ไก่ประดู่หางดำ ถือเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ไก่พื้นเมืองยอดนิยมที่ได้รับความสนใจจากเกษตรกรเป็นอย่างมาก เพราะมีลักษณะเด่นตรงกับความต้องการของตลาด เป็นไก่พันธ์เนื้อที่มีอัตราการเจริญเติบโตดี มีรสชาติอร่อย ทำให้ไก่ประดู่หางดำเป็นที่นิยมเลี้ยงของเกษตรกร ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดเป็นโครงการ “จากจมูกถึงหาง” ละเอียด ละเมียด ละมุน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย "ความร่วมมือของ คณะเกษตรศาสตร์ และคณะสัตวแพทย์" ในงานวิจัยยกระดับไก่พื้นเมืองสู่วัตถุดิบเมนูสากลระดับโลก โดยมี อาจารย ดร. วัชรพงศ์ นรพัลลภ หัวหน้าโครงการวิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มนตรี ปัญญาทอง ผู้อำนวยการแผนวิจัย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.สุวิทย์ โชตินันท์ ผู้อำนวยการชุดโครงการวิจัย การขับเคลื่อนเชิงบูรณาการตลอดโซ่อุปทานและโซ่คุณค่าทางเศรษฐกิจของไก่พื้นเมืองไทย.
กว่าจะได้ไก่ที่มีรสชาติอร่อย เป็นเมนูขึ้นโต๊ะอาหารได้อย่างสวยงามนั้น ต้องอาศัยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไก่ประดู่หางดำ จากนักวิจัย ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปี 2564 ในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี มาปรับใช้ในกระบวนการเลี้ยงไก่ ควบคู่กับการให้ความรู้เกษตรกร ตั้งแต่การฟักไข่ การดูแลพ่อแม่พันธุ์ การนำงานวิจัยเข้ามาช่วยในเรื่องการลดต้นทุนอาหารเพื่อให้ขายไก่มีกำไรมากขึ้น หลังจากเมื่อได้ไก่ที่สมบูรณ์แล้ว ในโครงการยังช่วยเรื่องการนำผลิตภัณฑ์ที่ได้จากไก่ไปแปรรูปเป็นอาหารต่างๆ เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่าย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเนื้อไก่ประดู่หางดำที่ได้คุณภาพ ซึ่งนอกจากจะทำเป็นอาหารพื้นเมืองหรืออาหารไทยได้อร่อยแล้ว ยังขึ้นโต๊ะเป็นเมนูอาหารสากลได้อย่างสวยงาม โดยการสร้างสรรค์ของเชฟมืออาชีพจากร้านอาหารชื่อดังในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นเมนูอาหาร เช่น น่องและสะโพกไก่เหลืองบุษราคัมย่างไฟอ่อน ข้าวไร่เดอะแม่นายส์ ไวเนอรี่หุงน้ำสต๊อกไก่เหลืองบุษราคัม ปรุงรสแบบสเปน เครื่องเทศสีเหลืองทอง, สะโพกไก่ประดู่หางดำ วุ้น เทอร์รีน บรั่นดีและสันไนไก่อบในแป้งพัฟ, ไก่เหลืองบุษราคัมต้ามรากบัวกรอบและไก่เหลืองบุษราคัมอบดินกว๊านพะเยา เป็นต้น
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความสำคัญตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ถือเป็นการขับเคลื่อนเชิงบูรณาการตลอดห่วงโซ่อุปทาน โซ่คุณค่าที่นำมาสู่ระบบการผลิตไก่พื้นเมืองได้อย่างประสบความสำเร็จ เป็นการยกระดับไก่พื้นเมืองให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจ เป็นวัตถุดิบที่มีคุณภาพสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหาร สร้างอาชีพให้กับเกษตร เกิดการกระจายรายได้ ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรด้วยการเป็น Smart Farmer ซึ่งจะเสริมรากฐานสู่การเกษตรที่ยั่งยืนต่อไป