แพทย์รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ เตือนประชาชนระวังยุงลายนำเชื้อไวรัสเดงกีก่อโรคไข้เลือดออก ระบาดช่วงหน้าฝน พบในปี 63 มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากไข้เลือดออกจำนวนมาก ยันปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสชนิดนี้ ย้ำให้ทุกครอบครัวป้องกันตนเองกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
รศ.ดร.พญ.ทวิติยา สุจริตรักษ์ อาจารย์ประจำสาขาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า “ไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ DENV-1, DENV-2, DENV-3 DENV-4 โดยมียุงลายตัวเมียเป็นพาหะนำโรค ซึ่งในประเทศไทยพบยุงลาย 2 ชนิด คือยุงลายบ้านและยุงลายสวน หากติดเชื้อสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งแล้วจะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้นตลอดชีวิต โดยปกติแล้วยุงลายไม่ได้มีเชื้อไวรัสเดงกี แต่เมื่อยุงลายไปกัดคนที่กำลังป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ยุงจะได้รับเชื้อไวรัสเดงกี และเมื่อยุงตัวนี้บินไปกัดคนใหม่ ก็จะปล่อยเชื้อไวรัสเดงกีเข้าไปสู่อีกคนทันที ทำให้โรคสามารถติดต่อจากคนสู่คนโดยมียุงเป็นพาหะนำโรค จากสถิติของกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุขในปี 2563 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก จำนวน 72,000 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 52 ราย ซึ่งถือว่าสูงกว่าเป้าหมายที่กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งเป้าไว้
โรคไข้เลือดออกมีระยะฟักตัวประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 มีไข้สูงลอย 39-41 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก บางรายมีความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร มีผื่นขึ้น มีจุดเลือดออกตามตัวหากมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำร่วมด้วย ,ระยะที่ 2 ภาวะวิกฤต เกิดจากการที่ผนังของเส้นเลือดฝอยสูญเสียความคงตัวทำให้ Plasma ที่อยู่ในหลอดเลือดรั่วออกนอกเส้นเลือด ผู้ป่วยจะมีภาวะความดันโลหิตต่ำ อาจมีภาวะเลือดออกง่ายผิดปกติจนกระทั่งทำให้เกิดภาวะช็อก หรือเสียชีวิตได้ ,ระยะที่ 3 ระยะฟื้นตัว ระยะนี้ผู้ป่วยจะเริ่มกลับมารับประทานอาหารได้ เริ่มมีความอยากอาหาร ปัสสาวะเริ่มออกเยอะ มีผื่นแดงแบบจุดขาวตรงกลาง และมีอาการคันมาก หากเราพบผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้แสดงว่าคนไข้เข้าสู่ระยะฟื้นตัวแล้ว”
อาจารย์แพทย์ประจำสาขาโรคติดเชื้อ กล่าวต่อว่า “ในส่วนการวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก หากคนไข้มาในระยะแรกของการมีไข้ส่วนใหญ่แพทย์จะตรวจหาแอนติเจนของเชื้อร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ แต่หากผู้ป่วยมาพบแพทย์ในระยะ 5 วัน หลังจากที่มีไข้จะใช้วิธีการตรวจทางน้ำเหลือง เพื่อยืนยันแอนติบอดี้ต่อโรคไวรัสไข้เลือดออก และปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสเฉพาะสำหรับการรักษาโรคไข้เลือดออก แพทย์จะรักษาตามอาการ หากอยู่ในระยะวิกฤตแพทย์จะให้สารน้ำทดแทนป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเกิดภาวะช็อก หรืออาจมีการเติมเลือดหรือผลิตภัณฑ์ของเลือดตามระยะของโรค
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกแล้ว 1 ชนิด ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้ในเด็กอายุ 9 ปีขึ้นไปจนถึงผู้ใหญ่อายุ 45 ปี แต่สิ่งที่สำคัญคือการป้องกันไม่ให้ยุงกัด ไม่ให้เราติดเชื้อไวรัสเดงกี สวมใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ทายาฉีดสเปรย์ป้องกันยุง กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ใช้ทรายอะเบทในการทำลายลูกน้ำยุงลายก็จะเป็นการตัดวงจรการระบาดของยุงได้ทุกชนิด”
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่