ทำอย่างไรเมื่อลูกติดไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A

13 มีนาคม 2568

คณะแพทยศาสตร์

ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่สามารถติดต่อกันได้ง่ายและรวดเร็ว มีการระบาดได้อย่างฉับพลัน เกิดการติดเชื้อได้ในทุกช่วงอายุ พบได้ตลอดทั้งปี แต่มักระบาดมากในช่วงฤดูฝนถึงฤดูหนาว หากร่างกายไม่แข็งแรงหรือมีภูมิต้านทานไม่เพียงพอ อาจทำให้มีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อได้ง่าย
อ.พญ.สิปาง ปังประเสริฐกุล อาจารย์ประจำสาขาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า “ตามรายงานกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี 2567 มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สะสมกว่า668,027 ราย ซึ่งสูงกว่าปี 2566 ประมาณ 1.39 เท่า และมีผู้เสียชีวิตรวม 51 ราย โดยเจอในเด็กที่อายุต่ำที่สุด 2 เดือน จากข้อมูลตรวจพบเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A/H1N1 (2009) มากที่สุด รองลงมาคือ สายพันธุ์ A (H3N2) และตั้งแต่ต้นปี 2568 จนถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568 พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สะสมจำนวนกว่า 75,936 ราย โดยกลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือ เด็กอายุ 5-9 ปี
โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) มี 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ A, B และ C ดังนั้น สำหรับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ก็คือการติดเชื้อสายพันธุ์ A ซึ่งพบได้บ่อยค่ะ ซึ่งเชื้อไวรัสชนิด A แบ่งเป็นชนิดย่อยได้อีกค่ะ ตามความแตกต่างของโปรตีนของไวรัส เช่น H1N1, H3N2 การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสเกิดได้จากการไอ จาม หรือการสัมผัสสารคัดหลั่งที่มีเชื้อจากน้ำมูกหรือน้ำลาย รวมถึงการใช้สิ่งของร่วมกัน


อาการของไข้หวัดใหญ่ พบได้ตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงอาการรุนแรง ส่วนมากอาการทั่วไป ได้แก่ มีไข้สูงฉับพลัน 39-40 องศาเซลเซียส ไอมาก ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร คลื่นไส้ และอ่อนเพลีย ในบางรายอาจมีอาการรุนแรงและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ปอดบวม กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สมองอักเสบ ซึ่งอาจทำให้รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคปอด หอบหืด เบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ ธาลัสซีเมีย โรคอ้วน ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และในหญิงตั้งครรภ์


ความแตกต่างระหว่างไข้หวัดใหญ่กับไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่มักมีอาการเริ่มต้นอย่างเฉียบพลัน เช่น ไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย และไอมาก ในขณะที่ไข้หวัดธรรมดาจะมีอาการค่อยเป็นค่อยไป มีเจ็บคอ คัดจมูก จาม น้ำมูกไหล ไม่ค่อยมีไข้สูงหรืออาการปวดเมื่อยรุนแรง และพบภาวะแทรกซ้อนได้น้อย
นอกจากนี้ไข้หวัดใหญ่มักจะรุนแรงและมีอาการอ่อนเพลียยาวนานกว่าไข้หวัดธรรมดา
สำหรับวิธีการรักษาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ในกรณีที่อาการไม่รุนแรงและไม่มีปัจจัยเสี่ยง แนะนำให้รักษาตามอาการ เช่น เช็ดตัวลดไข้ และกินยาลดไข้พาราเซตามอลโดยหลีกเลี่ยงยากลุ่มแอสไพริน ให้ยาบรรเทาอาการไอ พักผ่อนให้เพียงพอและดื่มน้ำเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ หากมีอาการรุนแรงหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรได้รับยาต้านไวรัส Oseltamivir เพื่อช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาของโรค โดยแนะนำให้เร็วที่สุดภายใน 48 ชั่วโมงหลังเริ่มมีอาการ


การป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A มีหลายวิธี วิธีหนึ่งที่สำคัญ คือการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ มีทั้งชนิด 3 สายพันธุ์และ 4 สายพันธุ์ ซึ่งในที่นี้ประกอบไปด้วยทั้งสายพันธุ์ A และ B ที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ลดภาวะแทรกซ้อนและความรุนแรงของโรค สามารถฉีดได้ในบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป(หากไม่มีข้อห้าม) สำหรับเด็กที่ไม่เคยรับวัคซีนมาก่อน และอายุน้อยกว่า 9 ปีนั้น ในปีแรกของการฉีดวัคซีนจะแนะนำให้ฉีด 2 เข็มห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อให้ภูมิคุ้มกันขึ้นดี หลังจากนั้นให้ฉีดวัคซีนปีละ 1 ครั้ง ขอเน้นย้ำโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงสูงที่มีโรคประจำตัว อายุเกิน 65 ปี หญิงตั้งครรภ์ ควรได้รับวัคซีนปีละ 1 ครั้ง โดยช่วงเวลาที่ควรเริ่มฉีดวัคซีนแนะนำเป็นช่วง 1-2 เดือนก่อนฤดูการระบาดของไข้หวัดใหญ่ คือก่อนเข้าฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงต้นของการระบาด อย่างไรก็ตามสามารถที่จะฉีดวัคซีนแม้ว่าจะเริ่มมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ไปแล้วก็ตาม


นอกจากการฉีดวัคซีนแล้ว ควรปฏิบัติตามข้อแนะนำเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ได้แก่ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย หากมีอาการควรหยุดพักรักษาตัวเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ
สาเหตุที่ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี เนื่องจากไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ทุกปี การฉีดวัคซีนทุกปีจะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค”


ข้อมูลโดย : อ.พญ.สิปาง ปังประเสริฐกุล อาจารย์ประจำสาขาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.
เรียบเรียงโดย : นางสาว.ธัญญลักษณ์ สดสวย
รับฟังรายการPodcasts เพิ่มเติมได้ที่ช่องทาง : : https://cmu.to/mtjRb
#ไข้หวัดใหญ่ #ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ #ฟังforhealth #Podcasts #65thMedCMU #MedCMU #MedCMUในมือคุณ #คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ #สื่อสารองค์กรMedCMU

แกลลอรี่