วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี นอกจากจะเป็นวันสงกรานต์แล้ว ยังเป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” อีกด้วย วันสำคัญนี้ถูกกำหนดขึ้น เพื่อให้ลูกหลานได้เห็นถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ บุคคลอันเป็นที่เคารพรัก ผู้ซึ่งเป็นสายใยสำคัญของครอบครัว
ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ เราจึงต้องให้ความสำคัญและช่วยกันดูแลเอาใจใส่ในคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ เพื่อให้ท่านมีความสุข สุขภาพร่างกายแข็งแรง และอยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้กับครอบครัวไปนานๆ
อ.นพ.ปรเมษฐ์ วินิจจะกูล อาจารย์ประะจำหน่วยโรคติดเชื้อและเวชศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ด้วยอายุที่เพิ่มมากขึ้นของผู้สูงอายุ ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายที่จะต้านทาน หรือป้องกันเชื้อโรค เสื่อมถอยลง ทำให้ผู้สูงอายุมักติดเชื้อได้ง่าย และเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ซึ่งโรคติดเชื้อบางโรค สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง และเนื่องในโอกาสวันผู้สูงอายุแห่งชาติ จึงอยากให้ทุกครอบครัวตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพของผู้สูงอายุมากขึ้น
วัคซีนที่จำเป็นในผู้สูงอายุมีดังนี้
• วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยมีเฉพาะชนิดเชื้อตาย มี 2 ชนิด ได้แก่
- วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิด 3 สายพันธุ์ ประกอบไปด้วย ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A/H1N1, ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A /H3N2, และไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B Victoria
- วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์ ประกอบไปด้วย ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A/H1N1, ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A/ H3N2 ,ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ตระกูล Victoria , ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ตระกูล Yamagata
•วัคซีนป้องกันโรคปอดบวม
โรคปอดอักเสบหรือโรคปอดบวม เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ “สเตรปโตคอคคัสนิวโมเนียอี” (Streptococcus pneumoniae) ในผู้สูงอายุที่ติดเชื้อตัวนี้มีโอกาสพบอาการที่รุนแรง ในบางรายอาจเกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคปอดบวม2 ชนิด ได้แก่
- 13 สายพันธุ์ (ชนิดคอนจูเกต)
วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ
- 23 สายพันธุ์ (ชนิดโพลีแซคคาไรด์)
โดยแนะนำให้ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป รับวัคซีนชนิดคอนจูเกต 13 สายพันธุ์ก่อน ตามด้วย วัคซีนชนิดโพลีแซคคาไรด์ 23 สายพันธุ์ เว้นระยะห่างตั้งแต่ 2 เดือน- 1 ปี ขึ้นไป แต่ถ้าหากผู้สูงอายุมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไต สามารถรับวัคซีนก่อนอายุ 65 ปีได้
•วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19
โรคโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาซาร์โควี-2 (SAR-CoV-2) โรคนี้จะก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้โดยเฉพาะในผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว ปัจจุบันได้มีการคิดค้นวัคซีนป้องกันโรค โควิด-19 เพื่อที่จะลดความรุนแรงของโรคนี้ ถึงแม้ว่าด้วยสถานการณ์การกลายพันธุ์ของเชื้อจะทำให้วัคซีนป้องกัน โควิด-19 ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่วัคซีนทุกชนิดที่มีอยู่ในตอนนี้ ก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าจะช่วยลดความรุนแรงของโรคและลดอัตราการเสียชีวิตได้ และเนื่องด้วยสถานการณ์การกลายพันธุ์ในปัจจุบัน เช่นสายพันธุ์โอไมครอน มีคำแนะนำให้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นเข็มที่สาม หรือเข็มที่สี่ ภายหลังจากได้รับวัคซีนชุดแรกครบสองเข็ม โดยที่ชนิดของวัคซีน และการเว้นระยะระหว่างการได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น จะเป็นไปตามนโยบายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับท่านใดยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกัน โควิด-19 แม้แต่เข็มเดียวก็ขอให้รีบติดต่อสถานพยาบาล หรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านโดยเร็วที่สุดเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต หรือโอกาสเกิดโรครุนแรงได้
