น้ำหมักชีวภาพทำได้ง่าย ๆ ด้วยผัก ไม้ผลเหลือใช้

18 เมษายน 2565

คณะเกษตรศาสตร์

บ้านทุกหลังล้วนมีเศษผัก ผลไม้ที่เหลือจากการบริโภค ซึ่งถือได้ว่าเป็นขยะที่ต้องส่งไปกำจัดด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเผา หรือฝังกลบ แต่รู้หรือไม่ว่าสิ่งที่เรียกว่าขยะเหล่านี้สามารถนำมาทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ เพื่อช่วยลดการใช้สารเคมีในการปลูกผัก ไม้ผล ไม้ดอกและไม้ประดับภายในครัวเรือนได้

นายสมศักดิ์ จีรัตน์ นักวิทยาศาสตร์เกษตร ศูนย์วิจัยสาธิตและฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าว่า การทำปุ๋ยหมักของคณะเกษตรศาสตร์ มช. เริ่มจากการวิจัย โดยนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจำพวกชีวมวลมาทำปุ๋ยหมัก ซึ่งอาศัยจุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการย่อยสลายเศษซากพืชให้กลายเป็นปุ๋ยหมักที่ช่วยลดต้นทุนในการใช้ปุ๋ยเคมี และมีการนำองค์ความรู้เหล่านั้นมาถ่ายทอดสู่ชุมชนและเกษตรกร รวมทั้งมีผลิตภัณฑ์ที่ให้ประชาชนทั่วไปสามารถนำไปใช้ได้

นอกจากนี้ขยะสดอินทรีย์เหลือใช้จากครัวเรือนสามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพได้ โดยอาศัยจุลินทรีย์ที่ไม่ต้องการออกซิเจนในการย่อยสลายเศษพืชให้ได้ธาตุอาหาร ฮอร์โมนและกรดอินทรีย์ที่ทำให้พืชเจิรญเติบโตได้ดีขึ้น

วิธีทำปุ๋ยหมักง่าย ๆ ในครัวเรือน


วัสดุที่ใช้ในการทำปุ๋ยหมักมี 4 อย่างด้วยกัน ประกอบด้วย ผัก หรือผลไม้ที่เหลือจากการบริโภคน้ำหนักรวมประมาณ 4 กิโลกรัม, สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 1 ซอง, กากน้ำตาล 1 กิโลกรัมและน้ำเปล่า
ผัก ผลไม้ที่นำมาใช้ทำปุ๋ยหมักควรเป็นผักและผลไม้ที่ไม่เหี่ยวเฉา และผักควรเป็นผักที่อวบน้ำ เพราะจะมีธาตุอาหารไนโตรเจนมากกว่าพืชที่เหี่ยวแล้วนั่นเอง หากบ้านไหนมีพืชผักเหลือใช้ในแต่ละวันไม่มาก ให้เก็บสะสมโดยนำเศษผักใส่ถุงพลาสติกมัดให้แน่น เก็บไว้ในช่องแช่ผักในตู้เย็น วิธีการนี้จะยืดอายุเศษผักเหลือใช้ให้อยู่ได้นานขึ้น โดยพืชที่เหมาะนำมาทำปุ๋ยหมัก อาทิ ผักกาดขาว ผักคะน้า ผักกาด กะหล่ำ รวมทั้งเปลือกผลไม้ต่าง ๆ

วิธีการทำปุ๋ยหมัก ขั้นตอนแรก นำสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 กวนในน้ำเปล่าปริมาตร 2 ลิตร 5 นาที เพื่อให้จุลินทรีย์ปรับสภาพ และเป็นการปลุกให้จุลินทรีย์มีชีวิต โดย สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 นี้ เป็นจุลินทรีย์รวม 5 สายพันธุ์ ทั้งยีสต์ที่ผลิตแอลกอฮอล์ ผลิตกรดอินทรีย์ และเป็นแบคทีเรียที่ผลิตกรดอินทรีย์ สลายไขมัน สลายโปรตีน และละลายอนินทรีย์ฟอสฟอรัสรวมอยู่ด้วย
ต่อมา นำเศษผักและผลไม้ที่ล้างสะอาดมาทำให้ละเอียดมากที่สุดด้วยการสับ และนำไปใส่ในภาชนะสำหรับหมักที่เตรียมไว้ ความละเอียดมีผลต่อระยะเวลาการย่อยสลาย เนื่องจากจะเพิ่มพื้นที่ผิวให้จุลินทรีย์ทำการย่อยได้มากขึ้นส่งผลให้การย่อยสลายเกิดเร็วขึ้นนั่นเอง

