วิตามิน อาหารเสริม “ทานอย่างไรให้ปลอดภัย”

12 กรกฎาคม 2567

คณะแพทยศาสตร์

วิตามินหรืออาหารเสริมมีความจำเป็นต่อร่างกายมากน้อยแค่ไหน ถ้าเรารับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ร่างกายแข็งแรง ไม่มีความเสี่ยงต่อภาวะการขาดวิตามิน ไม่จำเป็นต้องรับวิตามินเสริม แต่ในบางกลุ่มมีภาวะบางอย่าง อาจจะมีการขาดวิตามินได้ จึงจำเป็นจะต้องรับประทานวิตามินเสริม


อาการขาดวิตามิน
อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร ท้องผูก ชาตามปลายมือปลายเท้า มีปัญหาเรื่องของผิวหนัง ผิวแห้ง ผิวหนังอักเสบ และมีปัญหาเรื่องการมองเห็นได้


ปัจจัยที่ทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการขาดวิตามิน
มีปัจจัยมากมายที่ทำให้ร่างกายขาดวิตามิน เช่น ในวัยทำงาน เพราะต้องใช้ร่างกายและสมอง รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตไลฟ์สไตล์ ความเครียด การนอนหลับไม่เพียงพอ อาจทำให้รับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ได้ อาหารในแต่ละมื้อที่รับประทาน อาจมีวิตามินที่น้อยเกินไปโดยเฉพาะอาหารที่เป็นของทอด ทำให้มีวิตามินในอาหารน้อยลง และไม่มีอาหารต้านอนุมูลอิสระ รวมทั้งอาหารที่ผ่านความร้อนเป็นเวลานาน อาหารที่ทำให้สุกนานเกินไปก็อาจจะทำให้วิตามินน้อยลงได้


• ผู้ที่ร่างกายมีความต้องการวิตามินมากขึ้น เพราะร่างกายใช้พลังงานมากขึ้น ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ มารดาที่ให้นมบุตร ผู้ที่ต้องใช้พลังงานมาก เช่นนักกีฬา ผู้ที่ออกกำลังกายมากกว่าปกติ ผู้ป่วยบางโรค ผู้ที่มีสภาวะบางอย่างที่เป็นปัจจัยให้ร่างกายขาดวิตามินได้เช่น ผู้ที่ท้องเสีย ร่างกายจะดูดซึมวิตามินได้น้อยลง ผู้ที่มีลำไส้ดูดซึมบกพร่อง มีประวัติการผ่าตัดลำไส้ ผู้ป่วยโรคตับ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีวิตามินสร้างได้ไม่ดี ทำให้ร่างกายได้รับวิตามินหรือเกลือแร่ไม่เพียงพอ

