รังสีรักษา ทางเลือกในการรักษาโรคมะเร็ง

15 พฤษภาคม 2566

คณะแพทยศาสตร์

สำหรับผู้ป่วยมะเร็งแล้ว รังสีรักษามีบทบาทที่สำคัญในการรักษาเกือบทุกตำแหน่งของร่างกาย แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับรอยโรคที่ตำแหน่งนั้น และข้อมูลจากการศึกษาที่ผ่านมาว่าบทบาทของรังสีรักษาต่อรอยโรค ณ ตำแหน่งนั้นมีอะไรบ้าง โดยบทบาทของรังสีรักษาส่วนใหญ่ร้อยละ 90 ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งเป็นหลัก โดยแบ่งออกเป็นการให้รังสีรักษาเป็นการรักษาหลักหรือการรักษาเสริม ตัวอย่างของมะเร็งที่ใช้รังสีรักษาเป็นการรักษาหลัก เช่น มะเร็งหลังโพรงจมูก หรือมะเร็งปากมดลูกลุกลามเฉพาะที่ เป็นต้น
ในส่วนของการรักษาเสริม รังสีรักษาจะเปลี่ยนบทบาทเป็นการรักษาสนับสนุน ได้แก่ การให้รังสีรักษาหลังจากการผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในการกลับเป็นใหม่สูง หรือการให้รังสีรักษาก่อนการผ่าตัด ตัวอย่างของการให้รังสีรักษาหลังการผ่าตัด ได้แก่ ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งศีรษะและลำคอที่ได้รับการผ่าตัดและมีรายงานผลชิ้นเนื้อที่มีความเสี่ยงที่ทำให้โรคนั้นมีโอกาสกลับเป็นซ้ำสูง ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีบทบาทของการให้รังสีรักษาหลังการผ่าตัด ในส่วนตัวอย่างของการให้รังสีรักษาก่อนการผ่าตัด ได้แก่ มะเร็งลำไส้ตรงระยะลุกลามเฉพาะที่ แพทย์จะให้รังสีรักษาก่อนการผ่าตัด เพื่อลดขนาดของรอยโรคทำให้ศัลยแพทย์สามารถผ่าตัดได้ดีขึ้น
นอกจากบทบาทของรังสีรักษาจะรักษาแบบหายขาดแล้ว รังสีรักษายังมีบทบาทในการรักษาแบบบรรเทาอาการซึ่งมีข้อบ่งชี้ในผู้ป่วยอีกกลุ่มที่มีรอยโรคขนาดใหญ่ ที่ไม่สามารถรักษาแบบหายขาดได้ หรือได้รับการรักษามาก่อนแล้ว แต่ไม่สามารถควบคุมโรคได้ รังสีรักษาเพื่อบรรเทาอาการจะให้รังสีเฉพาะตำแหน่งที่เป็นปัญหาต่อผู้ป่วย เช่น ภาวะเลือดออก ปวด เป็นต้น เพื่อควบคุมอาการของรอยโรคที่ตำแหน่งนั้น
การพิจารณาข้อบ่งชี้ในการให้รังสีรักษา จะพิจารณาโดยผ่านการหารือจากทีมสหสาขาของมะเร็งแต่ละรอยโรค ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วย ศัลยแพทย์ แพทย์อายุรศาสตร์มะเร็ง แพทย์มะเร็งวิทยานรีเวช แพทย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ รังสีรักษาแพทย์ พยาธิแพทย์ จิตแพทย์ นักโภชนาการ เป็นต้น เพื่อหาแนวทางการดูแลรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย
รังสีรักษา คืออะไร?
รังสีรักษาคือการใช้รังสีรักษาชนิดต่างๆ ได้แก่ รังสีโฟตอน (แกมมา), รังสีประจุบวก, รังสีประจุลบ เป็นต้น ในการรักษารอยโรคทั้งที่เป็นมะเร็ง (ร้อยละ 90) และไม่เป็นมะเร็ง (ร้อยละ 10) เช่น Keloid ผู้ป่วยเนื้องอกผิดปกติของสมอง เนื้องอกของเส้นประสาทหู เป็นต้น รังสีรักษามี 2 แบบหลัก ได้แก่
1. รังสีรักษาจากภายนอก (teletherapy หรือ external beam radiotherapy) ซึ่งเรียกได้หลายแบบ เช่น การฉายรังสี การฉายแสง เป็นต้น ได้แก่ การให้รังสีโดยแหล่งของรังสีอยู่ภายนอกร่างกายเรา โดยลำรังสีจากเครื่องฉายรังสี (linear accelerator) จะถูกส่งจากภายนอกเข้าไปทำลายรอยโรคภายในร่างกาย โดยมีเป้าหมายให้ปริมาณรังสีสูงสุดที่รอยโรค และเนื้อเยื่อปกติได้รับรังสีน้อยที่สุด
