วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คว้ารางวัลชมเชย Ombudsman Awards ประจําปี 2565 “สาขาองค์กรดีเด่นด้านนวัตกรรมการให้บริการประชาชน (Self Initiative Award)” จากผลงาน “นวัตกรรมระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาทักษะงานในยุคดิจิทัลสำหรับผู้สูงวัย (มีดี)"
รางวัลองค์กรดีเด่น ด้านนวัตกรรมการให้บริการประชาชน (Self Initiative Award) Ombudmans Awards 2022 คือรางวัลแห่งคุณค่าองค์กรพัฒนาสร้างสรรค์สังคม ประจำปี 2565 ที่มุ่งยกย่องเชิดชู สร้างขวัญและกำลังใจใหกับหน่วยงานที่เป็นแบบอย่างที่ดี มีระบบในการบริหารจัดการ สร้างสรรค์นวัตกรรมเชิงแนวคิด กระบวนการหรือเชิงสิ่งประดิษฐ์ โดยมุ่งเน้นเทคโนโลยีดิจิทัลในการให้บริการประชาชนในการสร้างระบบ หรือพัฒนาช่องทางการให้บริการแก่ประชาชนที่ทันสมัย โดดเด่น สะดวกสบายขจัดปัญหาซึ่งเป็นภาระของประชาชนและเกิดประโยชนสูงสุดในการให้บริการกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ มีหน่วยงานที่ได้รับรางวัลองค์กรดีเด่น ด้านนวัตกรรมการให้บริการประชาชน ประจำปี 2565 จำนวน 8 หน่วยงานจากหน่วยงานหรือองค์กรของรัฐจำนวนทั้งสิ้นกว่า 200 หน่วยงานทั่วประเทศที่เข้าร่วมประกวด
รองศาสตราจารย์ ดร.ปรารถนา ใจผ่อง ผู้อำนวยการวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต กล่าวว่า วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิตได้กำหนดทิศทางในการมุ่งสู่เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นองค์กรชั้นนำในการส่งมอบคุณค่าทางการศึกษาสู่สังคมผ่านนวัตกรรมการเรียนรู้ เพื่อให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยได้อย่างเท่าเทียม การได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัลชมเชย Ombudsman Awards 2022 เป็นเครื่องสะท้อนถึงความพยายามของเราที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาความรู้และทักษะ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมไทย สมกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการเป็น “มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม”
“ระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาทักษะงานในยุคดิจิทัลสำหรับผู้สูงวัย หรือ มีดี” เป็นระบบการเรียนรู้สำหรับกลุ่มผู้สูงวัย ที่พัฒนาขึ้นโดยวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)ประกอบไปด้วย หลักสูตรเพื่อพัฒนาตนทางด้านเทคโนโลยีและการสร้างอาชีพในโลกดิจิทัลจำนวน 15 หลักสูตร ที่เข้าถึงได้ผ่านแอพลิเคชัน LINE ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ผู้สูงวัยคุ้นเคยมากที่สุด พร้อมทั้งสามารถเก็บข้อมูลประวัติการเรียนรู้แบบ Customer Data Platform (CDP) พร้อมทั้งข้อมูลทักษะแบบ 360 องศา การทำแบบทดสอบ การออกประกาศนียบัตร นอกจากนี้ยังมีชุมชนออนไลน์ ชุมชนออนไลน์กลุ่มเฟซบุ๊ก “มีดี: ชุมชนคนมีดี” สำหรับแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์และข่าวสารระหว่างสมาชิก และพื้นที่ทดลองขายออนไลน์บนเฟซบุ๊ก “มีดี: ตลาดคนมีดี” ที่ผู้เรียนสามารถมาทดลองขายสินค้าได้ฟรี ระบบนิเวศทางการศึกษา “มีดี” ไม่ได้มุ่งเป้าเพียงแค่ให้ผู้สูงวัยได้เข้าถึงการเรียนรู้เพียงเท่านั้น แต่ยังมีเป้าหมายใหญ่คือการนำเอาความรู้และทักษะไปใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ส่งเสริมการสร้างสุขภาวะและพฤฒพลังสำหรับผู้สูงวัยไทย มีระบบการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรม เกิดโอกาสการทำงานในเศรษฐกิจใหม่ ทำให้คนกลุ่มนี้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ลดการเป็นภาระในการดูแลของครอบครัวหรือของภาครัฐ ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมทุกกิจกรรมของโครงการฯ ตั้งแต่เปิดใช้งานระบบเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 31,992 คน เป็นผู้สูงวัยจำนวน 20,540 คน และได้ขยายเครือข่ายการอบรมเชิงปฏิบัติการและการส่งเสริมกิจการผู้สูงวัยไปแล้วทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย