ฝนลาฟ้าไป ฤดูกาลใหม่ฝุ่นในหน้าหนาว-แล้ง กำลังจะมา เมืองเหนือกำลังจะเผิญหน้ากับ “ทางของฝุ่น” ที่ขุ่นกรุ่นมลพิษอีกครั้ง

30 ธันวาคม 2564

คณะวิศวกรรมศาสตร์

    

         แต่ก่อนนั้น...เรายังเข้าใจ ว่าฤดูกาลของประเทศไทยมีเพียง ร้อน ฝน และหนาว ..เท่าที่ผู้เขียน (ในที่นี้ขออนุญาตแทนตนเองว่า “ฉัน”) ...ใช่!...ฉันจำได้ว่าเราได้ฤดูเถ้าฝุ่น หรือ หมอกควัน(พิษ)เป็นของแถม เท่าที่ความทรงจำของฉันระลึกได้ เขาเริ่มโผล่มาสวัสดีชาวโลก เมื่อปี 2549 ตอนนั้นฉันเรียนจบปริญญาตรีหมาด ๆ กำลังเวิร์คชอปเตรียมละครเวทีที่ควักทุนทำเองกับเพื่อน ทันใดนั้นก็พลันมีเศษขี้เถ้าประหนึ่งใครเผากองหนังสือพิมพ์ใกล้ ๆ บริเวณนั้น จากหนึ่งชิ้น สองชิ้น จนกว่าสิบชิ้น และชิ้นสุดท้ายหล่นเข้าปากจนบ้วนออกแทบไม่ทัน ฉันและ พรรคพวกแหงนมองท้องฟ้า พากันลงความเห็นว่านั่นไม่ใช่ขี้เถ้าจากบริเวณใกล้ ๆ แต่ใดดอก มันมาจากดินแดนอันไกลโพ้น เพราะอะไร....เพราะ ไม่ว่าเราเดินทางไปตรงไหนของเชียงใหม่ ท้องฟ้าเดือนเมษายนที่มักเป็นสีฟ้าสดใสก็เป็นสีเทาหม่น ๆ นานสัปดาห์แล้ว สัปดาห์เล่า จากนั้นมา จึงเป็นที่รู้กันว่าหน้าแล้ง = ฤดูเขม่าฝุ่นควัน

          ปัญหาฝุ่นควันบุกเมืองทวีความรุนแรงเป็นนิจทุกปี ล่าสุดเมื่อเริ่มเข้าฤดูหนาว (เอ๊ะ!...หนาวไหมนะ) ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน “พี่ฝุ่น” จะเดินตามทางของเขาเพื่อทักทาย และใช้ชีวิตร่วมกับเราเสมอจนถึงเดือนที่ฝนเริ่มตกนั่นแหละคุณผู้ชม มากกว่านั้นเขายังคร่าชีวิตคนทั่วโลกมาแล้วโดยประมาณ 7 ล้านคนต่อปี ...แล้วเราจะทำอย่างไรต่อจากนี้ ... ในเมื่อมันคือปัญหาที่เรามิอาจต้านทานได้ เราจะอยู่รอดอย่างปลอดภัย ได้เยี่ยงไรกันเล่า ... มาสิ ... ฉันจะเล่าให้ฟัง

    

