คณะวิทย์ มช. เปิดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ส่วนภูมิภาค ประจำปี 2564 “วิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน Science for SDGs, Science for Everyone”

18 สิงหาคม 2564

คณะวิทยาศาสตร์

       “18 สิงหาคม 2564 คณะวิทยาศาสตร์ มช. จัดพิธีเปิดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ส่วนภูมิภาค ประจำปี 2564 ภายใต้หัวข้อ “พัฒนาเยาวชนภูมิภาคให้ก้าวไกล ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม” และหัวข้อย่อย “วิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน Science for SDGs, Science for Everyone” พร้อมต้อนรับเยาวชนทั่วภาคเหนือร่วมเรียนรู้และค้นหาแรงบันดาลใจในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ ในรูปแบบออนไลน์ครั้งแรก”

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดพิธีเปิดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ส่วนภูมิภาค ประจำปี พ.ศ. 2564 โดยได้รับเกียรติจากนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีถวายพานพุ่มราชสักการะ และกล่าวถวายราชสดุดีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และมอบโล่เกียรติคุณแก่คณาจารย์และบุคลากรคณะวิทยาศาสตร์ที่สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อีกทั้งยังได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน และศาสตราจารย์ ดร.ธรณินทร์ ไชยเรืองศรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวรายงานความเป็นมาของการจัดงาน เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 ณ ห้องบรรยาย SCB2100 และถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ส่วนภูมิภาค ประจำปี 2564 ระหว่างวันที่ 18 และ 27 – 28 สิงหาคม 2564 โดยการสนับสนุนจาก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตลอดจนหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเทิดพระเกียรติพระปรีชาสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงคำนวณไว้อย่างแม่นยำว่า ในวันอังคารเดือน 10 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะโรง จุลศักราช 1230 ซึ่งตรงกับวันที่ 18 สิงหาคม พุทธศักราช 2411 จะเกิดสุริยุปราคา มืดหมดทั้งดวง โดยอาศัยหลักวิชาดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์ขั้นสูงที่ทรงศึกษาด้วยพระองค์เอง

นอกจากนี้ ยังมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญเพื่อสนับสนุนและเปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงทักษะ ความรู้ความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนและประชาชนได้มีส่วนร่วม และตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ตลอดจนเพื่อส่งเสริมความร่วมมืออันดีระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ภายในงานมีการจัดกิจกรรมในรูปแบบออนไลน์ที่น่าสนใจมากมาย อาทิ นิทรรศการสุดสร้างสรรค์จากหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สวนสัตว์เชียงใหม่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) นิทรรศการจากศูนย์ความเป็นเลิศภายในคณะวิทยาศาสตร์ อาทิ ศูนย์ความเป็นเลิศทางวัสดุศาสตร์และเทคโนโลยีวัสดุ หัวข้อ “Materials for Wellness and Sustainability” ศูนย์วิจัยทางทรัพยากรชีวภาพเพื่อการเกษตร อุตสาหกรรม และการแพทย์ หัวข้อ “ทรัพยากรชีวภาพ คุณค่าที่มีในท้องถิ่น” กลุ่มวิจัยวิทยาการข้อมูล หัวข้อ “แบบจำลองทำนาย PM2.5, ฝน, การวิเคราะห์ DNA ของ Coronavirus, VR technology” ศูนย์วิจัยขั้นสูงด้านการจำลองเชิงคำนวณ หัวข้อ “แบบจำลองเชิงคำนวณ” รวมถึงนิทรรศการทางวิชาการ : การเสวนาทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง “พิชิตวิกฤติโควิด ด้วยวิทยาศาสตร์รากฐาน”

นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันทักษะทางวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนหลายด้าน อาทิ
o การแข่งขันวาดภาพการ์ตูนทางวิทยาศาสตร์ - วาดภาพจินตนาการทางวิทยาศาสตร์
o การแข่งขันตอบปัญหาทางวิทยาศาสตร์ – คณิตศาสตร์
o การประกวดการแสดงทางวิทยาศาสตร์ Science Show
o การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์
o การแข่งขันโครงงานด้านวิทยาการข้อมูล Data Science Hackathon
o การแข่งขันนักสื่อสารวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ Pre SIT Talk “Fake News จริงหรือหลอก บอก
ด้วยวิทย์” ร่วมกับ อพวช.
รวมทั้งนิทรรศการจากภาควิชาภายในคณะวิทยาศาสตร์ เช่น
o ชีวเคมีนวัตกรรมนำชีวิตพิชิตโควิด-19
o Reborn of the nature
o ข้อมูลมหัท (Big data) เปลี่ยนโลกมหาศาล
o กิจกรรมประมูลพลอย Online
o วิทยาศาสตร์เซรามิกสร้างสรรค์ศาสตร์และศิลป์
o พฤกษานานาวิทย์

ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานผ่าน Website สัปดาห์วิทยาศาสตร์ฯ
http://scw.science.cmu.ac.th เพื่อขอรับประกาศนียบัตรเข้าร่วมงานในภายหลัง และจะมีการสุ่มผู้โชคดี เพื่อรับของรางวัลมากมาย

ทั้งนี้ สามารถรับชมการ Live ไฮไลท์กิจกรรมต่าง ๆ ผ่านทาง Facebook Fanpage : Faculty of Science, Chiang Mai University

แกลลอรี่