9 ที่ยั่งยืน ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ใต้ร่มพระบารมี

12 กรกฎาคม 2565

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เย็นวันหนึ่งในปลายปี 2516

      ขณะที่นักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์กลุ่มหนึ่งกำลังซ้อมรักบี้อยู่ที่สนามกีฬาของคณะ รถคันหนึ่ง ซึ่งมีธงตราครุฑติดหน้ารถขับแล่นเข้ามาจอดที่หน้าคณะ เมื่อประตูรถทางด้านคนขับเปิดออก นักศึกษาที่พากันวิ่งไปดูต่างก็ตกใจมาก เพราะผู้ที่ก้าวลงมาจากรถคันนั้นคือ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวง รัชกาลที่ 9

      “...ข้าพเจ้าแทบช็อก ในหลวงจริง ๆ แต่โดยสัญชาตญาณหรืออะไรไม่ทราบ ข้าพเจ้ารีบยืนตรง โค้งศีรษะ และกล่าวคำว่า สวัสดีครับ เพื่อน ๆ รีบโค้งตาม” นายวิจารณ์ ยอดจิ๋ว นักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ ในขณะนั้น ได้เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้ในหนังสือ 50 ปี คณะเกษตร มช.

     “ ต่อไปนี้เป็นพระราชดำรัสที่ข้าพเจ้าจำได้ ในหลวงทรงถามว่ากำลังเล่นกีฬากันหรือ ข้าพเจ้าตอบว่าพวกกระผมกำลังซ้อมกีฬารักบี้อยู่ครับ ดี...ดี...ฉันอยากขอดูโรงงานอาหารที่ให้มา ได้ใช้งานหรือเปล่า (ก่อนหน้านั้นได้พระราชทานโรงงานขนาดเล็กมา 1 แห่ง) ได้ใช้งานอยู่ครับ ตอนนี้กำลังทำสับปะรดกระป๋องครับ แต่ตอนนี้อาจารย์กลับไปหมดแล้ว ประตูโรงงานปิดอยู่ครับ ช่วยไปตามให้หน่อยนะ...ข้าพเจ้าวิ่งไป ห้องธุรการ จัดการโทรศัพท์ตามท่านคณบดี หัวหน้าภาควิชา ให้รีบมาที่คณะด่วน แล้วเล่าเรื่องคร่าว ๆ ให้ฟัง ภายในเวลาประมาณ 10 นาที อาจารย์ก็มากันพรึ่บ ข้าพเจ้าและเพื่อน ๆ ก็กลับไปซ้อมรักบี้ต่อ เมื่อก้มลง ดูสภาพตัวเองและเพื่อน ๆ ก็มอมแมมไปหมด แต่ได้รับเสด็จในหลวง...”

      เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงที่คณาจารย์ของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เป็นอาสาสมัครเข้าไปถวายงานในโครงการหลวง ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อช่วยให้ชาวไทยภูเขาได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการส่งเสริม การปลูกพืชเมืองหนาวเพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น ดังนั้น “โรงงานอาหารที่ให้มา” ที่มีพระราชดำรัสถึงนั้น จึงหมายถึง โรงงานหลวงอาหารสําเร็จรูป มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่พระราชทานงบประมาณให้สร้างขึ้นที่ คณะเกษตรศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2515 โดยมีคณาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ดําเนินงาน โรงงานนี้มีหน้าที่แปรรูปอาหารจากผลิตผลทางการเกษตรของโครงการหลวงที่ล้นตลาด เนื่องจากเกษตรกรไม่สามารถจําหน่ายได้หมด จึงได้มีการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ผัก - ผลไม้กระป๋อง ผัก - ผลไม้แช่อิ่ม น้ำผลไม้พร้อมดื่ม ฯลฯ