        ฉันเป็นพนักงานปฏิบัติงานคนหนึ่งของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในรอบสามสี่ปีที่ผ่านมาฉันเห็นทั้งคณาจารย์ นักวิจัย แม้แต่นักศึกษาช่วยกันบรรเทาทุกข์แก่คนอื่น ๆ ในยามประสบภัย ไม่ว่าระดมเงินบริจาคกันเองแล้วซื้อหน้ากากมาแจก โดยเริ่มจากเพื่อนพ้อง น้องพี่ เจ้าหน้าที่ทั้งหลาย รวมถึงพี่ยาม ในรั้ว มช. คนที่อยู่บริเวณรอบ ๆ มหาวิทยาลัยก็ไม่มองข้าม ทีมนักวิจัย นำโดยคณาจารย์มือฉมังลงมือทำห้องปลอดฝุ่นในหอพักนักศึกษา มุ้งสู้ฝุ่น และ เครื่องกรองอากาศแบบ DIY โดย “เด็กปั้น” ของ อาจารย์ ดร.อานันท์ สีห์พิทักษ์เกียรติ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งไม่เพียงแต่สอนทำ แต่ยังได้ร่วมมือร่วมใจกับกลุ่มวิจัยอื่น และรับงบประมาณสนับสนุนจากพันธมิตรกระจายอุปกรณ์กันภัยเหล่านั้นไปยังพื้นที่ห่างไกล อาจารย์ บางท่าน เช่น รองศาสตราจารย์ชูโชค อายุพงศ์ (ภาควิชาวิศวกรรมโยธา) หัวหน้าศูนย์วิจัยด้านการจัดการภัยพิบัติธรรมชาติ (CENDIM) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภาสกร แช่มประเสริฐ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยศธนา คุณาทร (รวมถึงท่านอื่นที่ฉันม่ทราบรายนาม) ขนทีมนักวิจัย นักศึกษาทุกระดับไปเป็นวิศวกรอาสาทำงานร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ ทำ Safe Zone ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เชียงใหม่ นอกจากนี้ หน้าที่ของสถาบันการศึกษาอย่างเราพึงกระทำ คงมิได้มีเพียงบรรเทาปัญหา “หน้างาน” ที่เกิดขึ้น เรามีการทบทวนไปถึงจุดเริ่มต้นของการอยู่รอดจาก “ทางของฝุ่น” โดยการให้ความรู้ ทำความรู้จักกับ “พี่ฝุ่น” ครอบคลุมไปยังสิ่งที่เขาจะโจมตีมนุษย์อย่างเราได้ รวมถึงการใช้ยุทโธปกรณ์แบบ Manual / กึ่ง Manual ไปจนถึงเทคโนโลยีอิเลกทรอนิกส์ต่าง ๆ เฉกเช่นคำกล่าวที่ว่า “ให้ปลาฉัน 1 ตัว ฉันมีกิน 1 วัน สอนฉันหาปลา ฉันมีกินตลอดไป” การอยู่รอด อย่างปลอดภัยฝุ่นก็เช่นกันฉันท์นั้นแล

  

         ปีที่ผ่านมา วิศวฯ มช. ทำอะไรบ้าง? ไม่นับเรื่องเล็ก ๆ ย่อยยิบสิบ ร้อย พันประการที่เกริ่นไปแล้ว ฉันขอเล่าเฉพาะที่ฉันคิดว่า “ใช่ ๆ เราควรเน้นประเด็นนี้แหละ” เริ่มกันที่เจ้าของแนวคิด "จุดตะเกียง ดีกว่าด่าความมืด" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภาสกร แช่มประเสริฐ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (ตอนนี้ควบตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มช. ด้วย ลองคิดดูกันเองว่าเจ๋ง ว้าวเพียงไหน) เจ้าพ่อระบบ นวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศที่นำไปใช้ได้จริง จากเพียงต้องการปกป้องลูกชายให้พ้นภัย ขยายไปถึง คนบนโลกใบนี้ให้ได้มากที่สุด โดยมองว่า “เรื่องฝุ่นเป็นเรื่องทุกคนต้องรู้” ร่วมเป็นหนึ่ง ในขบวนการขับเคลื่อนกลไกและเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพการศึกษา จังหวัดเชียงใหม่เดินท่อต่อหลักสูตรฝุ่นควัน PM 2.5 สู่สถานศึกษานำร่องกว่า 400 แห่ง จัดทำแผนพัฒนาการศึกษาเด็กปฐมวัยจังหวัดเชียงใหม่ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2564) นับเป็นการทำงานเชิงรุกที่แท้จริงภายใต้สถานการณ์ฝุ่นควัน PM 2.5 แถมยังจับมือกับ ทีมอาจารย์ นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.จักรพงษ์ นาทวิชัย ภาควิชาวิศวกรรมคอมผิวเตอร์ และรองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์และแผนงาน เติมเต็มด้วยนักศึกษา ป.โท หลักสูตรวิทยาการข้อมูล (Data Science) นอกเหนือจากคอยเตือน คอยบอกให้ใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่างทางสังคมแล้ว ยังรับบทผู้ส่งต่อความรู้เรื่องภัยฝุ่นควัน เสนอวิธีการ พร้อมเทคโนโลยีตรวจสอบคุณภาพอากาศด้วยระบบ AirKM รวมถึงช่องทางอื่น ๆ ที่นักเรียน หรือ ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบด้วยตนเองได้ ส่วนตัวฉันมองว่านี่คือสัญญาณที่ดีของการแก้ปัญหา จาก “ต้นทาง” ไม่ต้องรอให้ “วัวหาย” แล้วจึง “ล้อมคอก”

