วันเอดส์โลก (World AIDS Day) วันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันเอดส์โลก

4 ธันวาคม 2566

คณะแพทยศาสตร์

Theme of World AIDS day 2023
องค์การอนามัยโลกกำหนดให้วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันเอดส์โลก (World AIDS Day) เพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันการติดเชื้อHIV และโรคเอดส์ ยอมรับและเข้าใจผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลก และในปีนี้ได้กำหนดแนวคิดการรณรงค์ คือ “Let Communities Lead” เป็นการมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ในการสนับสนุนให้ชุมชน องค์กร และกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะเยาวชน โดยมีบทบาทสำคัญ ในการสร้างความตระหนักในการป้องกัน และเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน ซึ่งจะนำไปสู่การยุติปัญหาเอดส์ได้ภายในปี 2573


เชื้อ HIV และโรค AIDS แตกต่างกันอย่างไร ?
HIV ย่อมาจาก human immunodeficiency virus เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยเชื้อ HIV จะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่เรียกว่า CD4 (ซีดีโฟร์) ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันโรคของร่างกายลดต่ำลง จนทำให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อโรคฉวยโอกาสต่างๆ เช่น วัณโรค เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อรา ปอดอักเสบจากเชื้อรา รวมทั้งเกิดมะเร็งบางชนิดได้มากกว่าคนปกติ ซึ่งอาการอาจจะรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป และอาจเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต อย่างไรก็ตามผู้ที่ติดเชื้อ HIV ที่ยังมีระบบภูมิคุ้มกันโรคที่ดีพอสมควร เราจะเรียกว่า “ผู้ติดเชื้อ HIV” และผู้ที่ติดเชื้อ HIV ที่มีภูมิคุ้มกันโรคต่ำลงจนกระทั่งมีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเกิดอาการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อฉวยโอกาสเราจะเรียกว่า “ผู้ป่วยเอดส์ (AIDS)”


สถานการณ์ผู้ป่วย HIV เป็นอย่างไรบ้าง ?
ข้อมูลล่าสุดจากปี 2565 รายงานว่า มีประชากรที่ติดเชื้อ HIV อยู่ประมาณ 40 ล้านคนทั่วโลก สำหรับประเทศไทยพบว่า มีจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อทั้งสิ้น 560,000 ราย (จำนวนผู้ป่วยสะสม) โดยเป็นผู้ป่วยรายใหม่ 9,200 ราย และมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากเอดส์ 11,000 ราย โดยจังหวัดเชียงใหม่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของในการมีผู้ป่วยติดเชื้อ HIV รายใหม่มากที่สุดที่ในประเทศไทย
การแพร่ของเชื้อ HIV

เชื้อ HIV แพร่กระจายผ่านตัวกลางบางอย่างเท่านั้น เช่น เลือด สารคัดหลั่งที่มีเลือดปน น้ำนม อสุจิ น้ำหล่อลื่นจากอวัยวะเพศชาย และของเหลวจากช่องคลอดหรือทวารหนัก ดังนั้นการใช้ชีวิตประจำร่วมกับผู้ติดเชื้อ HIV เช่น รับประทานอาหารร่วมกัน จับมือ กอด หรือทำงานร่วมกัน ไม่ได้ทำให้เกิดการแพร่ของเชื้อ


จากข้อมูลของประเทศไทยพบว่า มีการติดเชื้อ HIV ผ่านทางเพศสัมพันธ์มากที่สุด โดยแบ่งเป็นการติดเชื้อจากชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายเกือบ 70%, คู่เลือดผลต่าง 20%, คู่นอนชั่วคราวและนอกสมรส 7% และ 1% จากการซื้อขายบริการ นอกจากนี้ยังพบการติดเชื้อ HIV ผ่านการใช้เข็มไม่สะอาดร่วมกันอีกประมาณ 4%