• ผู้สูงอายุ เมื่ออายุมากขึ้นระบบย่อยอาหาร การดูดซึมอาหารลดลง ผู้สูงอายุหลายคนมีปัญหาเรื่องเหงือกและฟัน ทำให้ทานได้น้อยลง ทำให้ความอยากอาหารลดลงได้ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผู้สูงอายุได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ
• ผู้ที่รับประทานอาหารบางอย่างที่ไปรบกวนการดูดซึมหรือทำลายวิตามินมากขึ้น เช่น ชา กาแฟ ปลาร้า แหนมดิบ ปลาน้ำจืดดิบ จะทำลายวิตามินบี1 มากขึ้น แอลกอฮอล์ ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ มีโอกาสขาดวิตามินบี 1 ได้ เพราะแอลกอฮอล์ลดการดูดซึมของวิตามินบี 1 ที่ลำไส้
• ผู้ที่รับประทานยาบางชนิด ทำให้ลดการดูดซึมได้ ยาลดกรดที่มีส่วนผสมของอะลูมิเนียมและแมกนีเซียม เช่น ยาน้ำลดกรดที่มีลักษณะสีขาวขุ่น ที่ทานลดอาการปวดท้อง แสบท้อง ยากลุ่มนี้จะลดการดูดซึมวิตามินบี 12 แคลเซียม และธาตุเหล็กได้ ถ้าจำเป็นต้องรับประทานยาจริงๆ ต้องทานยาห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง ยาปฏิชีวนะบางชนิด ยาฮอร์โมนไทรอยด์ ที่สามารถไปจับกับแคลเซียม แมกนีเซียม และธาตุเหล็กในระบบทางเดินอาหารได้ ทำให้การดูดซึมของยา และแร่ธาตุเหล่านั้นลดลงได้
วิตามินและแร่ธาตุที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย
• วิตามินบี มีความจำเป็นต่อการใช้พลังงานของร่างกาย การทำงานของระบบประสาท การสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง การขาดวิตามินดีจะทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ส่งผลต่อระบบประสาทและกล้ามเนื้อได้ ทำให้มีอาการรับรู้ช้าลง หลงลืมได้ง่าย ชาตามปลายมือปลายเท้า เพราะฉะนั้นจึงต้องหาอาหารที่มีวิตามินบีสูงมารับประทาน อาหารที่มีวิตามินบีสูงได้แก่ เนื้อสัตว์ ตับ ธัญพืชที่เป็นเมล็ด นม ผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ ผักใบเขียว และถั่ว
• วิตามินซี มีความสำคัญต่อการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน มีส่วนในการเสริมสร้างคอลลาเจนเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็ก มีฤทธิ์ต่อการต้านอนุมูลอิสระ การขาดวิตามินซี จะนำไปสู่โรคลักปิดลักเปิดได้ มีอาการอ่อนเพลีย แผลหายช้า ภูมิคุ้มกันอ่อนแอได้ แหล่งอาหารที่มีวิตามินซีสูง ได้แก่ ผลไม้รสเปรี้ยว ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ผักใบเขียว ผักสีแดง และสีเหลือง
• วิตามินดี เป็นวิตามินที่มีบทบาทสำคัญในการรักษาสุขภาพของกระดูกและระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยการดูดซึมแคลเซียม และฟอสฟอรัสจากอาหาร ถ้าขาดวิตามินดี อาจทำให้เกิดโรคกระดูกอ่อนในเด็ก และโรคกระดูกพรุนในผู้ใหญ่ได้ แหล่งที่มาของวิตามินดีมาจากอาหาร และแสงแดดอ่อนๆ อาหารที่มีวิตามินดีสูง ได้แก่ ปลาบางชนิด เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคาเรียล น้ำมันตับปลา ไข่แดง นม และผลิตภัณฑ์จากนม
• แร่ธาตุ ได้แก่ แคลเซียม เป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟัน มีบทบาทสำคัญในการทำงานของกล้ามเนื้อ การส่งสัญญาณประสาท แหล่งของอาหารที่มีแคลเซียมสูงเช่น ผลิตภัณฑ์จากนม ผักใบเขียว ปลาเล็กปลาน้อย และถั่ว
• ธาตุเหล็ก และสังกะสี สร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง และลำเลียงออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ แหล่งอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ ตับ ผักใบเขียวเข้ม และธัญพืช ไม่ควรรับประทานธาตุเหล็กกับแคลเซียมหรืออาหารที่มีแคลเซียมสูงพร้อมกัน เพราะแคลเซียมจะไปยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็ก