  

         มากกว่าการให้ความรู้ อาจารย์ภาสกร ยังมีส่วนร่วมในการช่วยแก้ปัญหาใน “ระหว่างทาง” เดินตามมือโปรเรื่องการจัดการพลังงาน และระบบความดัน ขัน ขัด ตัด ฟอกอากาศอีกท่าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยศธนา คุณาทร แห่งภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล และรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มช. (ERDI-CMU) นำองค์ความรู้ที่ช่ำชอง ประดิษฐ์นวัตกรรมเพื่อ “ครอบ” ความปลอดภัยมากขึ้น ได้แก่ มุ้งสู้ฝุ่น และห้องปลอดฝุ่น ณ หอพักนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัย ด้วยหลักการ “ผลักอากาศเสีย – ดูดอากาศดี” นั่นเอง

  

    

  

       ใครจะรู้บ้างว่าขณะที่เราหลับใหลในภวังค์ตอนกลางคืน การระบายอากาศน้อย แต่มีความหนาแน่นมากว่าตอนกลางวันมากโข เราจึง สูดอากาศที่ไม่ดีเข้าไปโดยไม่รู้ตัว “มุ้งสู้ฝุ่น” ถูกออกแบบมาเพื่อผู้ที่ไม่มีกำลังซื้อเครื่องฟอกอากาศ ผู้สูงวัย ผู้ป่วยติดเตียง หรืออาศัยในบ้านที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ และบ้านไม้ ด้วยราคาย่อมเยา (ประมาณ 1,500 บาท) ทั้งยังเคลื่อนย้ายง่าย มุ้งนี้สามารถทำให้อากาศสะอาดในระดับ “เป็นมิตรต่อปอด” ภายใน 5 นาทีเท่านั้น เมื่อเราใช้ผ้ามุ้งอย่างละเอียดกั้นอากาศเสียไม่ให้เข้าด้านใน ด้วยพัดลมระบายความร้อน ต่อเชื่อมกับ ไส้กรองอากาศ พร้อมนำถุงผ้าคลุมปลายพัดลมป้องกันลมพัดแรงเกินควร ประหนึ่งเดียวกับการกั้นลูกโป่งไม่ให้เกิดรอยรั่ว หากแรงลงเหมาะสมลูกโป่งก็พองตลอดเวลา ตัวมุ้งเองก็เช่นกัน เมื่อรับอากาศดีเข้าไป ฝุ่นพิษก็ไม่สามารถ “ตีป้อม” เข้าไปได้ นอกเหนือจากนั้นยังทำให้เราไม่ต้อง สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา หากนึกภาพไม่ออก ให้ลองนึกถึงผู้ป่วยทางเดินหายใจที่นอนเรียงรายในห้องรวม เพียงแค่หายใจเองก็ลำบากพอตัว หากต้องสวมหน้ากากตลอดเวลาก็คงจะเหนื่อยไม่น้อย “มุ้งสู้ฝุ่น” สร้างมาเพื่อเป็นต้นแบบ และประดิษฐ์ออกไปช่วยเหลือผู้คน เน้นผู้สูงวัย และผู้ป่วยติดเตียงตามโรงพยาลโดยเฉพาะในแถบชานเมือง หรือ ชนบท ด้วยการสนับสนุนจากหน่วยวิจัยอื่น อย่างเจ้าของโปรเจคเครื่องวัดฝุ่น ที่เจริญเติบโตจากโครงการวิจัย “การเฝ้าระวังและติดตามคุณภาพอากาศด้วยเครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และ PM10 แบบเซนเซอร์ (DustBoy)” นำโดยหัวหน้าโครงการฯ รองศาสตราจารย์ ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มช. ร่วมกับผู้แทนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)


