มช. เปิดตัว Digital Mapping Exhibition แหล่งเรียนรู้แบบใหม่ด้านประวัติศาสตร์แห่งแรกของเชียงใหม่

19 กุมภาพันธ์ 2564

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและความก้าวล้ำของเทคโนโลยี ทำให้พิพิธภัณฑ์กำลังเข้าสู่การปรับตัวครั้งสำคัญ การนำปัจจุบันกลับไปสู่อดีต ย้อนรอยเรื่องราวไปสู่ยุคประวัติศาสตร์ด้วยสื่อดิจิทัล จึงเป็นความท้าทายและเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้เข้าชม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดตัวห้องนิทรรศการเรือนทรงอาณานิคม (คิวรีเปอล์) ด้วยรูปแบบ Projection Mapping การฉายภาพลงบนวัตถุ สร้างมิติที่น่าสนใจ มีสีสันชีวิตชีวา ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ใช้นวัตกรรมสื่อดังกล่าวมาช่วยในการถ่ายทอดเรื่องราว สามารถมอบการเรียนรู้ควบคู่ไปกับความสนุกสนานในการเข้าชม

     


พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถ่ายทอดเรื่องราวความทรงจำในเรือนทรงอาณานิคมคิวรีเปอล์ บอกเล่าถึงวิถีชีวิต การกิน การอยู่ สังคม สถาปัตยกรรมล้านนา วัฒนธรรมของเชียงใหม่ในยุคอาณานิคม รวมถึงประวัติศาสตร์การค้าไม้ และครอบครัวตระกูลคิวรีเปอล์ เมื่อครั้งอาศัยอยู่ในเรือนอาณานิคม (คิวรีเปอล์) โดยมีการใช้สื่อนวัตกรรม มาช่วยในการถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ประกอบไปด้วยห้องนิทรรรศการ จำนวน 5 ห้อง ได้แก่ ห้องที่ 1 วัฒนธรรมการแต่งกายชาวเชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นการแสดงแบบ ดิจิทัลแบบ Mapping ฉายภาพลงบนหุ่น ชาย-หญิง จะแสดงถึงวิวัฒนาการการแต่งกาย ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 จนถึง รัชกาลที่ 7 ส่วนห้องที่ 2 รสชาติอาหารบ้านหลิ่งห้าจากความทรงจำของคุณมาลินี ซึ่งเป็นลูกสาวหรือทายาทคนสุดท้ายของคุณคิวรีเปอล์และอาหารที่อยู่ในความทรงจำ คือ แกงฮังเลกับหมูเค็มกระเทียม โดยจุดเด่นนอกจากการฉายภาพจำลองการทำอาหารลงบนกระทะแล้ว ผู้เข้าชมยังสามารถสัมผัสกลิ่นของอาหารที่ปรุงอยู่นั้นได้อีกด้วย ห้องที่ 3 นายห้างป่าไม้ในภาคเหนือของไทย ซึ่งเป็นอาชีพเดิมของคุณคิวรีเปอล์ บอกเล่าเรื่องราวของการค้าขายไม้ของนายห้างสมัยนั้น ห้องที่ 4 บ้านหลิ่งห้าของป๋าคิว จะแสดงประวัตศาสตร์ของเรือนหลังนี้ ความพิเศษอยู่ที่สมุดเมนูอาหารของคุณคิวรีเปอล์ที่บันทึกด้วยลายมือของท่านเองสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ รวมถึงถ้วยรางวัลต่างๆ จากการแข่งขันกีฬา ซึ่งมีอายุมากกว่า 100 ปีขึ้นไปมาจัดแสดง และห้องสุดท้าย สถาปัตยกรรมเรือนยุคอาณานิคม ซึ่งเป็นห้องที่รวบรวมสถาปัตยกรรมในยุคเดียวกันกับเรือนคิวรีเปอล์  สำหรับผู้สนใจเข้าชมนิทรรศการ สามารถติดต่อขอทราบรายละเอียดได้ที่ พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เบอร์โทรศัพท์ 053-943626 หรือทางเว็บไซต์ https://art-culture.cmu.ac.th


การเป็นศูนย์กลางที่มีชีวิตชีวาของกิจกรรมทางด้านการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม การถ่ายทอดและเผยแพร่ ถือเป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตที่ทรงคุณค่าอย่างยั่งยืน และสื่อดิจิทัลจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ให้ผู้ที่เข้าชมกลายเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการและทำให้พิพิธภัณฑ์กลายเป็นแหล่งความรู้ใกล้ตัวของทุกคน

แกลลอรี่