     ในเวลาต่อมา การแปรรูปผลิตภัณฑ์โครงการหลวงนี้ เป็นที่มาของผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้า “ดอยคำ” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในปัจจุบันนั่นเอง และในวันนี้ “ร้านโครงการหลวง ดอยคำ” ยังคงตั้งอยู่ที่ คณะเกษตรศาสตร์ เป็นสถานที่จำหน่ายสินค้าอาหารแปรรูปมากมาย นอกจากนี้ ความก้าวหน้าของการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมเกษตรในปัจจุบัน ยังพิสูจน์ถึงสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงเล็งเห็นว่า อุตสาหกรรมเกษตรเป็นแนวทางที่สำคัญแนวทางหนึ่ง ที่จะช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของเกษตรกรอย่างยั่งยืน และเป็นทางรอดของประเทศไทยในฐานะประเทศเกษตรกรรม ที่มีความมั่นคงทางอาหาร ดังที่เคยได้มีพระราชดำรัสกับ รองศาสตราจารย์ ดร.นรินทร์ ทองศิริ แห่ง คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อหลายสิบปีมาแล้วว่า

    “มีพระราชดําริไว้ตั้งแต่ปี 2519 ว่าการแปรรูปอาหารนี้ คืออนาคตของประเทศไทยเรา พระองค์ท่านทรงกําชับกับผมว่า ‘อาจารย์ต้องช่วยเกษตรกรให้อยู่ดีกินดีให้ได้ ถ้าไม่เช่นนั้น ประเทศเราก็จะอยู่ไม่สงบ เราต้องให้เขาพอมีพอกิน เพราะถึงเราพอกิน และมีคนไม่พอกินอยู่มาก ๆ เราก็อยู่ไม่ได้ เราต้องช่วยกัน อาจารย์ต้องพูด ต้องบรรยายไปเรื่อย ๆ ให้คนไทยเข้าใจ อย่าหยุด’ ซึ่งผมก็ได้น้อมใส่เกล้าฯ ดําเนินการตามพระราชดําริของพระองค์ท่านตลอดมา โดยพยายามให้คนไทยทุกระดับเข้าใจบทบาทของอุตสาหกรรมเกษตรที่จะช่วยเหลือเกษตรกร”


พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมโรงงานหลวงอาหารสําเร็จรูป มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


เสด็จฯ ไปทรงเยือนคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใน พ.ศ. 2517

     นี่เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของพระราชกรณียกิจที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงปฏิบัติขณะเสด็จฯ แปรพระราชฐานมาประทับยังพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ ในทุกปี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งตั้งอยู่ริมเชิงดอยสุเทพ อันเป็นเส้นทางขึ้นสู่พระตำหนัก จึงอยู่ในพระเนตรพระกรรณ และเมื่อใดที่ทรงพบปัญหาในพื้นที่ภาคเหนือ ขณะที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนประชาชน จะพระราชทานพระราชวโรกาสให้คณาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีโอกาสร่วมกันแก้ไขปัญหา และทรงแนะแนวทางอันเป็นประโยชน์ เพื่อให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนในพื้นที่ และเพื่อให้งานวิจัยที่คิดค้นโดยนักวิชาการ สามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม

     หนึ่งในผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เข้าถึงประชาชนมายาวนานหลายสิบปีแล้ว แต่ผู้ที่อยู่นอกแวดวงไม้ดอกอาจไม่เคยทราบก็คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นต้นกำเนิดของการพัฒนาพันธุ์ “ปทุมมา” หรือดอกกระเจียว ซึ่งปัจจุบันเป็นไม้ดอกเศรษฐกิจที่มีมูลค่าการส่งออกเป็นลำดับที่ 2 รองจากกล้วยไม้ ความสำเร็จของการพัฒนาและขยายพันธุ์ปทุมมานี้ มาจากการทำงานของ ศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ 32 ไร่ ในตำบลบ้านแหวน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ โดยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานที่ดินและทุนทรัพย์ในการก่อตั้ง เพื่อให้นักวิชาการของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำการทดลองขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผล และส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกร เนื่องจากปัญหาสำคัญของเกษตรกรไทยในเวลานั้นคือไม่สามารถเข้าถึงพันธุ์พืชที่มีคุณภาพได้


