สับปะรดสี ไม้ดีที่น่าปลูก EP1: ทำความรู้จักกับสับปะรดสีกันก่อน

22 มิถุนายน 2564

คณะเกษตรศาสตร์

สับปะรดสี เป็นต้นไม้ที่มีความสวยงามมีสีสันที่ใบสวยงาม รูปทรงมีความสวยงาม มีสีสดใส ช่วยสร้างสีสันให้กับสวนได้เป็นอย่างดี สามารถนำไปใช้งานได้ง่ายทั้งภายในและภายนอกอาคารแล้วแต่ละชนิดของสับปะรดสี ในความหลากหลายของสายพันธุ์ที่สามารถนำไปใช้งานจัดสวนได้ทั้งภายนอกและจัดภายในอาคาร ในยุคปัจจุบันโดยใช้ตกแต่งทั่วไปตามลักษณะของสายพันธุ์ สับปะรดสีช่วยเพิ่มบรรยากาศความสดชื่น จะปลูกไว้ใกล้หน้าต่าง บนโต๊ะ ริมผนัง ในครัว ใต้ต้นไม้ ในห้องน้ำ สามารถใช้จัดสวนได้หลายรูปแบบได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะสวนแนวตั้ง หรือการปลูกเป็นไม้กระถาง ปลูกเป็นไม้ตัดดอก ปลูกเป็นไม้แขวน ปลูกประดับชั้นหรือตู้โชว์ ปลูกให้เกาะอยู่กับกิ่งไม้หรือซอกหิน บรอมมีเลียด (Bromeliad, สับปะรดประดับ,สับปะรดสี) ได้เกิดขึ้นประมาณ 65 ล้านปีมาแล้ว และมีมากกว่า 2,500 สกุล ซึ่งรวมถึงสับปะรดที่รับประทานผลด้วย โดยมีถิ่นกำเนิดตั้งแต่อเมริกาใต้ อเมริกากลาง ไปจนถึงสหรัฐอเมริกาในรัฐฟอริดา เท็กซัส แต่พบมากที่สุดในคอสตาริกา เม็กซิโก บราซิล เปรู โคลัมเบียและชิลี  โดยพบบ่อยในทวีปแอฟริกาใต้เพียงชนิดเดียว คือ พิทแคร์เนีย (Pitcairnia feliciana) เป็นพืชที่ขึ้นได้ตั้งแต่ป่าดงดิบชื้นที่สุดจนถึงอากาศแล้งของทะเลทราย


ส่วนในประเทศไทยพบปลูกในปีค.ศ. 1680 – 1700 ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นสับปะรดพันธุ์ อินทรชิต สัณนิษฐานว่านำเข้ามาโดยพ่อค้าชาวโปรตุเกสที่เข้ามาค้าขายกับชาวไทยต่อมาในมีการปลูกและพัฒนามากขึ้นจนกลายเป็นพืชอุตสาหกรรมในปัจจุบัน ต่อมาได้มีการนำเข้าสับปะรดที่มีใบเป็นสีต่างๆ ตลอดจนมีการพัฒนาสายพันธุ์ที่ใบมีสีสันสะดุดตาจึงเรียกว่าสับปะรดสี ซึ่งที่สำคัญและพบในตลาดค้าไม้ดอกไม้ประดับในบ้านเราได้แก่สกุล นีโอเรเจลลยา(Neoregelia) ,เอคเมีย(Aechmea),บิลเบิร์กเอีย(Billbergia),ดิกเกีย(Dycki),กุซแมเนีย (Guzmania),รีซี( Vriesea),คริปแทนทัส(cryptanthus),อเเนนัส(ananus) และทิลแอนเซีย( Tillandsia )

สับปะรดสีเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวและเป็นพืชมีดอก มีอายุหลายปี ใบเรียงสลับกันเวียนรอบต้นจากซ้ายไปขวา ใบบางชนิดมีขนหรือขุย ติดอยู่ด้านบนและใต้ใบ ใบเป็นแบบถาวรคือจะไม่ผลิตใบใหม่เมื่อผลิตใบมาแล้วจะคงอยู่อย่างนั้นจนกว่าต้นจะหมดอายุไป ใบบางชนิดจะไม่มีขนแต่จะมีขี้ผึ้งเคลือบบนผิวใบ ทำให้ใบเป็นเงา มีสีสันลวดลายสวยงามสะดุดตา ปลายใบแหลม ขอบใบมีทั้งแบบเรียบและมีหนาม สามารถสร้างความชุ่มชื้นให้กับต้นได้ โดยการมีโคนกาบใบที่เวียนซ้อนกันแน่น เรียกว่า Tank Cup สามารถเก็บกักน้ำและอาหาร ตลอดจนเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์เล็กๆเช่น กบ เขียด เมื่อถ่ายมูลไว้จะกลายเป็นแหล่งของธาตุอาหารให้กับต้นต่อไป ลำดอกเป็นแบบต้น ส่วนใหญ่มีลักษณะสั้น ทุกส่วนมีลักษณะอวบน้ำ มีทั้งชนิดที่มีลำต้นขนาดใหญ่ประมาณ 3 เมตร และขนาดเล็กสุด คือ 1 เซนติเมตร รากเป็นรากฝอยมีหน้าที่เกาะยึดหรือพยุงเพื่อให้ต้นสามารถเกาะติดกับพื้นดินเท่านั้น บางชนิดไม่มีรากแต่สามารถดูดซับน้ำได้โดยใช้ขนสีเทาที่ปกคลุมแผ่นใบ เรียกว่าไทรโคม( Trichome ) สามารถดูดซับความชื้นและธาตุอาหารแทนราก และช่วยป้องกันไม่ให้สูญเสียน้ำออกจากลำต้นได้

อ.นิรัช ก้อนใจ นักวิทยาศาสตร์เกษตร
หัวหน้าหน่วยรับปรับปรุงภูมิทัศน์ ศูนย์บริการวิชาการฯ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แกลลอรี่