้มีการรักษาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
คุณพัชรินทร์ เนตรสว่าง หัวหน้าหอผู้ป่วยพิเศษ 7 ฝ่ายการพยาบาล กล่าวถึงการดูแลผู้ป่วยหลังการผ่าตัดว่า ทีมพยาบาลเรามีการเตรียมความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มที่ตามมาตรฐานของโรงพยาบาล โดยเน้นที่ความสุขสบายของคนไข้ ให้ความสำคัญกับความสะอาดของสถานที่เป็นหลัก และที่สำคัญที่สุดคือความสะดวกปลอดภัย ไม่ให้คนไข้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ด้วย
ผศ.นพ.อานนท์ โชติรสนิรมิต กล่าวเสริมว่า การผ่าตัดปลูกถ่ายตับจากผู้บริจาคโดยการส่องกล้อง เป็นผลงานที่ทางภาควิชาฯ และคณะแพทยศาสตร์ฯ ภาคภูมิใจ เนื่องจากเป็นแห่งแรกของประเทศไทยที่ทำได้ และมีจำนวนเคสผู้ป่วยมากที่สุดในระดับประเทศ และระดับอาเซียนด้วย ต้องขอขอบคุณทางคณะแพทย์ฯ ที่ให้การสนับสนุนทุกด้าน และขอบคุณทางทีมงานทุกคนที่ได้ช่วยกันทำหน้าที่ของตนเองอย่างเข้มแข็ง
ติดตามผ่านช่องทาง Youtube : https://youtu.be/UJBIu0UDcuk
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#ปลูกถ่ายตับ #ผ่าตัดผ่านการส่องกล้อง
#MedCMU #MedCMUในมือคุณ
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#สื่อสารองค์กรMedCMU