ดอกปทุมมา

     โดยใน พ.ศ. 2523 ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ 80,000 บาท ให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิศิษฐ์ วรอุไร อดีตคณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินการคัดเลือกพันธุ์ไม้ดอกไม้ผล และทำแปลงสาธิต เริ่มจากแกลดิโอลัสที่นำไปให้ชาวบ้านทดลองปลูกที่อำเภอจอมทอง จนต่อมาจอมทองกลายเป็นแหล่งปลูกแกลดิโอลัส และชาวบ้านสามารถส่งขายที่ปากคลองตลาดได้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงทราบเรื่องดังกล่าว จึงได้มีพระราชดำรัสกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิศิษฐ์ ว่า “งานนี้เป็นประโยชน์ถึงประชาชนอย่างแท้จริง อย่าได้หยุด ให้ทำต่อไป ชวนอาจารย์มหาวิทยาลัยให้มาช่วยกันให้มากขึ้น ช่วยให้ถึงประชาชน”

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิศิษฐ์ วรอุไร


     จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ ได้พัฒนาพันธุ์ปทุมมา แกลดิโอลัส พืชกลุ่มกระเจียว และไม้ดอกเมืองร้อนอื่น ๆ และขยายผลสู่เกษตรกรรายใหญ่และรายย่อย ที่นำปทุมมาไปปลูกเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริมในพื้นที่ 6 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ พะเยา นครนายก ฉะเชิงเทรา ยะลา และนราธิวาส โดยใน พ.ศ. 2563 เกษตรกรสามารถสร้างรายได้จากการปลูกปทุมมาได้ราว 18 ล้านบาทต่อปี เป็นข้อพิสูจน์ว่า งานวิจัยสามารถช่วยให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้จริง และ ดอกปทุมมาที่ได้รับการพัฒนาพันธุ์อย่างไม่หยุดยั้งโดยนักวิจัยของศูนย์ฯ บ้านไร่ ในวันนี้ ได้สร้างโอกาสยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนสมดังพระราชประสงค์แล้วทุกประการ

     อีกพระราชกรณียกิจหนึ่งที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับสนองพระราชดำริจนต่อยอดเป็นผลงานวิจัย ที่สามารถช่วยเหลือผู้ยากไร้และสร้างนวัตกรรมที่ยั่งยืนจากฝีมือคนไทย นั่นคือ “นวัตกรรมรากฟันเทียม” โดย ศูนย์ความเป็นเลิศทางทันตกรรมรากเทียม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สืบเนื่องจาก ใน พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จฯ มาทรงรับการรักษาพระทนต์เป็นการส่วนพระองค์ที่ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานทุนอานันทมหิดล แผนกทันตแพทยศาสตร์ แก่ทันตแพทย์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจําปี 2535 เป็นครั้งแรกอีกด้วย จากจุดเริ่มต้นนี้ เปรียบเสมือนได้ทรงหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งแรงบันดาลใจให้คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาคณะทันตแพทยศาสตร์ ได้เดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทในการทำงานเพื่อเข้าถึงประชาชน โดยเฉพาะงานวิจัยที่จะสามารถสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นแก่ประเทศชาติ นั่นคือการคิดค้นระบบรากฟันเทียม Novem ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมทางทันตกรรมจากฝีมือคนไทย โดยการคิดค้นของ รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ดร.ปฐวี คงขุนเทียน ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางทันตกรรมรากเทียม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


ภาพเมื่อครั้งที่ รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ดร.ปฐวี คงขุนเทียน และคณะ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