    

       ต่อยอดไปจากมุ้งที่กล่าวไปแล้วนั้นยังขยายผลแกไปอีก โดยจับมือกับเอกชนเพื่อทำ “หอพักปลอดฝุ่น” แก่นักศึกษา มช. ได้ถึง 9 อาคาร รวมกว่า 1,400 ห้อง หลักการคล้าย ๆ มุ้งแต่เปลี่ยนเป็นการใช้ผ้าปิดมุ้งลวด และช่องลม พร้อมใช้เครื่องเป่าลมที่ได้รับสนับสนุน จากเอกชนในงบประมาณ 16,000 บาท/ เครื่อง สามารถจุนเจืออากาศสะอาดให้น้อง ๆ ลูกช้างในหอพักได้ 2 ห้อง หรือ 20 – 30 ตารางเมตร/ เครื่อง ซึ่งนักศึกษาสามารถสัมผัสได้ถึงความสดชื่นรื่นนาสิกอันแตกต่างระหว่างนอกห้อง กับในห้องอย่างชัดเจนเลยทีเดียว

    

         ส่วนนักศึกษาวัยรุ่นไฟแรงก็ไม่น้อยหน้า นายจตุพร สุขอ่วม และนายจรุกิตติ์ เหล่ากาวี แห่งภาควิชาวิศวกรรรมเครื่องกล รวมพลพรรคนักวิจัยพัฒนาประดิษฐ์นวัตกรรมอัปเกรดหน้ากากความดันบวก "MasquraX@CMU" รวมร่างเครื่องฟอกอากาศกับหน้ากากไว้ในอุปกรณ์ เพียง 1 ชุด ภายใต้การดูแลของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ว่าน วิริยา ตัวแทนคณะทำงาน ด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมผู้สนับสนุน ได้แก่ ภาควิชาเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. มูลนิธิพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึงเงินบริจาคของทีมคณะทันตแพทย์ศาสตร์ นำทีมโดย อ.ทพญ. ภัทริกา อังภสิทธิ์ ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มช. พร้อมเงินอัดฉีดจากประชาชนผู้ใจบุญเป็นอาทิ ต่อยอด ตัวต้นแบบไปใช้จริงตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น มอบให้อาสาสมัคร นักผจญเพลิงในช่วงเกิดไฟป่า อย่างหนักในเชียงใหม่ รวมถึงโรงพยาบาล เพื่อบุคลากร “ด่านหน้า” ทางการแพทย์ เพราะประจวบเหมาะกับที่ “COVID-19” ถือกำเนิดแพร่เผ่าพันธุ์จนเดือดร้อนไปกันทั่วโลก นับว่าชาติใดก็ไม่แพ้ชาติใดในโลกกันเลย นอกจากนี้น้อง ๆ ยังสร้างเครื่องฟอกอากาศตัวยักษ์ “Dust Killer” ภายใต้มือโปรผู้ชี้แนะ นำทาง คือ ศาสตราจารย์ ดร.นคร ทิพยาวงศ์ ศาสตราจารย์รุ่นใหม่ไฟแรงเวอร์แห่งภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คุณสมบัติเด่นของมันทำให้ห้องขนาดใหญ่ประมาณ 400 ลูกบาศก์เมตรเต็มไปด้วยอากาศสะอาด จาก “เจ้ายักษ์” หนึ่งเดียวตัวนี้ แถมไม่จำเป็นต้องมากเรื่อง พะว้าพะวังกับการเปลี่ยนฟิลเตอร์ เพราะมันสามารถถอดนำออกมา ทำความสะอาด แล้วใส่กลับเข้าที่เดิมใช้งานใหม่ได้เรื่อย ๆ หลักการทำงานสั้น ๆ คือ ล้างฝุ่นด้วยไฟฟ้าสถิตย์นั้นแล เจ้ายักษ์นี้มีหน้าจอแสดงอีโมจิน่ารักกุ๊กกิ๊กเพื่อบ่งบอกค่าฝุ่นว่าดีต่อปอดของเราหรือไม่

