เข้าสู่ฤดูหนาว สิ่งที่ทุกคนควรกังวลมากที่สุดคืออากาศที่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นการเตรียมตัวรับมือกับการดูแลสุขภาพในฤดูหนาวจึงเป็นเรื่องสำคัญ ในการดูแลผู้สูงวัย เนื่องจากผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลง ได้รับการตอบสนอง เรื่องของความเย็นอากาศได้น้อยลง รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในด้านร่างกาย เช่นเรื่องของการสร้างไขมัน เหงื่อ อาจจะน้อยลงไปด้วย ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อสุขภาพตามมา ในทุกปีมีผู้สูงอายุเข้ารับการรักษาเป็นจำนวนมาก ด้วยโรคที่พบบ่อยโดยเฉพาะช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงของอากาศ เช่น โรคทางเดินหายใจส่วนบน ที่มีการอักเสบจากเชื้อโรค ,โรคผิวหนัง และโรคเรื้อรังต่างๆ
การดูแลตนเองของผู้สูงอายุ
โดยเน้นหลัก 10 อ. ได้แก่
1. อาหาร – ลดอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ไขมัน เพิ่มโปรตีนเป็นประเภทเนื้อสัตว์ย่อยง่าย
2. ออกกำลังกาย – หลากหลายชนิด จำนวนเวลาที่เหมาะสม
3. อนามัย – ลดเลิกดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ ควรตรวจสุขภาพประจำปี
4. อุจจาระ ปัสสาวะ - สังเกตความผิดปกติ
5. อากาศ และแสงอาทิตย์ - สภาพแวดล้อมที่ดี หลีกเลี่ยง PM 2.5
6. อารมณ์ - ควบคุมอารมณ์ให้เหมาะสม
7. อดิเรก – งานที่ตนเองชอบตามความสนใจ
8. อบอุ่น – บุคลิกภาพโอบอ้อม เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยให้สัมพันธภาพที่ดีต่อกัน
9. อุบัติเหตุ – ระมัดระวังการมองเห็น สภาพแวดล้อม
10. อนาคต – เตรียมเงินและที่อยู่อาศัย
โรคไข้หวัด (โรคที่พบมากในผู้สูงอายุ)
โรคไข้หวัดเป็นโรคที่เกิดได้ตลอดทั้งปี พบบ่อยในช่วงฤดูฝน ฤดูหนาว หรือช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง ไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งมีหลายสายพันธุ์
การติดต่อ
ติดต่อผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะ โดยการหายใจเอาเชื้อที่กระจายจากการไอ หรือหายใจรดกัน หรือมือที่เปื้อนเชื้อโรคสัมผัสจมูก
อาการ
ไข้ตัวร้อนเป็นพักๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คัดจมูก น้ำมูกใส จาม คอแห้ง หรือเจ็บคอเล็กน้อย ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอโตขึ้น ไอแห้งหรือไอมีเสมหะเล็กน้อยลักษณะสีขาว ส่วนใหญ่อาการจะหาย 3 – 5 วัน
ภาวะแทรกซ้อน
ได้แก่ การติดเชื้อแบคทีเรียร่วมของระบบทางเดินหายใจ หรือปอดอักเสบ
การรักษา จะรักษาตามอาการ พักผ่อน และดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอ
โรคไข้หวัดใหญ่
โดยทั่วไปไข้หวัดใหญ่ติดเชื้อในมนุษย์มี 3 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์เอ สายพันธุ์บี และสายพันธุ์ซี ในส่วนของสายพันธุ์ดีส่วนใหญ่จะติดเชื้อในวัว ไม่พบในมนุษย์
การระบาดในมนุษย์ส่วนใหญ่จะคือสายพันธุ์เอ จะมีชนิดที่สำคัญ 2 ตัว ได้แก่ H1N1 และ H3N3 คำว่า H และN เป็นโปรตีนที่ติดกับเปลือกผิวของตัวไวรัส เพื่อใช้ในการแยกชนิดของสายพันธุ์
อาการ
ได้แก่ ไข้เฉียบพลัน ไอ (มักจะไม่มีเสมหะ) ปวดศีรษะ เจ็บคอ น้ำมูกไหล ปวดกล้ามเนื้อและข้อ อ่อนเพลียมาก โดยอาการเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะหายภายใน 1 สัปดาห์ แต่อาการไออาจจะหายภายใน 2 สัปดาห์
จากข้อมูลทั่วโลกมีโอกาสติดเชื้อประมาณการติดเชื้อ 3 – 5 ล้านราย และมีโอกาสเสียชีวิต 290,000 – 650,000 ราย
กลุ่มที่มีโอกาสติดเชื้อและรุนแรง ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ เด็กอายุน้อยกว่า 59 เดือน ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง และผู้มีภูมิต้านทานต่ำ
การแพร่กระจายของโรคจะติดต่อได้ง่ายเหมือนไข้หวัด โดยติดต่อทางการไอ จาม ในระยะ 1 เมตร มีโอกาสติดง่าย
การวินิจฉัย
จะการตรวจจากสารคัดหลั่ง ตรวจสารคัดหลั่งจากคอ จมูก ช่องจมูก และคอ พบเชื้อไวรัส หรือคัดกรองโดย ตรวจ ATK / RT-PCR
การรักษา
ส่วนใหญ่รักษาตามอาการ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อน มีโอกาสที่จะเกิดปอดอักเสบ หรือติดเชื้อในกระแสเลือด กรณีอาการรุนแรงควรให้ยาต้านไวรัส ภายใน 48 ชั่วโมง อย่างน้อย 5 วัน
การป้องกัน
