sCi to SMEs : นำความรู้วิทยาศาสตร์ที่มี สู่ผลิตภัณฑ์ที่ขายได้จริง

21 มกราคม 2565

คณะวิทยาศาสตร์

            เมื่อกล่าวถึงงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ หลาย ๆ คนมักจะนึกถึงองค์ความรู้ที่มีความลุ่มลึก ซับซ้อนและเข้าถึงยาก คงเป็นการดี หากงานวิจัยเหล่านี้สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ได้จริง รวมถึงการพัฒนาโจทย์วิจัยที่มาจากความต้องการของผู้ใช้งาน เพื่อช่วยส่งเสริมงานวิจัยให้เกิดคุณค่าที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชน และสังคมได้อย่างยั่งยืน บนรากฐานขององค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่แข็งแกร่ง

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าวนี้ จึงได้จัดโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และนวัตกรรมสร้างสรรค์ ภายใต้แนวความคิด “ต่อยอดอดีต ปรับปัจจุบัน และสร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต” งาน sCi to SMEs: เปิดเวทีให้ผู้ประกอบการพบนักวิจัย นำโดย ศูนย์บริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ศวท. มช.) ร่วมกับ สมาพันธ์ SME ไทย จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันพุธที่ 19 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ณ โถงอาคาร 40 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


จากองค์ความรู้สู่ผลิตภัณฑ์ จากผลิตภัณฑ์สู่ผลิตภัณฑ์ที่ดีกว่า

สำหรับในงานนี้ ได้เปิดโอกาสให้นักวิจัย และผู้ประกอบการได้ความร่วมมือใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ทั้งในลักษณะ Inside-out คือ นักวิจัยมีงานวิจัยของตนเอง ผู้ประกอบการสนใจที่จะพัฒนาต่อยอดงานวิจัยที่มีอยู่ให้มีประโยชน์ในเชิงการนำไปใช้ และลักษณะ Outside-in กล่าวคือ ผู้ประกอบการ หน่วยงาน องค์กรภายนอก มีโจทย์ที่ต้องการให้นักวิจัยช่วยแก้ปัญหา ตรวจสอบ หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น โดยอาศัยองค์ความรู้ของนักวิจัยที่มีอยู่

ในงานดังกล่าว มีกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจ โดยเปิดโอกาสให้นักวิจัย ผู้ประกอบการ ได้พบปะพูดคุย เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทาง ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่ธุรกิจ และจากภาคธุรกิจที่มีผลิตภัณฑ์อยู่แล้วมาพัฒนาให้ดีขึ้น โดยใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ทางคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว โดยมีการลงนามความร่วมมือร่วมกัน ระหว่างอาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ และผู้ประกอบการ จำนวน 4 คู่ความร่วมมือ ที่เคยได้ทำงานร่วมกันมาบ้างแล้ว ได้แก่
1. บริษัท เวลเนส มี จำกัด กับ ผศ.ดร. นฤมล ทองไว ภาควิชาชีววิทยา ในงานวิจัย การพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซินไบโอติกและผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ
2. บริษัทฟอร์ม่า คอร์ปอเรชั่นส์ จำกัด กับ ผศ.ดร.วิมล นาคสาทา ในงานวิจัย วัสดุทนไฟ
3. บริษัทฟอร์ม่า คอร์ปอเรชั่นส์ จำกัด กับ ผศ.ดร.วรพงษ์ เทียมสอน ในงานวิจัยนวัตกรรมจากวัสดุเหลือทิ้งจากภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร
4. บริษัท ซิมพลิ เด็คคอร์ จำกัด กับ ผศ.ดร.วิมล นาคสาทา ในงานวิจัยกระดาษสาทนไฟ

ทั้งนี้ ได้เกิดคู่ความร่วมมือใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจากงานดังกล่าว ดังคู่งานวิจัยต่อไปนี้ 