อาการของผู้ที่ติดเชื้อ HIV ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ได้รับเชื้อมา
1.ระยะแรก ประมาณ 2-4 สัปดาห์หลังจากได้รับเชื้อ คนไข้จะมีอาการคล้ายไข้หวัดทั่วไป เช่น ไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ต่อมน้ำเหลืองโต ผื่น เป็นต้น โดยอาการในระยะนี้สามารถหายได้เอง
2.ระยะที่ไม่มีอาการแสดงใดๆ ประมาณ 5-10 ปี
3.ระยะท้าย หลังจากติดเชื้อ 5-10 ปี หากไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยจะมีภูมิคุ้มกันต่ำมากจนสามารถติดเชื้อฉวยโอกาสอื่นๆ ได้ และมีอาการแสดงของการติดเชื้อฉวยโอกาสนั้นๆ เช่น การติดเชื้อราในสมอง เป็นต้น

ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจหาเชื้อ HIV
1. ผู้ที่มีอาการหรืออาการแสดงที่เข้าได้กับการติดเชื้อเอชไอวีหรือเอดส์
2. ผู้ที่มีการติดเชื้อที่สงสัยว่าจะเป็นเชื้อฉวยโอกาส
3. ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ B หรือ C
4. ผู้ที่มีหรือเคยมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน รวมถึงเพศสัมพันธ์ระหว่างชาย - ชาย หรือ ชาย - หญิง
5. ผู้ป่วยวัณโรค
6. ผู้ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
7. ผู้ใช้ยาเสพติดด้วยวิธีฉีดและใช้เข็มร่วมกัน
8. หญิงตั้งครรภ์และสามี
9. ทารกที่เกิดจากมารดาติดเชื้อเอชไอวี
10. บุคลากรทางการแพทย์ที่เกิดอุบัติเหตุที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี
11. ผู้ถูกกล่าวหาและผู้ถูกละเมิดทางเพศ
12. ผู้ที่ต้องการตรวจเลือดก่อนแต่งงานหรือผู้ที่วางแผนมีบุตร
13. ผู้ที่อยู่ระหว่างการรับยาป้องกันก่อนและหลังการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (PrEP หรือ PEP)

การป้องกันการติดเชื้อ HIV
- ใช้ถุงยางอนามัยเวลามีเพศสัมพันธ์
- ใช้ยาป้องกันเชื้อเอชไอวี
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น การเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ
- หลีกเลี่ยงการใช้เข็มหรืออุปกรณ์ฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
ในปัจจุบัน กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้มีโครงการนำร่องจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้บริการชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเองจากตัวอย่างน้ำในช่องปาก ในลักษณะที่เปิดกว้างให้ทุกคนที่ต้องการทราบสถานะเอชไอวีของตนเอง สามารถเข้าถึงชุดตรวจได้ด้วยบริการชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเองจากตัวอย่างน้ำในช่องปาก โดยมีระยะเวลาจนถึง 31 ธันวาคม 2566 เพื่อให้ผู้รับบริการที่มีความเสี่ยงมีความสะดวก (ใช้งานง่าย อ่านผลเร็ว) ลดระยะเวลาและภาระของผู้รับบริการ หากตรวจพบเชื้อเอชไอวีจากชุดตรวจคัดกรองดังกล่าว จะมีกระบวนการเพื่อเข้าสู่การรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเรามียาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูง และผลข้างเคียงต่ำ การที่ผู้ติดเชื้อ HIV สามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้โดยเร็ว จะช่วยทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม และสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ต่อไป

ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ OPD 22 ชั้น 11 อาคารศรีพัฒน์ฯ ทุกวันพฤหัสบดี และวันศุกร์ ระหว่างเวลา 08.30-16.00 น.

***หากผลการตรวจผิดปกติ หรือไม่แน่ใจผลการตรวจ ต้องการรับคำปรึกษาติดต่อเจ้าหน้าที่พยาบาลหน่วยโรคติดเชื้อและเวชศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หมายเลขโทรศัพท์ 053-936007 ในเวลาราชการ
Reference:
- HIV info hub (ศูนย์รวมข้อมูลสารสนเทศด้านเอชไอวีของประเทศไทย)
- ข้อมูลจาก world health organization (WHO)
- แนวทางการตรวจวินิจฉัย รักษา และป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ประเทศไทย ปี 2564/2565
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :อ.พญ.กวิสรา กระแสเวส
อายุรแพทย์ หน่วยวิชาโรคติดเชื้อและเวชศาสตร์เขตร้อน
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แกลลอรี่