         “Dust Killer” เกิดจากการสนับสนุนของภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มช. ในงบประมาณไม่เกินสามแสนบาท จากหนึ่งล้านบาท ที่ทางภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลจัดสรรให้น้อง ๆ ได้นำไอเดียบรรเจิดมาสร้างให้เป็นเรื่องจริงผ่าน ME-Club (รุ่น 2 ) ใครอยากยลโฉมผลงานทั้งสองสิ่ง ลองไปติดตามดูในรายการ เ(ก)รียนไหนดี ตอนบอกลาฝุ่น ด้วยโมเดลสุดจ๊าบ! จากวิศวกรรมแห่งอนาคต ทาง YouTube กันได้ เท่าที่ฉันพูดคุยกับเด็กกลุ่มนี้ ทราบมาว่าช่วงนี้กำลังพัฒนาเครื่องฟอกอากาศแบบคล้องคอโดยที่เราไม่ต้องสวมหน้ากากกันฝุ่นอีกต่อไป (แม้จะยังคงต้องใส่เพื่อกันโควิดก็ตาม) ซึ่งเขาได้ขึ้นตัวอย่าง ทดลองใช้งาน พร้อมจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา สนับสนุนโดยหน่วยจัดการทรัพย์สินทางปัญญา มช. และจะนำไปสู่การผลิตใช้จริงได้ หากผู้ใดสมัครใจเป็นนายทุน สามารถติดต่อผ่านภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล โทร. 053 – 944146 ถามหาน้อง ๆ กลุ่มที่ทำ MasquraX หรือ ติดต่อผ่านทาง Facebook: @MasquraXCMU ได้เลย

  

           อีกหนึ่งอย่างที่ฉันอยากฝากให้ทุกท่านรู้ไว้แบบเน้น ๆ เหตุเพราะเราคงปฎิเสธไม่ได้ ว่าเป็นสิ่งจำเป็นในฤดูฝุ่นควันอย่างหนึ่ง คือเครื่องกรองอากาศ แต่น้อยคนนักทราบว่าต้องเลือกจากอะไร นอกเหนือจากราคาแล้ว อาจารย์ยศธนา ให้ความรู้ไว้ผ่านรายการ “ซื้อเก่ง”ทางช่องไทยพีบีเอส ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจก่อนว่าเครื่องทำอากาศไม่ดี ให้ดี ได้อย่างไร? การทำงานโดยหลักของเครื่อง คือ ดูดอากาศเสีย และปล่อยอากาศสะอาดออกมา ผ่านไส้กรองอันทำหน้าที่คล้ายตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ดักจับฝุ่นไว้ ณ ผนังหน้า และอากาศสะอาดก็จะถูกปล่อยออกทางด้านหลังไส้กรองด้วยพัดลม อีกอย่างหนี่งที่ฉันเรียนรู้จากอาจารย์ คือ สีของไส้กรองมิใช่มาตรฐานของทุกแบรนด์ นะจ๊ะ ปัจจัยที่เราจำเป็นต้องคำนึงถึงก่อนเลือกซื้อ เริ่มจากสำรวจความต้องการ ของตนเองก่อนว่าอยากให้ตัวเครื่องสามารถกระทำสิ่งใดเพื่อเราได้บ้าง เช่น กรองฝุ่น ละอองเกสรสำหรับคนเป็นภูมิแพ้ หรือขอฟังก์ชั่นประหารแบคทีเรียด้วย นี่เป็นเพียงพื้นฐานก่อนชี้นำเข้าสู่วิธีหลักของการเลือก ...

