จากพาหนะแห่งอนาคต... สู่เส้นทางแห่งสปิริต ลูกช้าง มช.

11 กรกฎาคม 2565

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พาหนะแห่งอนาคต
(ภาพจากหนังสือ มช.07)

พาหนะแห่งอนาคต
    ภาพนี้มีชื่อว่า “พาหนะแห่งอนาคต” เป็นภาพขบวนรถไฟที่นำนักศึกษารุ่นแรกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มุ่งหน้าจากกรุงเทพฯ สู่เชียงใหม่ ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2507 เพื่อมาเป็น “ลูกช้าง มช.” ในมหาวิทยาลัยแห่งแรกในส่วนภูมิภาคของประเทศไทยที่เพิ่งสร้างเสร็จในปีนั้น
     
     ขบวนรถไฟสายนี้จึงมีความหมายไม่แต่เฉพาะกับนักศึกษาเท่านั้น แต่ยังมีความหมายต่อชาวเชียงใหม่ที่เรียกร้องให้มีการตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มายาวนานนับสิบปี จนกระทั่งเมื่อนักศึกษารุ่นแรกของ มช.เดินทางมาใน พ.ศ. 2507 และในปีต่อ ๆ มา ภาพการเดินทางโดยรถไฟของนักศึกษาน้องใหม่และการต้อนรับ ที่สถานีรถไฟ ก็กลายเป็นภาพที่คุ้นตาของชาวเชียงใหม่เป็นประจำทุกปี จนเมื่อจำนวนนักศึกษาเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ การต้อนรับนักศึกษาใหม่ของ มช. จึงมีรูปแบบที่ชัดเจนขึ้นในนามของ “ประเพณีรับน้องรถไฟ” นั่นเอง

     อย่างไรก็ตาม จุดเริ่มต้นของประเพณีรับน้องรถไฟนั้น เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเป็นประเพณีที่เกิดขึ้นจากโรงเรียนแพทย์เชียงใหม่ ซึ่งก่อตั้งใน พ.ศ. 2499 และต่อมาได้พัฒนาเป็นคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ ในสังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จนกระทั่งเมื่อมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใน พ.ศ. 2507 จึงได้โอนคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ มาสังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

      โรงเรียนแพทย์เชียงใหม่ในยุคก่อตั้งเกิดขึ้นท่ามกลางเสียงเรียกร้องของประชาชนชาวเชียงใหม่ ที่ต้องการให้มีมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น เมื่อตั้งโรงเรียนแพทย์แล้ว และมีนักศึกษาแพทย์มาเรียนที่เชียงใหม่ จึงทำให้เกิดประเพณีการรับน้องรถไฟขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2503 เป็นกิจกรรมรับน้องของนักศึกษาแพทย์รุ่นแรก รหัส 01 ของโรงเรียนแพทย์เชียงใหม่ ทั้งนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์มนตรี กันตะบุตร แห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเพณีรับน้องรถไฟไว้ในวารสารลูกช้างสัมพันธ์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 ว่า
 
      “...การรับน้องรถไฟของ มช.เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2503 เพราะ นศพ.รุ่นแรก (รหัส 01) เรียนวิชาแพทย์ปี 3 ที่กรุงเทพฯ เกือบหมดแล้ว เหลือแต่วิชา ‘สรีรวิทยา’ วิชาเดียว ซึ่งจะขึ้นไปเรียนที่เชียงใหม่ ก่อนที่รถไฟจะถึงเชียงใหม่นั้น ชาวเชียงใหม่เขาเตรียมต้อนรับนักศึกษารุ่นแรกกันอย่างใหญ่โต เพราะเขาเรียกร้องให้มีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มานานกว่าสิบปีแล้ว วันนั้นจึงมีพาหนะทุกชนิดไปรับ นศพ. รุ่นแรก ข้าง ๆ รถเขียนป้ายแสดงความดีใจที่เชียงใหม่มีมหาวิทยาลัยแล้วการให้น้องเกาะมอเตอร์ไซค์ยังไม่มี เพราะยังไม่มีการใช้รถมอเตอร์ไซค์ นักศึกษาแพทย์ห้ารุ่นแรก ใช้รถจักรยานเท่านั้น...”


