นักวิจัยคณะวิทย์ มช. พัฒนาเซนเซอร์ตรวจวัดกลูโคสจากเส้นใยคอมโพสิตของพอลิเมอร์นำไฟฟ้าและท่อนาโนคาร์บอน ที่ง่ายต่อการใช้ติดตามปริมาณกลูโคสในผู้ป่วยเบาหวาน

5 มกราคม 2566

คณะวิทยาศาสตร์

       นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบด้วย รศ.ดร.แสงรวี ศรีวิชัย ภาควิชาเคมี และ รศ.ดร.สุคนธ์ พานิชพันธ์ ศูนย์วิจัยวัสดุศาสตร์  ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยในหัวข้อ การพัฒนาเซนเซอร์ตรวจวัดกลูโคสจากเส้นใยคอมโพสิตของพอลิเมอร์นำไฟฟ้าและท่อนาโนคาร์บอน (Fabrication and characterization of electrospun poly(3-aminobenzylamine)/ functionalized multi-walled carbon nanotubes composite film for electrochemical glucose biosensor)

งานวิจัยนี้ มุ่งพัฒนาคอมโพสิตของพอลิเมอร์นำไฟฟ้า ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของพอลิอะนิลินที่มีประจุบวกและสามารถละลายน้ำ คือ พอลิ(3-อะมิโนเบนซิลเอมีน) กับท่อนาโนคาร์บอนผนังหลายชั้นที่มีหมู่คาร์บอกซิลิก เพื่อใช้ในการประดิษฐ์ฟิล์มของคอมโพสิตพอลิเมอร์นำไฟฟ้าดังกล่าว แบบเส้นใยขนาดนาโน ด้วยวิธีอิเล็กโทรสปินนิงบนขั้วไฟฟ้าแบบ screen printed electrode (SPE) ที่มีเอนไซม์กลูโคสออกซิเดสเคลือบอยู่ และทำการต่อขั้วไฟฟ้าที่ได้จากคอมโพสิตนี้กับเครื่องวัดสัญญานทางไฟฟ้าเคมี และการแสดงผลผ่านแอพพลิชันบนโทรศัพท์มือถือ จากนั้นทำการทดสอบความสามารถในการตรวจวัดสารชีวโมเลกุลมาตรฐาน คือ กลูโคส ซึ่งเป็นสารที่ใช้ในการบ่งบอกโรคเบาหวานในร่างกาย

การทดลองในห้องปฏิบัติการซึ่งใช้กลูโคสมาตรฐาน พบว่า สามารถตรวจวัดปริมาณกลูโคสได้ในระดับที่สามารถบ่งบอกโรคได้และปริมาณที่เฝ้าระวังก่อนการเกิดโรคได้เช่นกัน (ความเข้มข้นต่ำกว่าปริมาณบ่งบอกโรค)

ทั้งนี้ ในการศึกษาครั้งต่อไป นักวิจัยคาดว่าจะสามารถตรวจวัดกลูโคสในสารตัวอย่างจริง ซึ่งอาจเป็นปัสสาวะหรือเลือด เพื่อพัฒนาไบโอเซนเซอร์ที่ผลิตใช้งานได้จริงต่อไป โดยเป็นอุปกรณ์ที่ง่ายต่อการใช้งาน ง่ายต่อการเข้าถึงของประชาชนในชีวิตประจำวันได้ต่อไปในอนาคต

งานวิจัยนี้ มุ่งเน้นพัฒนาเซนเซอร์ตรวจวัดกลูโคสเพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานในการเฝ้าระวัง ติดตามปริมาณกลูโคสในผู้ที่มีความเสี่ยงหรือผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นโรคที่มีอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงในปัจจุบัน และคาดว่าจะพัฒนาให้ง่ายต่อการใช้งาน ง่ายต่อการเข้าถึงของประชาชนในชีวิตประจำวันได้ต่อไป  สอดคล้องกับ SDGs 3 Good Health and Well-being เป้าหมาย 3 มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี

งานวิจัยถูกตีพิมพ์ในวารสาร Express Polymer Letters Impact Factor (2021) : 3.952 Q1, Scopus
ผู้สนใจอ่านบทความวิจัยได้ที่ https://doi.org/10.3144/expresspolymlett.2022.32
Express Polymer Letters, 2022, 16(4), pp. 439–450/ https://doi.org/10.3144/expresspolymlett.2022.32

แกลลอรี่