     แนวคิดในการทำนวัตกรรมรากฟันเทียมโดยคนไทยได้ถูกจุดประกายขึ้นด้วยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อทรงรับการถวายการรักษาด้วยทันตกรรมรากเทียม โดยมีพระราชกระแสรับสั่งกับทีมทันตแพทย์ที่ถวายการรักษาว่า ประเทศไทยสามารถผลิตได้เองหรือไม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ประเทศไทยไม่มีองค์ความรู้ในการทำอุปกรณ์รากฟันเทียม และต้องนำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น ทำให้มีราคาสูง จึงทรงห่วงใยพสกนิกรที่ยากจนและไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้

รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ดร.ปฐวี ได้เล่าถึงความเป็นมาในเรื่องนี้ว่า

      “พระองค์ท่านมีปัญหาเรื่องพระทนต์ของท่าน เพราะทรงงานมาก ทำให้มีปัญหาเรื่องพระทนต์ สุดท้ายก็จะต้องทดแทน ตอนแรกทีมทันตแพทย์ประจำพระองค์ก็ถวายแบบง่ายให้ทรงทดลองดูก่อน ก็คือแบบที่ถอดเข้าถอดออก ท่านก็ไม่ได้มีพระราชดำรัสอะไร แต่ว่าอีกวันหนึ่งก็พระราชทานคืนมาให้ ทีมงานก็ไปถวายคำอธิบายเรื่องการถวายรากเทียม พอถวายแล้วท่านได้ใช้ ก็โปรดมาก ท่านก็เลยมีพระราชดำรัสเรื่องนี้ว่า พวกเราทำเองได้หรือเปล่า? ทรงหวังอย่างเดียวว่า ถ้าหากเราทำเองได้ มันเป็นมิติในเรื่องความยั่งยืนของการพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตัวเอง รวมไปถึงความยั่งยืนและมั่นคงของประเทศชาติ”


    รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ดร.ปฐวี ได้ใช้เวลายาวนานหลายปี เพื่อค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับนวัตกรรมรากฟันเทียมจนสำเร็จ โดยยึดพระบรมราโชวาทเรื่อง “ค้นคว้า ปฏิบัติ พัฒนา” และต่อมาได้จัดตั้ง “ศูนย์ความเป็นเลิศทางทันตกรรมรากเทียม” ขึ้นที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มช. เมื่อ พ.ศ. 2555 เพื่อสนองพระราชดำริดังกล่าว และนอกจากการให้บริการทางวิชาการแก่สังคมแล้ว ยังได้ก้าวสู่มิติใหม่ของการนำผลงานวิจัยมาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ด้วยการตั้งเป็นบริษัท เพื่อวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์รากฟันเทียม NOVEM DENTAL IMPLANT ในชื่อ Novem Innovation ซึ่งในภาษาละติน Novem แปลว่า 9 เพื่อถวายพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยทรงเป็นหลักชัยแห่งความสำเร็จนี้ตลอดมาและตลอดไป


     และเหนือสิ่งอื่นใด พระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนในหลายโครงการที่กล่าวมาข้างต้น ล้วนเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีแนวทางและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ในการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการขับเคลื่อนองค์กรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ จนล่าสุด ใน ค.ศ. 2022 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีผลงานโดดเด่นในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นอันดับที่ 70 ของโลก และเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศไทย จากการจัดอันดับ THE Impact Rankings 2022

     บนเส้นทางแห่งความสำเร็จนี้...โรงงานหลวงอาหารสําเร็จรูป ดอกปทุมมา นวัตกรรมรากฟันเทียม อาจเป็นส่วนหนึ่งของรอยทางในอดีตที่ผ่านไปแล้ว แต่คุณค่าของเรื่องราวเหล่านี้จะยังคงดำรงอยู่ และเกื้อหนุนให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก้าวย่างอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ภายใต้ร่มพระบารมีอันเป็นนิรันดร์เหนือกาลเวลา...

เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพระภูบาล ปานตะวันอันโอภาส
- หนังสือ ธ.ปกเกศ ปกเกล้า ชาว มช.
- หนังสือ 50 ปี คณะเกษตรศาสตร์ มช.
- https://sdgs.cmu.ac.th/