หลังจากนั้นนำกากน้ำตาล 1 กิโลกรัม มาคลุกเคล้าเข้ากับเศษพืชผัก ผลไม้ที่เตรียมไว้ให้ทั่ว กากน้ำตาลนี้เป็นอาหารเร่งด่วนให้แก่จุลินทรีย์ ทำให้จุลินทรีย์เพิ่มจำนวนเซลล์ได้มากขึ้น เมื่อคนเข้าที่แล้วให้เติมน้ำผสมสารเร่ง พด. 2 หรือหัวเชื้อลงไป และคนให้เข้ากัน หากปริมาณน้ำในถังมีความสูงน้อยกว่าเศษวัสดุ ให้เติมน้ำเปล่าจนท่วมผิววัสดุ เพื่อให้จุลินทรีย์ทำงานได้ดีนั่นเอง
สุดท้ายปิดฝาแบบหลวม ๆ เพื่อให้สามารถระบายแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจาการย่อยสลายของจุลินทรีย์ได้ นอกจากนี้ให้เก็บถังหมักไว้ในที่ร่มและต้องคนปุ๋ยหมักทุกวันเป็นเวลา 7 วัน เพื่อเร่งการย่อยสลายของจุลินทรีย์และเป็นการระบายแก๊ส หลังจากผ่านไป 7 วันจะพบว่าแอลกอฮอล์ลดลง คราบเชื้อบนผิวน้ำหายไป และเศษผักเปื่อยยุ่ย ซึ่งนั่นเป็นสัญญาที่บ่งบอกว่าน้ำหมักพร้อมใช้งานแล้ว

วิธีการใช้งาน ก่อนอื่นเมื่อกระบวนการหมักเสร็จสิ้นแล้วให้กรองกากทิ้ง น้ำปุ๋ยหมักที่ได้นำไปบรรจุในแกลลอน หรือขวดพลาสติกเก็บไว้ในที่ร่ม มีอายุการเก็บรักษาอยู่ที่ 6 เดือน หลังจาก 6 เดือนคุณภาพของธาตุอาหารและฮอร์โมนของพืชก็จะลดลงไปตามลำดับ

วิธีการใช้น้ำหมักชีวภาพ
อัตราส่วนที่ใช้ น้ำหมักชีวภาพเข้มข้น 2 ช้อนโต๊ะ (200 cc.) ละลายน้ำ 20 ลิตร สามารถให้เป็นอาหารพืชได้ทั้งทางใบโดยวิธีการฉีดพ่น และวิธีการรดทางดิน โดยให้แก่พืชเป็นประจำทุก 7 – 10 วัน ช่วยเร่งการเจริญเติบโตทางลำต้นและใบ กระตุ้นการออกดอกและการแตกราก ต้องให้ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพเป็นประจำเพราะธาตุอาหารในปุ๋ยหมักมีน้อยกว่าปุ๋ยเคมีทั่วไป หากใช้บ่อยจะช่วยกระตุ้นฮอร์โมนจำพวกออกซิน จิบเบอเรลลิน ไซโตไคนิน เสริมให้พืชเจริญเติบโตได้ดีขึ้น นอกจากนี้ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพยังสามารถนำไปแช่เมล็ดพืชเพื่อช่วยเร่งการเกิดรากได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การใช้ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพก็มีข้อที่ควรระวัง เนื่องจากปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพมีความเป็นกรดสูง มีค่าความเป็นกรดอยู่ในช่วง 3 – 4 การใช้ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพรดพืชแบบไม่เจือจางน้ำเปล่าก่อนใช้ส่งผลให้พืชตายได้เช่นกัน เปรียบเสมือนยาฆ่าหญ้าแบบอินทรีย์ได้เลย ฉะนั้นก่อนใช้ปุ๋ยหมักต้องศึกษาวิธีการอย่างถี่ถ้วนและมีความเข้าใจอัตราการใช้และช่วงอายุพืชที่นำไปใช้เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผลผลิตทางการเกษตรของเรา

แกลลอรี่