• แอสต้าแซนธิน เป็นสารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ มีลักษณะทำให้เกิดสีแดงส่วนมากจะพบในสิ่งมีชีวิตในทะเล เช่น สาหร่ายสีแดง สัตว์ที่เข้าไปกินสาหร่าย เช่น ปู กุ้ง ปลาแซลมอน โดยแอสต้าแซนธิน เป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่มีฤทธิ์ที่สูงในการต้านอนุมูลอิสระ และมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ สำหรับงานวิจัยที่เกี่ยวข้องคือ การป้องกันการเกิดโฟโต้เอจจิ้ง หรือการเกิดผิวชราจากรังสียูวี โดยขนาดแนะนำตามการวิจัยคือ 4-12 มิลลิกรัมต่อวัน รับประทานติดต่อกัน 2 เดือน แนะนำให้รับประทานหลังอาหารเพื่อเพิ่มการดูดซึม
ในเรื่องของความปลอดภัยของยา หากรับประทานแอสต้าแซนธินในปริมาณที่สูง อาจทำให้อุจจาระมีสีเหลือง สีส้มได้ เพราะเป็นแคโรทีนอยด์
ผู้ที่มีประวัติการแพ้อาหารทะเลควรจะเลี่ยงการใช้ รวมถึงหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรเพราะยังไม่มีงานวิจัยแน่ชัดว่าสามารถใช้ในคนกลุ่มนี้ในระยะยาวแล้วจะปลอดภัยหรือไม่
แอสต้าแซนธิน สามารถไปยับยั้งเอนไซม์จากตับได้ จะเป็นเอนไซม์จากกลุ่ม Cytochrome P450 เป็นเอนไซม์ที่ปฏิกิริยาในกระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพของยาหลายชนิด เช่น กลุ่มยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด และยานอนหลับบางตัว ซึ่งอาจทำให้ระดับยาในเลือดเปลี่ยนแปลงไป ไม่เป็นไปตามที่เราต้องการได้ ส่งผลต่อผลลัพธ์การรักษาและความปลอดภัยได้
เคล็ดลับการรับประทานวิตามินเสริมอย่างปลอดภัย
• ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือมียาที่รับประทานเป็นประจำ จะต้องปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนจะเริ่มทานวิตามิน เพราะวิตามินบางตัวจะมีปฏิกิริยากับยาที่ทานอยู่ได้
• ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรต้องปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินความต้องการและปริมาณที่เหมาะสมของวิตามิน ไม่ควรที่จะซื้อสมุนไพร และอาหารเสริมมารับประทานเองเพราะอาจจะส่งผลต่อทารกในครรภ์หรือผ่านไปยังน้ำนมได้
เมื่อเราเลือกว่าต้องทานอาหารเสริมหรือวิตามิน เราต้องอ่านฉลากอย่างละเอียด เลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือ อย. ต้องมาจากบริษัทที่ได้มาตรฐานและหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่อ้างสรรพคุณเกินจริงอย่างเช่น ฤทธิ์ในการรักษาโรค ต้องตรวจสอบส่วนผสมและปริมาณสารอาหารที่บรรจุก่อนที่จะนำมารับประทาน ไม่ควรซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณสารอาหารที่มากเกินความจำเป็นของร่างกาย เพราะจะทำให้ร่างกายทำงานหนักมากขึ้นในการขับสารอาหารส่วนเกินนั้นออกมา ระวังการทานเกินขนาดเช่น วิตามินซี ถ้าทานมากเกินไปอาจทำให้มีอาการปวดท้อง ท้องเสีย หรือเป็นนิ่วในไตได้ ไม่ควรทานวิตามิน หรืออาหารเสริมเพื่อรักษาการป่วยหรือใช้แทนยารักษาโรคเพราะไม่มีฤทธิ์ในการรักษาโรค เพียงแต่เป็นตัวเสริมเท่านั้น ไม่ได้มีฤทธิ์ในการรักษาโรคเหมือนยา


ดังนั้น การรับประทานอาหารที่หลากหลายและครบถ้วนตามหลักโภชนาการเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการดูแลรักษาสุขภาพ หากประเมินแล้วว่าเสี่ยงต่อการขาดวิตามินต้องทานอย่างถูกวิธี ไม่เกินปริมาณที่แนะนำ นอกจากนั้นควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เภสัชกร เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดและปลอดภัยต่อร่างกาย


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ภญ.นนธนิท ชัยมงคล เภสัชกรงานบริการจ่ายยาผู้ป่วยนอก ฝ่ายเภสัชกรรม รพ.มหาราชนครเชียงใหม่
เรียบเรียง: นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แกลลอรี่