ประเพณีรับน้องรถไฟของโรงเรียนแพทย์เชียงใหม่ ใน พ.ศ. 2507
ในปีนี้น้องใหม่ได้ซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์เป็นครั้งแรกของการรับน้องรถไฟ
(ภาพจากวารสารลูกช้างสัมพันธ์)

     สำหรับนักศึกษารุ่นแรกของ มช. นั้น แม้จะเดินทางมาด้วยขบวนรถไฟจากกรุงเทพฯ สู่เชียงใหม่ ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2507 แต่ยังไม่มีการจัดเป็นประเพณีรับน้องรถไฟในปีนั้น ส่วนในปีต่อมา ก็ยังไม่มีประเพณีรับน้องรถไฟ โดยมหาวิทยาลัยจัดขบวนรถไฟให้นักศึกษาที่จะเดินทางมาเชียงใหม่เท่านั้น หลังจากนั้นใน พ.ศ. 2509 การรับน้องใหม่ที่เดินทางมาทางรถไฟก็เริ่มมีสีสันมากขึ้น มีการตีกลอง และคล้องพวงมาลัยดอกมะลิให้แก่น้อง ๆ แล้วพาขึ้นรถบัสเดินทางมาไหว้ศาลพระภูมิ เยี่ยมชมหอพักและตึกคณะต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดประเพณีรับน้องรถไฟอย่างเป็นรูปแบบมากขึ้น ในราวปี 2512 และได้พัฒนารูปแบบของกิจกรรมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

บรรยากาศที่สถานีรถไฟหัวลำโพง เมื่อนักศึกษารุ่นแรกของ มช.เดินทางไปเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 2507

       ประเพณีรับน้องรถไฟของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นับว่าเป็นกิจกรรมแรกที่จัดขึ้นในปีการศึกษานั้น ๆ เพื่อต้อนรับลูกช้างเชือกใหม่ โดยหลังจากการประกาศผลสอบเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว จะมีการนัดหมายวันเวลาเดินทางสำหรับน้องใหม่ที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมประเพณีรับน้องรถไฟ เริ่มต้นที่สถานีหัวลำโพงมุ่งหน้าไปยังเชียงใหม่ โดยระหว่างทางจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ จะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่รุ่นพี่รุ่นน้องจะได้สร้างความคุ้นเคย มีการสอนน้องร้องเพลงมหาวิทยาลัย เพลงประจำคณะ และบูมของคณะ เป็นต้น นอกจากนี้ เมื่อรถไฟเข้าเทียบชานชาลาของสถานีรถไฟของจังหวัดลพบุรี นครสวรรค์ พิษณุโลก และลำปาง ซึ่งอยู่บนเส้นทางที่รถไฟขบวนนี้แล่นผ่าน จะมีรุ่นพี่ศิษย์เก่า มช. ในแต่ละจังหวัดมาร่วมส่งกำลังใจให้แก่ลูกช้างเชือกใหม่ด้วย

ประเพณีรับน้องรถไฟ
(ภาพจากชมรมถ่ายภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

      บรรยากาศของการเดินทางด้วยรถไฟ และ “พาหนะแห่งอนาคต” ที่นำพาน้องใหม่ มช. รุ่นแล้วรุ่นเล่ามาสู่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงเป็นมนต์เสน่ห์ของประเพณีรับน้องรถไฟที่ไม่เคยเสื่อมคลาย แต่เหนือสิ่งอื่นใด ความงดงามที่แฝงอยู่ในทุกกิจกรรมของประเพณีรับน้องรถไฟคือ ความปรารถนาดีจากรุ่นพี่ มช. ทุกรุ่น ทุกรหัส ที่จะให้ความช่วยเหลือ ประคับประคองให้น้อง ๆ ลูกช้างเชือกใหม่ที่ต้องจากบ้านและครอบครัวมาใช้ชีวิตในต่างถิ่น ได้ก้าวผ่านช่วงเวลาของความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้อย่างราบรื่นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เส้นทางแห่งสปิริตลูกช้าง มช.


      ภาพขาวดำภาพนี้คงดูเหมือนภาพถ่ายงานรับน้องขึ้นดอยทั่ว ๆ ไปภาพหนึ่ง หากไม่มีเรื่องราวเบื้องหลังภาพถ่ายที่ รองศาสตราจารย์ ดร.บุญล้อม ชีวะอิสระกุล อดีตรองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะเกษตรศาสตร์ และนักศึกษาคณะเกษตร มช. รหัส 088003 ได้บันทึกความเป็นมาของภาพนี้ไว้ในหนังสือ 50 ปี คณะเกษตรศาสตร์ มช. ว่า