2. รังสีรักษาจากภายใน (brachytherapy) ซึ่งเรียกได้หลายแบบ เช่น การใส่แร่ การฝังแร่ รังสีรักษาระยะใกล้ เป็นต้น ได้แก่ การนำไอโซโทปรังสีเข้าไปภายในร่างกายของผู้ป่วยโดยตรง หรือผ่านอุปกรณ์ โดยมีเป้าหมายให้ไอโซโทปรังสีอยู่ในตำแหน่งของรอยโรคหรือชิดกับรอยโรคให้มากที่สุด
ข้อแตกต่างระหว่างการฉายรังสีกับการใส่แร่
การฉายรังสีเป็นการฉายรังสีจากภายนอกผ่านผิวหนังเข้าสู่รอยโรคภายในร่างกาย (outside-in approach) ในขณะที่การใส่แร่ คือ การใส่อุปกรณ์เพื่อนำไอโซโทปรังสีเข้าไปในร่างกายโดยฝังเข้าไปในรอยโรค หรือผ่านอุปกรณ์เพื่อนำไอโซโทปรังเข้าสู่รอยโรคภายในร่างกาย โดยกระบวนการทั้งสองอย่างนี้มีเป้าหมายเพื่อต้องการให้ปริมาณรังสีต่อรอยโรคมากที่สุด และต่อเนื้อเยื่อปกติน้อยที่สุด
กระบวนการให้รังสีรักษาเป็นอย่างไร?
ผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ในการรักษาจะได้รับการนัดหมายมาเพื่อรับรังสีรักษาเป็นลำดับถัดไป ผู้ป่วยที่จะต้องได้รับการฉายรังสี จะได้รับการนัดหมายมาจำลองรังสีเพื่อนำภาพรังสีไปวางแผนการรักษา และได้รับการนัดหมายมารับรังสีรักษา หลังจากวางแผนเสร็จและดำเนินการรักษาจนครบตามแผนที่วางไว้ ส่วนผู้ป่วยที่ต้องได้รับการใส่แร่ ผู้ป่วยจะได้รับวันนัดหมายมาทำการรักษาตามจำนวนครั้งที่กำหนด โดยผู้ป่วยที่ใส่แร่จะได้รับการใส่อุปกรณ์ การวางแผนและการรักษาภายในวันและเวลาดังกล่าว
ในระหว่างการรักษา ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจเลือด และตรวจประเมินอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อประเมินอาการของผู้ป่วยในระหว่างการรักษา หลังจากการรักษาเสร็จสิ้น ผู้ป่วยจะได้รับการติดตามผลอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี เพื่อเฝ้าระวังการกลับเป็นใหม่ของรอยโรค และดูแลรักษาผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น
ผลข้างเคียงของรังสีรักษา
โดยผลข้างเคียงจากรังสีรักษาจะเกิดอยู่ 2 แบบได้แก่
1. ผลข้างเคียงระหว่างการรักษา (acute toxicity) เกิดในระหว่างรับรังสีรักษา และหลังการรักษาไม่เกิน 3 เดือน ผลข้างเคียงระหว่างการรักษาจะสัมพันธ์กับการอักเสบในบริเวณที่ได้รับรังสีเป็นหลัก เช่น อาการท้องเสีย ปัสสาวะบ่อย เจ็บปาก เจ็บคอ ไอ ผิวหนังอักเสบเนื่องจากรังสี เป็นต้น
2. กลุ่มที่มีผลข้างเคียงหลังการรักษา เกิดหลังจากรังสีรักษาเสร็จสิ้นแล้วอย่างน้อย 6 เดือน มีสาเหตุจากการซ่อมแซมที่ไม่สมบูรณ์ของเนื้อเยื่อปกติในบริเวณที่ได้รับรังสีรักษา เช่น ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด ผิวหนังแข็ง น้ำลายแห้ง เป็นต้น
ถึงแม้ว่ารังสีรักษาเป็นการรักษาสำคัญอย่างหนึ่งในการรักษาโรคมะเร็งสาขาอื่นเมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยของโรค แต่ท้ายที่สุด การตัดสินใจในการรักษาย่อมขึ้นอยู่กับผู้ป่วย หรือญาติของผู้ป่วยในการตัดสินใจเข้ารับการรักษาเป็นสำคัญ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ศ.นพ.เอกสิทธิ ธราวิจิตรกุล รองคณบดี และอาจารย์ประจำหน่วยรังสีรักษา ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช.


เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แกลลอรี่