เสน่ห์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ผู้คนมักจะนึกถึงเป็นอันดับต้น ๆ คือภูมิประเทศริมเชิงดอย ที่ใกล้ชิดธรรมชาติ โดยมี “ต้นไม้” ทำหน้าที่แต่งแต้มสีเขียวให้ มช. งดงามในทุกฤดูกาล โดยเฉพาะ “ต้นไม้ใหญ่” ที่ยืนต้นอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ร่มแดนช้างแห่งนี้
ต้นไม้ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีอยู่นับหมื่นต้น มีทั้งที่ขึ้นเองตามธรรมชาติมาก่อนที่จะตั้งมหาวิทยาลัย และที่มีผู้นำมาปลูกไว้ในช่วงเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัย ในเวลานั้นพื้นที่ของ มช.มีอยู่ประมาณ 580 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นที่ดินที่เป็นสวนผลไม้ สวนต้นนุ่น ป่า และลำห้วย ต่อมาเมื่อมีการสร้างอาคารต่าง ๆ มหาวิทยาลัยได้ใช้ที่ดอนในการปลูกสร้างตึกเรียน โดยพยายามหลีกเลี่ยงการตัดต้นไม้ที่ติดมากับพื้นที่เดิม และปลูกไม้ป่ายืนต้น และไม้ประดับไปพร้อม ๆ กัน ทำให้อาคารต่าง ๆ ปลูกสร้างอย่างกลมกลืนไปกับต้นไม้นานาพรรณ
ผ่านวันเวลามาหลายสิบปี ต้นไม้เหล่านั้นได้กลายเป็นต้นไม้ใหญ่กระจายตัวอยู่รอบ ๆ พื้นที่ ของมหาวิทยาลัย บางต้นมีขนาดใหญ่อลังการ มีรูปทรงสวยงาม และช่วยเสริมบุคลิกของพื้นที่ให้โดดเด่น มากขึ้น ขณะเดียวกัน ต้นไม้ใหญ่บางต้น ก็มีร่องรอยของกาลเวลาที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ โดยเฉพาะข้อเท็จจริงที่ว่า ใน มช.ของเรามีอ่างเก็บน้ำโบราณ อยู่ด้วย !
1. ต้นพะยอมที่ขอบอ่างเก็บน้ำโบราณ
ถ้าดูเผิน ๆ กลุ่มต้นพะยอมที่ปลูกอยู่บนคันดิน ตรงข้ามกับหน่วยกำจัดน้ำเสีย และขนส่งมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจเป็นเพียงต้นไม้ที่ปลูกอยู่ข้างทางเท่านั้น แต่ใครจะคิดว่า จุดที่ต้นพะยอมขนาดใหญ่ยืนต้นอยู่นี้ เคยเป็นคันดินขอบอ่างเก็บน้ำโบราณมาก่อน
“อ่างเก็บน้ำโบราณ” นี้ อยู่ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศ ของเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2497 สามารถมองเห็นร่องรอยของขอบอ่างเก็บน้ำโบราณรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ได้อย่างค่อนข้างชัดเจน ในอดีตอ่างเก็บน้ำโบราณแห่งนี้เป็นพื้นที่รับน้ำจากดอยสุเทพ เพื่อระบายไปสู่คูน้ำ รอบเวียงสวนดอก เวียงเก่าของเชียงใหม่ที่สร้างโดยพญากือนา ใน พ.ศ. 1914 อ่างเก็บน้ำโบราณนี้สะท้อนถึงภูมิปัญญาของการจัดการน้ำของคนล้านนาในสมัยโบราณ จนหลายร้อยปีผ่านไป อ่างเก็บน้ำได้ตื้นเขินลงไป ตามกาลเวลา จนกระทั่งเมื่อมีการตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พื้นที่ตรงนี้อยู่ในความดูแลของภาควิชาพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ และปัจจุบันเป็นที่ตั้งของขนส่งมวลชน และหน่วยกำจัดน้ำเสียของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ภาพถ่ายทางอากาศของเมืองเชียงใหม่ ใน พ.ศ. 2497
หมายเลข 5 ระบุตำแหน่งของอ่างเก็บน้ำโบราณที่อยู่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพจากกลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากร เชียงใหม่)
บนความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับพื้นที่นี้ ต้นพะยอมก็ยังยืนต้นเรียงรายอยู่บนคันดิน หลายต้นมีขนาดใหญ่กว่าต้นพะยอมที่พบในจุดอื่น ๆ ของ มช. เช่นที่สำนักหอสมุด เนื่องจากอยู่ในที่ตั้ง ที่ไม่ถูกรบกวน และในบางปีต้นพะยอมเหล่านี้ก็จะออกดอกสีขาวพราวพร่างไปทั้งต้น ช่วยประดับความงามให้แก่ มช. ด้วยร่องรอยของกาลเวลาที่มองเห็นและจับต้องได้
2. ต้นมะขามบนคันดินโบราณ
ไม่ไกลจากอ่างเก็บน้ำโบราณ มีแนวคันดินอีกจุดหนึ่งอยู่ด้านหลังอาคารพลศึกษาของ มช. เชื่อกันว่าเป็นคันดินบังคับน้ำที่ทอดยาวต่อจากอ่างเก็บน้ำลงไปทางด้านทิศใต้ น่าจะสร้างขึ้นเพื่อใช้ป้องกันน้ำป่าไหลหลากจากดอยสุเทพไหลสู่เวียงสวนดอก บนคันดินนั้น มีต้นมะขามขนาดใหญ่ รูปทรงสวยงามด้วยกิ่งก้านสาขาที่แผ่ออกไปรอบทิศจนเกือบเป็นรูปครึ่งวงกลม คาดว่าต้นมะขามต้นนี้จะมีอายุนับร้อยปี และในอดีตพื้นที่จุดนี้น่าจะเคยเป็นย่านชุมชนที่มีผู้อยู่อาศัย จึงมีการปลูกต้นมะขาม ซึ่งสามารถนำมารับประทานได้
3. ดงต้นสักใกล้ศาลาธรรม
ดงต้นสักที่ยืนต้นสูงใหญ่อยู่ใกล้ ๆ กับศาลาธรรม เป็นร่องรอยประวัติศาสตร์หน้าต่อมาของ มช. ที่มีความหมาย เพราะในความอุดมสมบูรณ์ของต้นสักขนาดใหญ่กลุ่มนี้ จะเห็นได้ว่า ต้นสักบางต้นมีร่องรอย ของการตัดจนกลายเป็นตอไม้อยู่ใกล้ ๆ กับต้นสักที่เติบโตสูงใหญ่ เรื่องนี้ รองศาสตราจารย์ชัยวัฒน์ ปานพลอย อดีตหัวหน้าแผนกอาคารสถานที่กองสวัสดิการ และรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้บันทึกไว้ในหนังสือ “เรื่องเล่าคนเก่า มช.” ไว้ว่า ในช่วงก่อตั้ง มช. ท่านเป็นผู้รับผิดชอบแผ้วถางปรับพื้นที่บริเวณตั้งแต่ศาลาอ่างแก้ว และศาลาธรรม พบว่าบริเวณนี้เป็นป่าต้นสักที่ถูกตัดไปเหลือแต่ตอ และต้นที่ไม่สมบูรณ์
“...การถางป่าปรับพื้นที่บริเวณตึกศาลาธรรมและศาลาอ่างแก้ว จะต้องขุดตอไม้สักที่ตายแล้ว ซึ่งเป็นไปด้วยความยากลำบากมาก เพราะตอไม้สักแต่ละต้นใหญ่และรากอยู่ลึก ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาต้นสักที่ยังเหลือ และหน่อเล็ก ๆ ที่ขึ้นอยู่ทั่วไปไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยกำชับคนงานไม่ให้ทำลายหน่อหรือต้นสักที่มีอยู่ ถ้าไม่ปฏิบัติก็ต้องถูกลงโทษ...”
ต้นสักที่เหลือแต่ตอไม้นั้น สันนิษฐานว่าถูกตัดในช่วงที่มีการสัมปทานทำป่าไม้ในเชียงใหม่ จึงได้มี การตัดไม้สักที่ใช้งานได้ เหลือไว้แต่ตอและหน่อต้นสักดังกล่าว ต่อมาหน่อต้นสักเหล่านี้ได้เติบโตขึ้นเป็นกลุ่ม ต้นสักขนาดใหญ่ที่คาดว่าน่าจะมีอายุเกิน 60 ปี กระจายตัวอยู่ที่ลานสัก และบริเวณโดยรอบศาลาธรรม เรียกได้ว่าเป็นต้นสักรุ่นลูกที่เติบโตมาพร้อม ๆ กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั่นเอง
4. บ้านไม้สัก และต้นบุนนาคร้อยปี
ต้นบุนนาคยืนต้นอยู่หน้าบ้านไม้สัก ก่อนที่จะมีการบูรณะ
ภาพหลังจากการบูรณะ
