ค่าฝุ่นละอองส่วนใหญ่ในพื้นที่ภาคเหนือยังคงรุนแรงต่อเนื่อง มลพิษทางอากาศ PM 2.5 ที่ประชาชนต้องเผชิญในทุกปีนั้นเป็นปัญหาที่ยากที่จะหลีกเลี่ยง เกิดผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้น สามารถสะสมก่อให้เกิดโรคได้ในระยะยาว สิ่งที่สามารถทำได้คือการป้องกันตัวเอง และหลีกเลี่ยงการรับฝุ่น PM 2.5 เข้าสู่ร่างกาย มหาวิทยาลัยตระหนักถึงความปลอดภัยในสุขภาพนักศึกษา สร้างพื้นที่ปลอดภัยภายในหอพักนักศึกษา เดินหน้า “นวัตกรรมสร้างอากาศสะอาด (Clean air) สำหรับห้องพักนักศึกษา” ด้วยนวัตกรรมและทีมนักวิจัยจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โครงการสร้างอากาศสะอาด (Clean air) สำหรับห้องพักนักศึกษาในหอพักนักศึกษา โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อสร้างห้องปลอดฝุ่น ควบคุมระดับของสิ่งปนเปื้อนในอากาศให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย เริ่มจากการออกแบบและติดตั้งมุ้งหรือผ้าม่านกันฝุ่นบริเวณหน้าต่างหรือบานเกร็ดภายในห้องพักนักศึกษา และดำเนินการติดตั้งระบบเติมอากาศสะอาดที่ควบคุมด้วยระบบ WIFI ในแต่ละหอนักศึกษา เพื่อเพิ่มอากาศสะอาดภายในห้องพักทุกห้อง สร้างพื้นที่ปลอดภัยแก่หอพักนักศึกษา 16 อาคาร รวมกว่า 2,700 ห้อง ซึ่งสามารถเช็คคุณภาพอากาศได้ตลอดเวลาจากเครื่องวัดปริมาณฝุ่น ณ บริเวณด้านล่างหอพัก
นอกจากหอพักนักศึกษาแล้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังจัดพื้นที่ปลอดภัย Clean Room เพื่อเป็นห้องปลอดฝุ่นให้ชาว มช. สามารถใช้บริการได้ในช่วงสถานการณ์ฝุ่นควัน ทั้งในพื้นที่ส่วนกลาง คณะและส่วนงานต่าง ๆ ทั่วทั้งมหาวิทยาลัย
การดูแลตัวเองจากฝุ่น PM 2.5 ด้วยการสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันฝุ่นนั้น ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก โดยกองพัฒนานักศึกษา ร่วมกับมูลนิธิพัฒนามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้แจกหน้ากากอนามัยป้องกัน PM2.5 แก่นักศึกษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนักศึกษาสามารถรับหน้ากากได้คนละ 2 ชิ้น/วัน ด้วยการ Scan QR Code ผ่าน CMU Mobile ในวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 09.00 - 17.00 และรับได้ที่ ศูนย์บริการนักศึกษา ตี้เดียวฮู้เรื่อง SD One Stop Service (ลานกิจกรรม อ.มช. เดิม)
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในฐานะศูนย์กลางสนับสนุนทางวิชาการและเชื่อมโยงทุกภาคส่วนในการร่วมแก้ไขปัญหาหมอกควันอย่างยั่งยืน จากการดำเนินโครงการต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานทั้งภายใน และภายนอกมาอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยศูนย์วิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มช. ได้บูรณาการชุดองค์ความรู้และงานวิจัย ร่วมแก้ไขปัญหากับจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงสร้างพื้นที่นำร่องในการแก้ไขปัญหาในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นขับเคลื่อน CMU Model สร้างชุมชนต้นแบบ ให้ความรู้แก่สาธารณะเกี่ยวกับผลกระทบเรื่องหมอกควันและการดูแลรักษาตนเองเบื้องต้น สร้างความตระหนักถึงผลกระทบจากหมอกควันและวิธีการดูแลรักษาตัวเองเบื้องต้นในช่วงฤดูหมอกควัน และได้มอบหน้ากากความดันบวก MasquraX for Firefighter และหน้ากากป้องกันฝุ่น Flowmax แก่ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ดับไฟป่ามาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนพัฒนานวัตกรรมและติดตั้งเครื่องวัดฝุ่น "DustBoy" ทั่วประเทศ ทำให้สามารถแสดงข้อมูลคุณภาพอากาศได้ครอบคลุมทุกจังหวัดในไทยอีกด้วย

โดยในอนาคตอันใกล้ ศูนย์วิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มช. พร้อมติดตั้งตู้แจกหน้ากากป้องกันอัตโนมัติเพิ่มในบริเวณต่าง ๆ ของมช. ภายใต้โครงการ CMU MASK SMART MACHINE ที่นักศึกษาและบุคลากรสามารถกดรับหน้ากากได้ด้วยตนเองนักศึกษาและบุคลากร มช. สามารถติดตามคุณภาพอากาศผ่านแอปพลิเคชัน CMU Mobile Application ที่ฟังก์ชัน CMU Air Quality สามารถดูค่าฝุ่น PM2.5 (ชั่วโมง/รายวัน) ณ จุดต่าง ๆ และค้นหาห้องปลอดฝุ่น Clean Room ภายในมหาวิทยาลัย ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน CMU MOBILE ได้ที่ Android และ iOS

นอกจากนี้ ยังได้เปิดให้บริการติดตามค่าฝุ่น PM2.5 และคุณภาพอากาศประเทศไทยได้อย่างสะดวกผ่าน Line Official Account Air Quality by CMU ให้บริการฟรีสำหรับประชาชน โดย Mascot น้องฟ้าใส หรือน้องช้างสีฟ้ารายงานค่าฝุ่น พยากรณ์ดัชนีคุณภาพอากาศ แจ้งเตือนภาพรวมค่าฝุ่น PM2.5 ของประเทศไทย ในช่วงสถานการณ์วิกฤติหมอกควันรุนแรงในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ของทุกปี อีกทั้งยังสามารถเช็คพื้นที่ปลอดฝุ่น Safety Zone พยากรณ์ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ล่วงหน้า 3 วัน และแสดงข้อมูลจุดความร้อน Hotspot ทำให้ประชาชนสามารถทราบข้อมูลเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันตนเองได้อย่างทันท่วงที