          “เราต้องดูอะไรบ้างล่ะ?” ... บอกเลยว่ามีเพียง 2 ข้อหลัก ๆ เน้น ๆ เท่านั้นเอง อย่างแรก คือ ตัวบ่งชี้ที่เรียกว่ารหัสของไส้กรอง ประการที่สอง ได้แก่ อัตราผลิตอากาศบริสุทธิ์ หรือ Clean air delivery rate: CADR ซึ่งน้อยคนนักที่รู้ เพราะส่วนใหญ่ แม้กระทั่งฉันเองยังมองเพียงราคา กับขนาดของห้องที่เราจะนำเครื่องไปใช้เท่านั้นเอง ต่อไปนี้หากคิดจะซื้อ (เมื่อมีงบประมาณ) คงต้องทำตามคำแนะนำของอาจารย์ เพื่อความคุ้มค่าต่อสุขภาพปอดของเราเอง

          แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าไส้กรองอากาศแต่ละอย่างมันคืออะไรนะ ... คืออะไร? อาจารย์บอกมาว่ารหัสของมันมีสักสองสามแบบ แต่ที่เห็นกันแพร่หลาย คือ Efficiency Particulate Air filter (EPA) ซึ่งจะกรองฝุ่นได้ในระดับหนึ่ง ส่วนอีกอย่าง คือ High Efficiency Particulate Air filter (HEPA) มีประสิทธิภาพการกรองดีกว่า ละเอียดกว่าอย่างแรก ส่วน อัตราผลิตอากาศบริสุทธิ์ หรือ Clean air delivery rate: CADR สิ่งนี้สำคัญยิ่งนัก ตัวนี้ดูง่าย ๆ เลย ยิ่งตัวเลขสูงแปลว่าเครื่องนั้นยิ่งมีอานุภาพมาก เขาจะทำให้อากาศในห้อง (ที่เหมาะกับ ขนาดของเขา) สะอาดได้ในเวลาอันรวดเร็วยิ่งขึ้นตามลำดับ เคล็ดลับการตั้งตัวเครื่องไม่ได้มีสูตรสมการซับซ้อนอันใดเลย ว่าง่าย ๆ คือ เราอยู่ตรงไหน ให้ตั้งเครื่อใกล้ตรงนั้น หากอยู่คนเดียวแล้วคิดว่ามิใช่เรื่องหนักหนา จะนั่งกอดเครื่องก็ไม่ว่ากันนะเออ เอาที่เราสบายใจ หากเป็น ในสำนักงาน หรือห้องบรรจุคนจำนวนมากก็จงคำนวนดูเอาตรงจุดศูนย์กลางที่แต่ละคนอยู่ เพียงเท่านี้ก็เท่ากับเรารู้หลักในการซื้อ การใช้เครื่อง ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ส่วนใครที่มีกำลังทรัพย์มาก และต้องการคุณสมบัติเสริมที่เครื่องนั้น ๆ สนองได้ก็ไม่ห้ามกัน แต่หากเพิ่มเงินแล้วไม่ได้ใช้ฟังก์ชั่นเพิ่มเติมเหล่านั้น เก็บงบฯ ไว้จ่ายค่าไฟ หรือซื้อหน้ากากอนามัยคงจะดีกว่าไม่น้อย

     