ผลิตภัณฑ์จากผักเชียงดา x นักวิจัยสารสกัดจากพืชธรรมชาติ

คู่แรกที่ได้มีการจับคู่กันภายในงาน เป็นลักษณะแนวทางแบบ Outside-in โดยเป็นคู่ของการจับคู่ระหว่าง กลุ่มวิสาหกิจชุมชน “เศรษฐีเรือทองเกษตรอินทรีย์” ต.สะลวง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ นำโดย ประธานวิสาหกิจ คุณรัชดาวัลย์ กันธามูล กลุ่มวิสาหกิจนี้มีผลิตภัณฑ์หลักคือ ผักเชียงดาแบบออร์แกนิค ซึ่งเน้นการปลูกผักเชียงดาแบบครบวงจร ตั้งแต่การปลูกผักเชียงดา จนถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบชา นอกเหนือจากชาจากผักเชียงดา ทางกลุ่มยังมีผลิตภัณฑ์อื่น อาทิ ขิง กระเจี๊ยบ ซึ่งผักเชียงดาเป็นผักพื้นบ้าน พบมากในภาคเหนือ มีฤทธิ์ทางยาในการลดปริมาณน้ำตาลในเลือด

ทางกลุ่มวิสาหกิจมีความสนใจที่จะศึกษาฤทธิ์ทางยาของผักเชียงดา เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยมุ่งเน้นไปทางการพัฒนาสารสกัด เพื่อให้ผู้บริโภคได้ฤทธิ์ทางยาในปริมาณที่เหมาะสม สะดวกต่อการจัดเก็บและการบริโภค ในงานนี้ ทางกลุ่มได้พบกับ อาจารย์ ดร.หทัยชนก ปันดิษฐ์ ภาควิชาชีววิทยา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเรื่องสารสกัดจากพืชธรรมชาติ โดยจะร่วมพัฒนางานวิจัยเกี่ยวกับสารสกัดจากผักเชียงดา เพื่อตรวจสอบฤทธิ์ทางยา คุณสมบัติต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับการบริโภคต่อไป ซึ่งจะได้มีกระบวนการขอทุนเพื่อทำการวิจัยในระดับห้องปฏิบัติการ เพื่อพิสูจน์ผลทางวิทยาศาสตร์ แล้วพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่อไป


ผลิตภัณฑ์จากร้านนวดเพื่อสุขภาพ x นักวิจัยสารสกัดยับยั้งจุลินทรีย์

อีกหนึ่งคู่ความร่วมมือแบบ Outside-in ที่ได้พบกันในงานนี้ คือคู่ความร่วมมือจาก “หจก. ทองน้ำหนึ่ง มีดี” โดยคุณทัศนันท์ ธนัญชัย โดยผลิตภัณฑ์พื้นฐานของคุณทัศนันท์ เป็นร้านนวดเพื่อสุขภาพ ซึ่งต้องอาศัยผลิตภัณฑ์น้ำมันนวดจากสมุนไพร หรือบาล์ม ก่อนหน้านี้ผลิตภัณฑ์เดิมของคุณทัศนันท์ ได้ศึกษาสารสกัดจากลำไยเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดต่าง ๆ รวมถึงบาล์มจากพืชสมุนไพรชนิดต่าง ๆ อาทิ ไพล เสลดพังพอน คุณทัศนันท์จึงมีความสนใจที่อยากทราบว่า ส่วนผสมในสมุนไพรนั้น มีคุณสมบัติใดบ้างที่มีคุณสมบัติพิเศษ ช่วยยับยั้งอาการปวดหรืออักเสบได้ รวมถึงมีสมุนไพรชนิดอื่น ๆ หรือผลิตผลทางเกษตรอื่น ๆ ที่มีคุณสมบัติแบบเดียวกันนี้หรือไม่