วิธีที่ได้ผลที่สุดคือการได้รับวัคซีน ปีละครั้ง
-กลุ่มที่ควรได้รับวัคซีนได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ ,เด็กอายุ 6 เดือน – 5 ปี ,ผู้สูงอายุ (มากกว่า 65 ปี) มีโรคเรื้อรัง ,บุคลากรด้านสุขภาพ โดยวัคซีนประกอบด้วยเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์เอ 2 ชนิด และสายพันธุ์ บี 2 ชนิด
การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
ล้างมือ ปิดปากปิดจมูกเมื่อไอจาม แยกตัวเมื่อมีอาการ หลีกเลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย หลีกเลี่ยงการสัมผัสจมูก ตา ปาก
โรคติดเชื้อโควิด-19 (โรคที่ต้องเฝ้าระวัง)
หากสังสัยว่าผู้ป่วยติดเชื้อ อาการเฝ้าระวัง มีอาการ 2 อาการ ดังต่อไปนี้
1.ไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ มีเสมหะ
2.มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ร่วมกับอาการต่อไปนี้ ได้แก่ ถ่ายเหลว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย อ่อนเพลีย มีผื่นขึ้น
หรือมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นหายใจหอบเหนื่อย หายใจลำบาก มีความผิดปกติของการได้รับกลิ่น ได้รับรส สับสนหรือระดับความรู้สึกตัวลดลง รวมถึงมีอาการติดเชื้อของทางเดินหายใจรุนแรงอย่างใดอย่างหนึ่ง
มีอาการปอดอักเสบ หรือเอกซเรย์แล้วมีความผิดปกติ โดยที่ไม่ทราบสาเหตุ หรือหาสาเหตุไม่ได้ภายใน 48 ชั่วโมง หรือมีภาวะของระบบทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลันรุนแรง
หรือในกรณีแพทย์ผู้ตรวจรักษาสงสัยว่าติดเชื้อไวรัส โควิด-19 หรือมีประวัติในการสัมผัสผู้ป่วยโควิด-19
อาการที่พิจารณารับการรักษาในโรงพยาบาล
-มีไข้สูง ตั้งแต่ 39 องศาเซลเซียสขึ้นไป โดยวัดอย่างน้อย 2 ครั้งห่างกัน 4 ชั่วโมง ในระยะเวลา 24 ชั่วโมง
-มีภาวะขาดออกซิเจน
-มีภาวะแทรกซ้อน หรือมีอาการกำเริบของโรคประจำตัวเดิม
-เป็นผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรง และไม่มีผู้อยู่ดูแลตลอดทั้งวัน
-มีภาวะอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ตามดุลยพินิจของแพทย์
-ผู้ป่วยเด็กให้รักษาในโรงพยาบาลเมื่อมีข้อบ่งชี้ เช่น ต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หรือให้สารน้ำทางหลอดเลือด
หรือต้องการออกซิเจนหรือเด็กที่มีอาการซึม กินได้น้อย มีภาวะขาดน้ าจากอุจจาระ ร่วง หรือ ชักจากไข้สูง ฯลฯ
ภาวะตัวเย็นเกิน
เป็นภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิลดต่ำเกิน อันเป็นผลมาจากการสัมผัสถูกความหนาวเย็น เช่น อยู่ในอากาศ หนาว หรือแช่ในน้ำที่เย็นจัด ทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดต่ำกว่า 35 องศาเซลเซียส
• ทำให้อวัยวะต่างๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หัวใจและสมอง) ได้รับผลกระทบและทำหน้าที่ไม่ได้ตามปกติ
• ระยะแรก ผู้ป่วยจะมีอาการสั่น พูดอ้อแอ้ เดินเซ งุ่มง่าม อ่อนเพลีย ง่วงซึม หงุดหงิด สับสน ความสามารถ ในการคิดและตัดสินใจด้อยลง
• เมื่ออุณหภูมิร่างกายลดต่ำลงไปอีก ผู้ป่วยจะหยุดสั่น มีอาการเพ้อคลั่ง ไม่ค่อยรู้ตัว ในที่สุดหมดสติและหยุด หายใจ
การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันอันตรายจากความเย็น ควรปฏิบัติดังนี้
-สวมใส่เสื้อผ้าให้อบอุ่นเพียงพอ ห่มผ้าห่มหรือผ้านวมหนาๆ หรือผิงไฟให้อบอุ่น
-หลีกเลี่ยงการออกไปสัมผัสอากาศหนาวหรือลมหนาวนอกบ้าน ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมใส่เสื้อผ้าให้เพียงพอ รวมทั้งปกคลุมถึงหน้าและศีรษะ ใส่ถุงมือถุงเท้า
-ไม่ดื่มแอลกอฮอล์
-ทำร่างกายให้อบอุ่น ทาโลชั่นหรือครีมเพิ่มความชุ่มชื้นผิวหนัง เป็นต้น
ถึงแม้จะเริ่มฤดูหนาวแล้ว แต่ช่วงเวลาของอากาศที่หนาวเย็นจะสั้นกว่าปกติ เนื่องจากช่วงกลางวันจะร้อน อาจทำให้ใครหลายคนลืมที่จะเตรียมรับมือกับอากาศหนาว ดังนั้นผ้าห่ม เสื้อกันหนาว ควรเริ่มนำออกมาซัก เพราะเราไม่สามารถที่จะทราบได้เลยว่าความหนาวจะมาเยือนเมื่อใด
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: รศ.นพ.พีระศักดิ์ เลิศตระการนนท์ อาจารย์หน่วยเวชศาสตร์ครอบครัวผู้สูงอายุ ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มช.
เรียบเรียง:นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่