คณะวิทย์ มช. เปิดการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 17 นำนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกจากทั่วประเทศ ร่วมประลองทักษะทางชีววิทยา เฟ้นหาตัวแทนประเทศไทยก้าวเข้าสู่การแข่งขันระดับโลก มุ่งกระตุ้นเด็กไทยใส่ใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระหว่างวันที่ 5-9 ธันวาคม 2563 ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
วันที่ 5 ธันวาคม 2563 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดพิธีเปิดการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 17 : 17th Thailand Biology Olympiad (17th TBO) ณ ห้อง SCB2100 อาคาร 40 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มช. โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธี โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ธรณินทร์ ไชยเรืองศรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มช. และประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดการแข่งขันฯ กล่าวรายงานการจัดการแข่งขันฯ
สำหรับการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการสาขาชีววิทยา ประเทศไทยได้เริ่มส่งนักเรียนไปแข่งขันครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2534 จากนั้นได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับนานาชาติ ครั้งที่ 6 เมื่อปี พ.ศ. 2538 และเริ่มจัดการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2547 เพื่อเตรียมความพร้อมของนักเรียนที่จะเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติ
การจัดการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 17 นี้ กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-9 ธันวาคม 2563 ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยการสนับสนุนจากมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (มูลนิธิ สอวน.) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) มีนักเรียนจากศูนย์ สอวน. ทั่วประเทศ และนักเรียนจาก สสวท. เข้าร่วมการแข่งขันจำนวน 95 คน อาจารย์และครูผู้สังเกตการณ์จากแต่ละศูนย์จำนวน 44 คน พร้อมทั้งมีนักศึกษาพี่เลี้ยงและนักศึกษาช่วยงาน คณาจารย์ และบุคลากรคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ประมาณ 300 คน
การจัดการแข่งขันนี้ นอกจากจะมีเป้าหมายเพื่อคัดเลือกนักเรียนระดับมัธยมศึกษาเข้าร่วมอบรมค่ายโอลิมปิกวิชาการ ในโครงการคัดเลือกผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระหว่างประเทศ ของ สสวท. แล้ว ยังมุ่งส่งเสริมให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศที่มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์ ได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพวิชาการ ทั้งภาคทฤษฎีและทักษะด้านปฏิบัติการ สามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ และแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อนได้ รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักเรียนและอาจารย์ผู้สอนได้พัฒนาศักยภาพทั้งด้านการเรียนและการสอน และมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างอาจารย์จากศูนย์
สอวน. ทั่วประเทศ
สำหรับการทดสอบ ข้อสอบภาคปฏิบัติจะเน้นทักษะการทดลอง ส่วนการตรวจข้อสอบและประเมินผลจะดำเนินการโดยคณะกรรมการฝ่ายวิชาการ ในส่วนของการมอบรางวัลจะมีการจัดลำดับเป็นรางวัลเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง โดยใช้เกณฑ์มาตรฐานที่ตกลงร่วมกันระหว่างคณะกรรมการฝ่ายวิชาการและอาจารย์ผู้แทนศูนย์ นอกจากนั้น ยังมีรางวัลพิเศษต่าง ๆ ได้แก่ รางวัลคะแนนรวมสูงสุด รางวัลคะแนนภาคทฤษฎีสูงสุด รางวัลคะแนนภาคปฏิบัติการสูงสุด และรางวัลคะแนนรวมสูงสุด 4 ภูมิภาค
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชื่อมั่นว่าการแข่งขันครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีทักษะความสามารถสูงสำหรับประเทศไทยในอนาคต และที่สำคัญคือ จะสามารถคัดเลือกนักเรียนที่มีความเหมาะสมไปแข่งขันในระดับนานาชาติ เพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย และสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนวิทยาศาสตร์ให้กับเยาวชนรุ่นต่อ ๆ ไป
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมส่งกำลังใจเยาวชนที่เข้าร่วมแข่งขันให้ทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ และร่วมกันส่งเสริมเยาวชนไทยให้ได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต
ติดตามรายละเอียดการแข่งขันได้ที่ https://www.facebook.com/17thTBO