     “น้องใหม่คนแรกที่เดินถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพในงานประเพณีรับน้องขึ้นดอยครั้งแรกของ มช. นั้นเป็นสาวเกษตร โดยมีการบันทึกภาพไว้เป็นหลักฐานดังแนบ” นอกจากจะเป็นหลักฐานแล้ว ภาพประเพณีรับน้องขึ้นดอยเมื่อ พ.ศ. 2508 และน้องใหม่คนแรกที่เดินขึ้นถึงพระธาตุดอยสุเทพ ยังได้เชื่อมโยงไปถึงอดีตวันวานของประเพณีรับน้องขึ้นดอยที่เริ่มต้นจากความเรียบง่าย แต่ทรงพลังอย่างยิ่ง ด้วยรูปแบบกิจกรรมการเดินขึ้นดอยที่แม้จะเหน็ดเหนื่อยและยากลำบาก แต่เส้นทางเดินขึ้นดอยสุเทพที่โอบล้อมไปด้วยป่าไม้ และดงดอยสายนี้ ก็เป็นเส้นทางแห่งสปิริตที่พิสูจน์ความสามัคคีในหมู่คณะ และได้กลายเป็นฉากหลังที่บันทึกความทรงจำอันงดงามครั้งหนึ่งในชีวิตของลูกช้าง มช. อย่างยากที่จะลืมเลือนได้

     ในช่วงแรกของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเมื่อปี 2507 มช. จะเป็นเพียงมหาวิทยาลัยใหม่ที่ยังไม่มีประเพณีใด ๆ เป็นของตัวเอง จึงต้องมีการริเริ่มและสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมดโดยคณาจารย์และนักศึกษารุ่นบุกเบิก โดยประเพณีแรกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็คือ ประเพณีรับน้องขึ้นดอย ซึ่งเกิดขึ้นจากความคิดริเริ่มของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์บุญสม มาร์ติน รองอธิการบดี ที่รับผิดชอบดูแลนักศึกษาในขณะนั้น ท่านได้กล่าวถึงความมุ่งหวังในการกิจกรรมนี้ว่า “...อยากจะเห็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทุกคนมีประเพณีที่ไม่เหมือนใคร แต่เป็นประเพณีที่ประทับใจและจดจำไว้ด้วยความภูมิใจ”

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บุญสม มาร์ติน และนักศึกษา มช.รหัส 07
ภาพจากหนังสือทศวรรษแรก ชีวิตนักศึกษา มช.


ภาพกิจกรรมรับน้องขึ้นดอยของนักศึกษา มช. รุ่นแรก ใน พ.ศ. 2507

      หลังจากที่นักศึกษาใหม่เข้ารับการปฐมนิเทศแล้ว ศาสตราจารย์ นายแพทย์บุญสม จึงได้ชักชวนนักศึกษาทุกคนเดินเท้าขึ้นดอยสุเทพตามรอยทางแห่งศรัทธาของชาวล้านนา เนื่องจากถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพนั้น สร้างขึ้นจากกำลังกาย กำลังทรัพย์ และกำลังศรัทธาของประชาชนนับแสนคน จนแล้วเสร็จภายในเวลาเพียง 5 เดือนเศษเท่านั้น ในวันนั้นนักศึกษา มช. รุ่นแรกจึงได้เดินขึ้นดอยสุเทพโดยมีเป้าหมายเพื่อนมัสการ พระธาตุดอยสุเทพ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่ เพื่อความเป็นสิริมงคล และใครที่ผ่านประเพณีรับน้องขึ้นดอยนี้แล้ว จะถือได้ว่าเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยสมบูรณ์

ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ผู้เป็นกำลังหลักในการสร้างถนนขึ้นสู่พระธาตุดอยสุเทพ





นักศึกษานมัสการและปฏิญาณตนต่อพระธาตุดอยสุเทพ
ในประเพณีรับน้องขึ้นดอย พ.ศ. 2514

      จากความสำเร็จของกิจกรรมรับน้องขึ้นดอยที่มีนักศึกษาใหม่ของ มช. เข้าร่วมราวสองร้อยกว่าคน ใน พ.ศ. 2507 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้ยึดถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบเนื่องต่อกันมาทุกปี จนปัจจุบันประเพณีรับน้องขึ้นดอยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้กลายเป็นประเพณีรับน้องที่สร้างสรรค์ และได้รับความสนใจจากสาธารณชนทั่วประเทศ ดังภาพที่ได้รับการเผยแพร่บนสื่อต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงพลังแห่งสปิริตและน้ำใจของนักศึกษาใหม่ รุ่นพี่รุ่นน้อง และศิษย์เก่า มช. ที่ร่วมอยู่ในประเพณีนี้จำนวนหลายหมื่นคนด้วยกัน

