24 มีนาคม วันวัณโรคโลก

24 มีนาคม 2565

คณะแพทยศาสตร์

วันที่ 24 มีนาคมของทุกปี ตรงกับวันวัณโรคโลก สหพันธ์องค์กรต่อต้านวัณโรคและโรคปอดนานาชาติ (IUATLD: International Union Against Tuberculosis and Lung Disease) ได้กำหนดให้วันที่ 24 มีนาคมของทุกปี เป็นวันวัณโรคโลก (World TB Day) เพื่อให้ร่วมมือกันควบคุมการแพร่ระบาด รวมถึงรณรงค์ให้ประชาชนเล็งเห็นและตระหนักถึงอันตรายจากวัณโรค
วัณโรค คือโรคติดต่อชนิดหนึ่งที่เกิดจาก เชื้อแบคทีเรียชื่อ “มัยโคแบคทีเรียมทูเบอร์โคโลซีส” เกิดขึ้นได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย เช่น ปอด ลำไส้ ไต กระดูก ผิวหนัง ต่อมน้ำเหลือง เยื่อหุ้มสมอง แต่ที่พบบ่อยและเป็นปัญหามากที่สุดในปัจจุบันคือ วัณโรคปอด ซึ่งสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้
วัณโรคติดต่อได้โดยการหายใจ เอาเชื้อวัณโรคที่แพร่กระจายจากการไอ จาม พูด ของผู้ป่วยวัณโรคปอด เข้าสู่ร่างกาย ซึ่งผู้ป่วยวัณโรคปอดในระยะแพร่เชื้อที่ยังไม่ได้รับการรักษา จะมีโอกาสแพร่เชื้อให้ผู้อื่นไม่น้อยกว่า 10 คนต่อปี การแพร่กระจายเชื้อวัณโรค ไอ 1 ครั้ง มี 3,000 ละออง จาม 1 ครั้งมี 30,000 ละออง และ 1 ละอองมีเชื้อวัณโรค 2-4 ตัว
อาการสำคัญของผู้ป่วยวัณโรคปอดคือ ไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ หรือไอมีเลือดปน อาการอื่น ๆ ที่อาจมีร่วมด้วย เช่น ไข้ต่ำ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด แต่ผู้ป่วยวัณโรคบางรายอาจไม่มีอาการดังกล่าวข้างต้น (พบได้ร้อยละ 50 - 66)
การรักษาวัณโรคที่มีประสิทธิภาพ คือการตัดวงจรการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น ปัจจุบันวัณโรคดื้อยา เป็นปัญหาวิกฤต เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคสูง แต่การรักษาสำเร็จน้อย, ผู้ป่วยวัณโรคทั่วไปที่ไม่ดื้อยา ใช้ยา 4 ขนาน เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน ค่ายาประมาณ 2,000 บาท รักษาสำเร็จได้เกือบร้อยละ 100, ผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนาน ต้องใช้ยา 4 - 5 ขนาน, เป็นเวลาอย่างน้อย 20 เดือน โดยจะต้องฉีดยาอย่างน้อย 6 เดือน ค่ายาประมาณ 2 แสนบาท รักษาสำเร็จได้ถึงร้อยละ 75, ผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก ต้องใช้ยา 5 ขนาน เป็นเวลาอย่างน้อย 20 เดือน โดยจะต้องฉีดยาอย่างน้อย 8 เดือน ค่ายาประมาณ 1.2 ล้านบาท อาจรักษาสำเร็จได้เพียงร้อยละ 50
สำหรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพให้ห่างไกลจากโรควัณโรค ได้แก่ การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อมีอาการไอ จาม ตรวจสุขภาพร่างกายปีละครั้ง หากมีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์ทันที แนะนำให้ผู้มีอาการผิดปกติรับการตรวจวินิจฉัยที่โรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านโดยเร็ว หากป่วยเป็นวัณโรคหรือวัณโรคดื้อยา ควรปฏิบัติตามคำสั่ง คำแนะนำของแพทย์ และทีมสหวิชาชีพ ป้องกันการติดเชื้อวัณโรคเพิ่ม รวมทั้งป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น แนะนำ ให้กำลังใจ สนับสนุนให้ผู้ป่วยวัณโรคหรือวัณโรคดื้อยา รับการรักษาอย่างเหมาะสม จนรักษาหาย
ข้อมูลโดย : หน่วยวิชาโรคระบบการหายใจ เวชบำบัดวิกฤตและภูมิแพ้ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


#MedCMU #MedCMUในมือคุณ
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#สื่อสารองค์กรMedCMU #วัณโรคโลก

แกลลอรี่