รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ เปิดหน่วยสุขศึกษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เพื่อรองรับคัดกรองภาวะแทรกซ้อน และให้บริการคัดกรองตรวจผู้ป่วย

8 กุมภาพันธ์ 2567

คณะแพทยศาสตร์

โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดหน่วยสุขศึกษา โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง(NCDs Education Unit) เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ป่วยในการดูแลตนเอง และคัดกรองภาวะแทรกซ้อน ในวันพฤหัสบดีที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ชั้น 3 อาคารเฉลิมพระบารมี โดยมีรศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธี

รศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เปิดเผยว่า “หน่วยสุขศึกษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs Education Unit) Non-Communicable Diseases (NCDs) เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่เกิดจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งจะมีการดำเนินโรคอย่างช้าๆ ค่อยๆ สะสมอาการอย่างต่อเนื่อง จนทวีความรุนแรง หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันเวลา จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยและคนรอบข้าง การเปิดหน่วยสุขศึกษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังจะนำร่องในผู้ป่วยโรคเบาหวานของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ปี 2566-2567 ประมาณ 30,000 ราย ซึ่งผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่ได้ดูแลตนเองให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์และระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อเท้า ไต ตา ระบบประสาท หัวใจและหลอดเลือดสมอง ทำให้เกิดอาการป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควร การให้ความรู้และการตรวจคัดกรองภาวะเสี่ยงการเกิดโรคแทรกซ้อน จะเป็นการให้ความรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดูแลตนเอง และตระหนักถึงผลกระทบอันร้ายแรงของโรคเบาหวาน ให้รู้ถึงสาเหตุของการเกิดโรคเบาหวาน วิธีป้องกัน และชะลอการเกิดโรคแทรกซ้อน ทำให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข ได้รับการตรวจและรักษาครบถ้วนตามมาตรฐาน ซึ่งโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาการดูแลกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และการสร้างองค์ความรู้ในการดูแลโรคไม่ติดต่อเรื้อรังตามวิสัยทัศน์ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเป็นแนวทางในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอย่างครอบคลุมและเป็นระบบตามแนวทางหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงจัดทำ NCDs Education Unit ขึ้นมา”

ด้านรศ.ดร.พญ.เมตตาภรณ์ พรพัฒน์กุล หัวหน้าหน่วยสุขศึกษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาจารย์หน่วยต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม คณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวว่า “โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง โดยโรคเหล่านี้มีสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เช่น ภาวะอ้วน ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ระดับไขมันในเลือดสูง และระดับความดันโลหิตสูง ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคเบาหวาน ภาวะความดันโลหิตสูง จากสถานการณ์โรคไม่ติดต่อเรื้อรังในปัจจุบัน พบว่าเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของโลกและของประเทศไทย และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตร้อยละ 71 ของการเสียชีวิตในประชากรโลกทั้งหมด ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะทุพพลภาพ รัฐบาลต้องสูญเสียเงินงบประมาณในการดูแลรักษา จากข้อมูลการสำรวจสุขภาพประชากรไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6 เมื่อปี 2562 พบว่า โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงประมาณร้อยละ 25.4 ของประชากรอายุมากกว่า 15 ปี คิดเป็นจำนวนประชากร 14 ล้านคน และมีผู้ป่วยโรคเบาหวานถึงร้อยละ 12.4 เปอร์เซ็นต์ของประชากรที่อายุมากกว่า 15 ปี คิดเป็นจำนวน 5 ล้านคน และ 1 ใน 3 คน ไม่ทราบสาเหตุว่าตนเองเป็นเบาหวานมาก่อน มีเพียง 1 ใน 4 คน เท่านั้นที่สามารถควบคุมสถานะของโรคได้

จากข้อมูลสถิติผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ที่มารับการรักษา ปี 2563-2565 พบว่า 4 อันดับแรก ล้วนเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ ความดันโลหิตสูง โรคไตวาย โรคเบาหวาน และโรคไขมันในเลือดสูง

ด้วยสถานการณ์ของโรคเบาหวานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปัญหาในการควบคุมโรคที่ไม่ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมอง โรคไตวายในอนาคต รพ.มหาราชนครเชียงใหม่จึงจัดให้มีหน่วยสุขศึกษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง(NCDs Education Unit) เพื่อทำหน้าที่ในการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยในการดูแลตนเอง และคัดกรองภาวะแทรกซ้อน โดยดำเนินการนำร่องในผู้ป่วยเบาหวาน ให้บริการตรวจเท้า ตรวจตา และให้ความรู้แก่ผู้ป่วยตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการควบคุมเบาหวาน การป้องกันการเกิดภาวะแรกซ้อนของเบาหวาน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เหมาะสม การดูแลเท้า เป็นต้น”

เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แกลลอรี่