     ประเพณีรับน้องขึ้นดอย มักจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 1 หรือ 2 ของเดือนที่ 2 หลังเปิดภาคเรียนเทอมที่ 1 แล้ว นั่นคืออยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี โดยหลังจากเปิดภาคเรียนในเดือนมิถุนายนแล้ว สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สโมสรคณะ รวมทั้งรุ่นพี่ในคณะต่าง ๆ จะเตรียมการสำหรับประเพณีนี้ ทั้งการเตรียมความพร้อมด้านร่างกาย และการซ้อมเชียร์ต่าง ๆ เมื่อถึงวันรับน้องขึ้นดอย นักศึกษาทุกคณะจะมาพร้อมเพรียงกันที่ศาลาธรรม เพื่อรับโอวาทจากอธิการบดี หลังจากนั้นจึงเคลื่อนขบวนไปสักการะอนุสาวรีย์ ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ผู้บุกเบิกการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ จากนั้นขบวนของคณะต่าง ๆ ก็ทยอยเดินขึ้นดอยสุเทพอย่างพร้อมเพรียงกัน



      จุดสำคัญของเส้นทางเดินขึ้นพระธาตุดอยสุเทพก็คือ “โค้งวัดใจ” หรือโค้งขุนกันชนะนนท์ เป็นโค้งหักศอกช่วงสุดท้ายก่อนถึงพระธาตุดอยสุเทพที่มีความลาดชันมาก โค้งนี้ได้รับการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ขุนกันชนะนนท์ คหบดีชาวเชียงใหม่ ผู้ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลการสร้างถนนช่วงสุดท้ายก่อนถึง พระธาตุดอยสุเทพ ใน พ.ศ. 2478 ในประเพณีรับน้องขึ้นดอย โค้งขุนกันชนะนนท์ได้กลายเป็นจุดสำคัญ ในการพิสูจน์สปิริตและความสามัคคีของน้องใหม่ มช. ทุกคน ทุกคณะ ด้วยการจับมือกอดคอวิ่งผ่านโค้งนี้ ไปให้ได้ เมื่อผ่านโค้งขุนกันฯ ไปแล้ว นักศึกษาแต่ละคณะจะทยอยเดินขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ โดยการเวียนเทียนรอบพระธาตุ 3 รอบ เพื่อความเป็นสิริมงคล



วิ่งขึ้นโค้งขุนกันฯ

      ภาพของนักศึกษานับหมื่นคนที่เดินขึ้นดอยสุเทพในวันรับน้องขึ้นดอย อาจงดงามและน่าประทับใจ ในมุมมองของผู้พบเห็น แต่ที่จริงแล้วความยิ่งใหญ่ของประเพณีรับน้องขึ้นดอย ไม่ใช่พิธีกรรม ขบวนแห่ ที่อลังการ หรือจำนวนผู้เข้าร่วมงาน แต่เป็นความสวยงามของคำว่า “สปิริต” ที่ทำให้หลายคนได้เรียนรู้ และเข้าใจถึงคำว่า หน้าที่ ความรับผิดชอบ การต่อสู้ฝ่าฟันกับความยากลำบาก และมิตรภาพในระหว่างทางเดินขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ ที่คงเป็นระยะทางที่แสนสั้น...เมื่อเทียบกับเส้นทางชีวิตที่ยาวไกลและยากลำบากกว่าอีกหลายเท่าในอนาคตข้างหน้า


      จากพาหนะแห่งอนาคตที่นำพาน้องใหม่ผ่านประเพณีรับน้องรถไฟ มาสู่เส้นทางแห่งสปิริต ในวันรับน้องขึ้นดอย ไม่ว่าใครที่เคยกอดคอเพื่อนวิ่งขึ้นโค้งขุนกันฯ หรือหัดบูมคณะเป็นครั้งแรกที่สถานีรถไฟ เราทุกคนต่างผูกพันกันด้วยสายใยที่มองไม่เห็นด้วยตา แต่สัมผัสได้ด้วยใจ ในความเป็น “ลูกช้าง มช.”

เอกสารอ้างอิง
- หนังสือ มช.07 โดยสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- หนังสือครบรอบ 20 ปี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- หนังสือ 50 ปี เกษตรศาสตร์ มช.
- หนังสือทศวรรษแรก ชีวิตนักศึกษา มช.
- วารสารลูกช้างสัมพันธ์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 ประจำเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2548