ปลูกผักปลอดสารพิษในกระถาง ทานเองปลอดภัย ต้านภัยโควิด - 19

22 มิถุนายน 2564

คณะเกษตรศาสตร์

ในปัจจุบันผลผลิตพืชผักมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในการผลิตผักในปริมาณที่สูง เพื่อให้ได้ผลผลิตที่สวยงามตามความต้องการของตลาด เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนสารเคมีในผลผลิตทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค ในสถานการณ์ COVID – 19 แบบนี้ เชื่อว่าหลายๆ ท่านคงมีเวลาดูแลใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น  ทั้งเรื่องสุขอนามัยและอาหารการกินที่บริโภคในชีวิตประจำวัน และคาดหวังว่าพืชผักปลอดสารพิษเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายในการป้องกันและต้านเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยในการทานผักปลอดสารพิษ การปลูกผักกระถางนับเป็นทางเลือกหนึ่ง โดยที่ผู้ปลูกสามารถใช้พื้นที่ขนาดเล็ก การดูแลรักษาไม่ยุ่งยากและเหมาะกับวิถีชีวิตสมัยใหม่ของผู้คนในเมืองรวมถึงสามารถทำให้ได้ผลผลิตผักปลอดสารพิษเพื่อบริโภคทานเองได้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับวิธีการปลูกผักปลอดสารพิษในกระถางเพื่อการบริโภคในพื้นที่จำกัด ศูนย์วิจัยระบบทรัพยากรเกษตร (ศวทก.) โดยคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แนะนำให้มีการวางแผนการปลูกที่ถูกต้อง เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ได้คุณภาพความปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ มีขั้นตอนง่ายๆ ไม่กี่ขั้นตอนดังนี้ เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ผัก ชนิดผักใบอายุสั้น ที่มีอายุการเก็บเกี่ยว 30 - 45 วัน ที่นิยมนำมาปลูกในกระถาง เช่น คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง ผักโขม และสลัดใบ เริ่มจากขั้นตอนการเตรียมส่วนผสมดินปลูกก่อน ใช้มูลไก่ 1 ส่วน, แกลบเผา 1 ส่วน, แกลบดิน 3 ส่วน และดินร่วนหรือปุ๋ยหมัก 3 ส่วน คลุกเคล้าให้เข้ากัน นำกระถางขนาด 12 นิ้ว มาบรรจุดินผสมตามอัตราส่วนข้างต้น ใส่ลงในกระถางให้เต็ม โรยเมล็ดผักที่จะปลูกลงในกระถางปริมาณครึ่งช้อนชา ใช้ดินร่วนกลบเมล็ดบางๆ และรดน้ำให้ชุ่ม วางแผนการปลูกเป็นรุ่นๆ ห่างกัน 5-7 วัน จัดวางกระถางผักไว้ที่โล่ง รับแสงแดดได้ตลอดวัน รดน้ำทุกวันวันละ 1 ครั้งให้ชุ่ม หลังจากหยอดเมล็ดได้ 5-7 วัน เมล็ดผักจะเริ่มงอก
ต้นกล้าอายุประมาณ 15-20 วัน ควรคัดต้นกล้าแออัดกัน ต้นสมบูรณ์ควรย้ายปลูกกระถางต่อไป ส่วนกล้าที่อ่อนแอควรถอนทิ้ง การใส่ปุ๋ยใช้เคมีสูตร 46-0-0 ละลายน้ำในอัตราส่วน 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 10 ลิตร รดเมื่ออายุผักได้ 10 วัน และ 17 วัน เพื่อเร่งการเจริญเติบโต เมื่ออายุ 25-30 วัน ผักบุ้งและผักโขมสามารถเก็บเกี่ยวได้ ส่วนผัก คะน้า กวางตุ้ง และสลัด อาจจะรดปุ๋ยเพิ่มอีกสัก 1 ครั้ง หมั่นตรวจดูแมลงศัตรูพืชรอบๆ เมื่อพบควรกำจัดทันที ส่วนผักคะน้า กวางตุ้ง และผักสลัด อายุ 40-45 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวบริโภคได้ ทำให้มีผักปลอดสารพิษบริโภคหมุนเวียนกันตลอดทั้งปีด้วยฝีมือตนเอง

เพียงไม่กี่ขั้นตอนการปลูกง่ายๆ นี้ ก็จะมีผักปลอดสารพิษที่มั่นใจในความปลอดภัยทุกขั้นตอน นอกจากเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์แล้ว ยังช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวในที่อยู่อาศัย และเป็นการผลิตอาหารที่ปลอดภัยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีต้านภัยโควิด -19 อีกด้วย ท่านที่สนใจกระบวนการผลิตพืชผักปลอดสารพิษปลอดภัย สามารถสั่งซื้อผลผลิตของศูนย์วิจัยระบบทรัพยากรเกษตร (ศวทก.) โดยคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือขอคำแนะนำ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มช. หรือ โทรสอบถาม 053-944088 ในวันเวลาราชการ

แกลลอรี่