          การสวมหน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง เราต่างรู้กันดี ฉันคิดว่าไม่ต้องเขียนเยอะให้ปวดมือ แต่บอกไว้หน่อยก็ดี เผื่อบางคนเขาเกือบลืมไปแล้วว่าเราต้องสวมมันตลอด .... นอกจากหน้ากากผ้าที่ไม่สามารถกรองฝุ่นได้ ต้องใส่ฟิลเตอร์เสริมด้วยนะ และหน้ากากอนามัยแบบที่หมอใช้ = ใช้ครั้งเดียว หรือวันเดียวแล้วทิ้ง ไม่ควรนำมาใช้ซ้ำ ส่วนหน้ากากที่ดีขึ้นมาหน่อย อย่าง N95 หรือแบบที่ล้ำไปกว่านั้น สังเกตง่าย ๆ หากใส่แล้วเริ่มหายใจลำบาก ผืนหน้ากากเริ่มดำ นั่นคือสัญญาณว่าต้องทิ้งน้องเค้าแล้วนะจ๊ะ กรณีพกหน้ากากกับตัว ขณะไม่ใส่ต้องเอาใส่ถุงให้เป็นหน่วยซีลกันเชื้อโรคไว้ เพราะหากวางทิ้งไว้เฉย ๆ = เชื้อโรค/ ฝุ่น เกาะหน้ากากแล้ว..จะเอามาใส่ต่อรือ...ไม่ค่ะ อย่าหาทำ อีกอย่างที่เรามักลืมใส่ใจกันเหลือเกิน คือ เมื่อจะทิ้งหน้ากากอนามัย กรุณานำใส่ถุง หรือห่อให้มิดชิด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรค ทิ้งลงในถังขยะอย่างเป็นระเบียบอย่างถูกสุขลักษณะ ไม่ทิ้งเรี่ยราด ให้เป็นภาระแก่แม่บ้าน หรือคนเก็บขยะ จนต้องดัน #safeป้าแม่บ้านลุงเก็บขยะ ให้เป็นไวรัลเสียก่อนเลยเนอะ

          ที่ว่ามาทั้งหมด ฉันไม่ได้เพียงแค่บอกเล่าสิ่งที่ฉันเห็นคนในวิศวฯ มช.ทำ แต่ฉันอยากย้ำเตือนทุกคนว่า ปัญหาฝุ่นควันมันกลายเป็นเหมือนโรคประจำตัวของโลก โดยเฉพาะบ้านเราไปแล้ว และมาเยือนเราเร็วขึ้นทุกปี ยกตัวอย่างเมื่อครั้งแรกที่จำความได้ เขามาในหน้าแล้ง หรือหน้าร้อนนั่นแหละ แต่ตอนนี้พี่แกคงมีพละกำลังมากขึ้น ... ใกล้หน้าหนาวทุกครั้ง เขาก็คงยังคิดถึง... ช่วงปลายเดือน ตุลาคม - พฤศจิกายน ชาวเหนือเยี่ยงฉันก็เริ่มต้อง Say Hello กับพี่ฝุ่นเขาแล้ว ฉะนั้น ด้วยความห่วงใยในยุคฝุ่นพิษก็มา ไวรัสมหาระบาดก็มีเช่นนี้ ทุก ๆ คนสามารถเรียนรู้ ทำความรู้จักกับสถานการณ์ที่เราเผชิญ และทำตามข้อแนะนำที่แทรกซึมในคำบอกเล่าของฉันได้ ฉันหวังว่าทุกคนจะไม่ประมาท ปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตใหม่ให้ได้ (มันยาก... ฉันเข้าใจ เราอยู่แบบเดิมกันอย่างสบายมานานเท่าไหร่แล้ว) หากเราไม่ทำ เท่ากับเรายอมจำนนให้ฟ้าดิน ภัยธรรมชาติระดับหิน ๆ อันกัดกินสังขารเราให้ “ทุกข์” เมื่อเชื่อวันนั้นน่ะสิ สภาพ!!! ....ไม่....เราต้องสู้ เราจะต้องรอดไปด้วยกันนะ..

แกลลอรี่