ในงานนี้ คุณทัศนันท์ ได้พบกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ยิ่งมณี ตระกูลพัว หัวหน้าภาควิชาชีววิทยา และอาจารย์ประจำสาขาจุลชีววิทยา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านสารสกัดที่ยับยั้งการติดเชื้อ หรือการอักเสบที่เกิดจากเชื้อจุลินทรีย์หรือไวรัส อาทิ โรคเริมที่ริมฝีปาก จึงสอดรับกับความสนใจของคุณทัศนันท์ที่ต้องการผลทดสอบทางวิทยาศาสตร์ เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ โดยในขั้นตอนต่อไปหลังจากงานนี้ จะได้ดำเนินการสรรหาทุนเพื่อพัฒนางานวิจัย และต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้จริงต่อไป


จากแบตเตอรี่ในห้องปฏิบัติการ สู่ผู้ประกอบการที่พร้อมพัฒนาให้ใช้ได้จริง


คู่ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในแบบ Inside-out ในงานนี้ คือคู่ความร่วมมือของ รศ.ดร.ฐปนีย์ สาครศรี จากภาควิชาเคมี รศ.ดร.ฐปนีย์ มีงานวิจัยด้านวัสดุแอโนดสำหรับแบตเตอรี่ลิเทียมไออน ที่ได้ดำเนินการพัฒนามาอย่างยาวนาน ซึ่งรับรองได้จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการจำนวนมาก และอยู่ในกระบวนการที่เตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยมีการพัฒนาแบตเตอรี่ต้นแบบเพื่อนำไปใช้จริงในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง (รายละเอียดเพิ่มเติมของงานวิจัย รศ.ดร.ฐปนีย์ สามารถติดตามได้จาก Science Transformation ตอน วัสดุแอโนดประสิทธิภาพสูงสู่แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน : อนาคตยานยนต์ไฟฟ้าของไทย จากห้องวิจัยวิทยา มช.)

ในงานนี้ รศ.ดร.ฐปนีย์ มีโอกาสได้พบกับคุณรัฐกฤษ ใยดี จากบริษัทอินเซปชันทูดีไซน์ จำกัด ผู้ให้บริการด้านพลังงานทดแทน อาทิ โซลาเซลล์ จุดบริการไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ EV รวมถึง รถจักรยานไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า สกูตเตอร์ไฟฟ้า ที่ต้องอาศัยแบตเตอรี่ที่ประสิทธิภาพสูง โดยมีผลิตภัณฑ์ย่อยสองผลิตภัณฑ์ คือแบรนด์ EV Bike และ EV Power Energy ซึ่งคุณรัฐกฤษได้ให้ความสนใจงานวิจัยของ รศ.ดร.ฐปนีย์เป็นอย่างมาก รวมถึง คุณอาคม สุวรรณกันธา หจก.ปีนฟ้า ครีเอชัน และประธานสมาพันธ์ SME ไทย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีความสนใจด้านเครือข่ายธุรกิจ การร่วมทุนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ (crowdfunding) จึงเกิดความร่วมมือร่วมกันสามฝ่ายในการพัฒนาต่อยอดให้งานวิจัยนี้สามารถนำไปใช้งานได้จริงในผลิตภัณฑ์รถไฟฟ้า ในงานนี้จึงได้บรรลุข้อเสนอที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์จากห้องปฏิบัติการ สู่ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ (prototype) ให้เกิดขึ้นได้โดยเร็ว เพื่อที่จะนำไปใช้งานในผลิตภัณฑ์รถไฟฟ้าของทางบริษัท และนำไปใช้งานในทางพาณิชย์ต่อไป


คณะวิทยาศาสตร์ กับทิศทางการสนับสนุนการวิจัย

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในคณะชั้นนำในประเทศไทยที่มีศักยภาพสูงในงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์รากฐาน (Fundamental Science) โดยปัจจุบันมีงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติมากกว่า 500 บทความต่อปี กว่าครึ่งเป็นงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่มีผลกระทบสูง ในควอไทล์ที่หนึ่งและสอง ผลจากการสั่งสมองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์รากฐาน ก่อให้เกิดการนำองค์ความรู้ดังกล่าวมาพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมที่น่าสนใจที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวิทยาศาสตร์ที่เข้มแข็ง

ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกเหนือจากงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์รากฐานที่มีศักยภาพสูงอยู่แล้ว ทางคณะได้ส่งเสริมงานวิจัยของคณาจารย์ ให้มีทิศทางที่เป็นงานวิจัยแบบพุ่งเป้า ผ่านกลไกที่จะช่วยให้นักวิจัยในคณะวิทยาศาสตร์ที่ทำงานในหัวเรื่องวิจัยมุ่งเป้าเดียวกันได้จับกลุ่ม เพื่อทำงานวิจัยร่วมกัน โดยเริ่มจากการร่วมกันเขียนและส่งข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อขอทุนวิจัยจากแหล่งทุนภายนอกมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายทั้ง 10 กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย (1) Battery for Electric Vehicle (2) Sensor for Smart Agriculture (3) Cosmic Rays / Quantum in Space / Geophysics for Space (4) เศรษฐศาสตร์จุลินทรีย์ (5) Data Science (6) Genomics (7) Climate Change (8) Zero Waste (9) Energy Harvesting (10) Sustainable Earth Science และนอกจากนี้ทางคณะวิทยาศาสตร์ ยังต้องการผลักดันงานวิจัยมุ่งเป้าด้าน Low carbon เพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำและงานวิจัย Block chain ในอนาคตอีกด้วย

เพื่อให้การนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง ทางคณะวิทยาศาสตร์ จึงพัฒนา Platform ของฐานข้อมูลนักวิจัยและการทำความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อสร้างคู่ความร่วมมือการนำเอางานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง ผ่านการจัดสรรทุนวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ (TRL หรือ CMU-RL 1-3) และการสนับสนุนการขยายผลนำเอาผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ (TRL หรือ CMU-RL 4-9) นอกจากนี้ยังมีการผลักดันการสร้างความร่วมมือกับภาคธุรกิจ ในการรับโจทย์ปัญหาของภาคเอกชนและหานักวิจัยที่ตรงกับโจทย์เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว (Outside-in) นำไปสู่การพัฒนากำลังคนแบบรอบด้านและยกระดับภาคอุตสาหกรรมให้มีความเข้มแข็งในการวิจัยเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในเวทีโลก ผ่านโครงการ Higher Education for Industry (Hi-FI) และผ่านการทำข้อตกลงความร่วมมือในการทำงานวิจัยร่วมกันกับภาคเอกชนอีกด้วย

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังมีกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานวิจัยสู่ผู้ใช้ประโยชน์โดยตรง ผ่านศูนย์บริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ศวท.มช.) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีทั้งบริการวิเคราะห์ทดสอบทางห้องปฏิบัติการ การให้บริการทางด้านวิชาการ อาทิ การจัดกิจกรรมแก่โรงเรียน ชุมชน รวมถึง SciMART ที่เป็นศูนย์รวมผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากจากงานวิจัยของบุคลากรในคณะวิทยาศาสตร์ และ Science StartUp ที่ช่วยบุคลากรได้พัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการ ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในการจัดตั้งบริษัท StartUp ในคณะวิทยาศาสตร์ด้วย

หากผู้ประกอบการ หน่วยงาน องค์กรภายนอก มีความสนใจที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว หรือมีโจทย์วิจัยที่ต้องการนักวิจัยแก้ปัญหา โปรดอย่ารอช้า ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยินดีต้อนรับทุกท่าน โดยสามารถติดต่อได้ผ่านทางงานบริหารงานวิจัย บริการวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ ทาง Facebook : https://www.facebook.com/sci.cmu.research โทร. 053-943-322 หรือ ศูนย์บริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ศวท.มช.) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทาง Facebook : https://www.facebook.com/stsccmu โทร. 053-943-397

แกลลอรี่