มช. เดินเครื่อง 5 โปรแกรมรวมพลัง เพื่อเร่งการฟื้นตัวและ การเปลี่ยนผ่านสู่ชีวิตวิถีใหม่หลัง COVID-19

22 กรกฎาคม 2563

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำทรัพยากรและความเข้มแข็งของมหาวิทยาลัย ร่วมช่วยการเร่งฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ COVID-19 ให้เปลี่ยนผ่านสู่ชีวิตวิถีใหม่ โดยเสนอข้อมูลยุทธศาสตร์และบทบาทของ มช. รวม 5 โปรแกรม ต่อสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ชุมชนและสังคมในภาวะหลัง COVID-19 ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ ได้แก่ มช.อาสา Plug and Play, เรียนรู้ประสบการณ์การทำงานกับ มช.(Learning & Working with CMU), สร้างธุรกิจสตาร์ทอัพกับ มช.(CMU Startup), องค์ความรู้ มช. เพื่อทุกคน (CMU Knowhow for all) และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วยโรงงานต้นแบบ มช. (CMU Pilot Plant for Value-Added)

ด้วยกลยุทธ์ตามแผนยุทธศาสตร์การถ่ายทอดองค์ความรู้และผลงานที่โดดเด่น เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของชุมชนภาคเหนือและของประเทศ สอดรับกับ 5 โปรแกรมรวมพลัง มช. ซึ่งทุ่มงบประมาณกว่า 117 ล้านบาท โดยโปรแกรม มช.อาสา Plug and Play, เรียนรู้ประสบการณ์การทำงานกับ มช.(Learning & Working with CMU) ได้เริ่มนำร่องและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการ อว.สร้างงานระยะที่ 2 โดย ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในโครงการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 2,963 อัตรา โดยมีค่าจ้างเดือนละ 9,000 บาท ระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - กันยายน 2563 เพื่อสร้างงาน เสริมศักยภาพการพัฒนาทักษะในการทำงานด้านต่างๆ ร่วมกับมหาวิทยาลัยและชุมชน เพื่อต่อยอดเป็นพื้นฐานในการประกอบอาชีพต่อไปได้

ในด้านโปรแกรมสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพกับ มช. (CMU Startup) และ องค์ความรู้ มช. เพื่อทุกคน (CMU Knowhow for all) ได้ดำเนินการและถูกเชื่อมโยงไปพร้อมๆ กัน ในการสนับสนุนบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพ ภายใต้ บริษัท อ่างแก้ว สตาร์ทอัพ จำกัด เพื่อช่วยให้อาจารย์พัฒนางานวิจัยสู่งานต้นแบบหรือแนวคิดในเชิงพาณิชย์ รวมไปถึงผู้ประกอบการรายใหม่และนำระบบการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญามาช่วยให้สามารถจัดตั้งบริษัทสตาร์ทอัพได้ อีกทั้งจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านสมุนไพรที่สามารถนำไปพัฒนาการผลิตสมุนไพรที่มีคุณภาพ สร้างอาชีพให้กับผู้ประกอบการชุมชนและเกษตรกรผู้ปลูกพืชสมุนไพร จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้และพัฒนาองค์ความรู้ล้านนาสร้างสรรค์เป็นการนำนวัตกรรมและองค์ความรู้ด้านล้านนาไปใช้ประโยชน์เพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจ

ด้านการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วยโรงงานต้นแบบ มช. (CMU Pilot Plant for Value-Added) มหาวิทยาลัยเล็งเห็นความสำคัญของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่มีปัญหาในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือไม่สามารถลงทุนซื้อเครื่องจักรที่มีมูลค่าสูงได้ จึงสร้างโรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร (Innovative Food Fabrication Pilot Plant) เป็นแห่งแรกของภาคเหนือ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กว่า 160 ล้านบาท ผ่านสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) เพื่อแก้ไขปัญหาของอุตสาหกรรมอาหารในพื้นที่และเป็นสะพานเชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาครัฐ มหาวิทยาลัย เอกชน และชุมชนในภาคเหนือ พร้อมการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับนักศึกษา บัณฑิตว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ตลอดจนขยายฐานการเติบโตให้กับธุรกิจ SMEs และ Startup

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า 5 โปรแกรมรวมพลังจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถกลับมาตั้งตัวได้อีกครั้ง ด้วยนโยบายและยุทธศาสตร์ภายใต้สถานการณ์หลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนจนเกิดเป็นรูปธรรม ตามแนววิสัยทัศน์ในการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน


แกลลอรี่