ทั้งนี้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และวัคซีนป้องกันโรคปอดบวม สามารถให้ร่วมกันได้ในครั้งเดียวได้ และในส่วนของวัคซีนโควิด-19 แนะนำให้เว้นระยะไปประมาณ2สัปดาห์
นอกจากนี้ยังมีวัคซีนสำหรับผู้สูงอายุที่อยากแนะนำอีก2 ชนิด กล่าวโดย ศ.พญ.รมณีย์ ชัยวาฤทธิ์ หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อและเวชศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ได้แก่ วัคซีนคอตีบ ไอกรน และบาดทะยัก และ วัคซีนงูสวัด
•วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน และบาดทะยัก
โรคคอตีบ ไอกรน และบาดทะยัก เกิดจากการติดเชื้อจากแบคทีเรียคนละชนิด โรคคอตีบและไอกรน มักจะพบในเด็กที่ได้รับวัคซีนไม่ครบ หรือไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ซึ่งผู้สูงอายุมีโอกาสรับเชื้อจากเด็กที่ป่วย แต่ด้วยผู้สูงอายุ ซึ่งเคยฉีดวัคซีนชนิดนี้มาก่อนในวัยเด็ก ระดับภูมิคุ้มกันที่เหลือในปัจจุบันไม่มากพอที่จะป้องกันโรคได้ อีกทั้งความสามารถในการกำจัดเชื้อโดยระบบภูมิคุ้มกันของผู้สูงอายุด้อยประสิทธิภาพลง จึงเป็นเหตุผลที่ผู้สูงอายุควรได้รับวัคซีนชนิดนี้เป็นเข็มกระตุ้นเพิ่ม
สำหรับโรคบาดทะยัก เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ดังนั้นผู้สูงอายุจึงควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น
วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เป็นวัคซีนที่จำเป็นต้องฉีดในเด็กทุกคน สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่เคยได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นมาก่อน ต้องได้รับวัคซีนรวมทั้ง 3 ชนิด 1 ครั้งและหลังจากนั้นให้ฉีดกระตุ้นซ้ำทุก 10 ปี โดยอาจจะเลือกเป็นวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยักหรือวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยัก อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้ผู้สูงอายุ มีภูมิคุ้มกันเพียงพอต่อการป้องกันโรคทั้ง 3 ชนิดนี้
•วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด
โรคงูสวัดเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับไวรัสที่ก่อให้เกิดอีสุกอีใส การติดเชื้อครั้งแรกจะทำให้เกิดโรคอีสุกอีใสในเด็ก โดยเมื่อหายจากโรคอีสุกอีใสแล้วเชื้อไวรัสจะเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในปมประสาทของร่างกายโดยไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติใดๆ เมื่ออายุมากขึ้นระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง หรืออาจเกิดจากการได้รับยากดภูมิต่างๆ เชื้อนี้จะสามารถออกมาจากปมประสาทและก่อให้เกิดผื่นขึ้นที่ผิวหนังตามแนวเส้นประสาท แล้วกลายเป็นตุ่มน้ำใส ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบร้อนบริเวณผิวหนังได้ตั้งแต่ก่อนผื่นขึ้น ขณะผื่นขึ้น หรือหลังจากที่ผื่นหายแล้ว และอาจจะมีอาการอยู่ได้นานหลายปี
วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดมีอยู่ 2 ชนิด ชนิดแรกเป็นวัคซีนเชื้อไวรัสที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ลง และ ชนิดที่สองทำจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อผสมสารกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งในประเทศไทยจะมีแต่ชนิดแรกที่เท่านั้น เมื่อป่วยเป็นโรคงูสวัดจะช่วยลดความรุนแรงของอาการปวดและคงอยู่ไม่นาน เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ได้รับวัคซีน แต่ในวัคซีนชนิดนี้จะมีข้อห้ามสำหรับผู้ที่รับยากดภูมิคุ้มกัน การฉีดวัคซีนงูสวัดเหมาะสำหรับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 1 ครั้ง
ผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มวัยที่ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เนื่องด้วยความเสื่อมของร่างกาย การรับวัคซีนที่จำเป็น จึงเปรียบเสมือนการเสริมเกราะป้องกันสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันการเกิดโรค ขอเชิญชวนทุกครอบครัวพาผู้สูงอายุมารับวัคซีนดังที่กล่าว เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้สูงอายุ
สอบถามข้อมูลเรื่องวัคซีน ได้ที่ ศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หมายเลขโทรศัพท์ 053920666
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#MedCMU #MedCMUในมือคุณ
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#สื่อสารองค์กรMedCMU #วัคซีนในผู้สูงอายุ
#วันผู้สูงอายุแห่งชาติ