ในบรรดาบ้านพักของบุคลาร มช. แถบหลังคณะวิศวกรรมศาสตร์ มีบ้านอยู่หลังหนึ่งที่มีรูปทรงแตกต่างไปจากบ้านหลังอื่น ๆ หน้าบ้านมีต้นบุนนาคขนาดใหญ่ และศาลพระภูมิตั้งอยู่ ต้นบุนนาคนี้ มีขนาดใหญ่ และคาดว่าจะมีอายุยาวนานนับร้อยปีแล้ว ส่วนตัวบ้านก็มีความเก่าแก่ไม่แพ้กัน เพราะเป็นบ้าน ที่ติดที่ดินมาตั้งแต่ก่อนก่อตั้ง มช. ทั้งนี้ คุณณัฐวิทย์ ครูบา ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่และสาธารณูปโภค ของ มช. ซึ่งเคยพักอาศัยที่บ้านหลังนี้นานนับสิบปีเล่าว่า เท่าที่สืบค้นประวัติบ้านหลังนี้พบว่า เป็นบ้านพักของเจ้าของบริษัททำไม้ ซึ่งเข้ามาตั้งแคมป์สำนักงานป่าไม้ในบริเวณนี้ ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้านนี้ ถูกใช้เป็นศูนย์บัญชาการของทหารญี่ปุ่น หลังจากนั้นจึงถูกเวนคืนมาอยู่ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยใช้เป็นบ้านพักบุคลากร จนกระทั่งปัจจุบัน คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ปรับปรุงให้เป็น “บ้านนายช่าง” หรือที่ทำการสมาคมศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์นั่นเอง
5, 6 ต้นโชค และต้นจามจุรี ที่สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม
พื้นที่ของสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมที่มีความเงียบสงบ และแทบไม่ถูกรบกวนจากภายนอก มีส่วนทำให้ต้นจามจุรีของที่นี่มีขนาดใหญ่อลังการ มีรูปทรงสวยงาม และแผ่ขยายกิ่งก้านสาขาออกไปได้ อย่างเต็มที่ ช่วยเสริมให้พื้นที่นี้มีความโดดเด่นสมกับเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่ง ของเชียงใหม่ ต้นจามจุรีนี้อยู่ในพื้นที่ของ “บ้านหลิ่งห้า” หรือเรือนคิวริเปอล์ ซึ่งสร้างขึ้นในราว พ.ศ. 2469 เจ้าของบ้านคือ นายอาเธอร์ ไลออนแนล คิวรีเปอล์ พนักงานของบริษัท ค้าไม้บอมเบย์-เบอร์ม่า จำกัด จนกระทั่งใน พ.ศ. 2506 พื้นที่ของบ้านหลังนี้ได้ถูกเวนคืนให้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นอกจากต้นจามจุรีแล้ว ยังมีต้นไม้ที่น่าสนใจอีกต้นหนึ่งในบ้านหลังนี้ นั่นคือ ต้นโชค หรือตะคร้อ เป็นไม้มงคลที่นิยมปลูกในบ้านเพื่อให้โชคลาภ และสามารถนำไปใช้ในพิธีกรรม เช่น ใช้แช่น้ำมนต์ เป็นต้น ต้นโชคต้นนี้แม้จะมีขนาดต้นเล็กกว่าจามจุรี แต่มีอายุมากกว่า ตามคำบอกเล่าของ คุณมาลินี คิวรีเปอล์ บุตรสาวเจ้าของบ้าน ลำต้นของต้นโชคนี้มีโพรงไม้ที่เชื่อกันว่าหากใครโยนเหรียญเข้าไปโพรงไม้ได้สำเร็จ ก็จะมีโชคลาภ
7. ต้นจามจุรีที่คณะทันตแพทย์
ในพื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีต้นจามจุรีเก่าแก่ช่วยเสริมความงามให้แก่พื้นที่อยู่หลายต้น หนึ่งในนั้นคือ ต้นจามจุรีที่คณะทันตแพทยศาสตร์ ทั้งนี้พื้นที่ส่วนหนึ่งของคณะทันตแพทยศาสตร์ เคยเป็นที่ตั้งของเวียงสวนดอกในอดีต
ต้นจามจุรีนี้มีลักษณะพิเศษคือ ตั้งตระหง่านอยู่ตรงกลางพื้นที่อาคารเรียน เป็นต้นไม้ที่ติดที่ดิน มาก่อนที่จะมีการสร้างคณะทันตแพทยศาสตร์ สะท้อนให้เห็นรูปแบบหนึ่งของความลงตัวในการอนุรักษ์ต้นไม้และการจัดการพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ไปพร้อม ๆ กัน โดยรูปทรงและสีสันของต้นไม้ช่วยลดความเป็นทางการของตึกเรียน และทำให้บรรยากาศร่มรื่น ผ่อนคลาย จนกลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปัจจุบันต้นไม้ใหญ่ใน มช. ได้รับการดูแลทั้งจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องต้นไม้ใหญ่จากภายนอก ซึ่งมีองค์ความรู้ในการดูแลต้นไม้ใหญ่ และจากกองอาคารและสถานที่ฯ โดยมีแนวทางคือ ตัด หรือตกแต่งต้นไม้เท่าที่จำเป็น เช่น มีการกีดขวางพื้นที่ หรือทำให้เกิดอันตราย ส่วนต้นไม้ที่จะไม่มีเจ้าหน้าที่คนใด ยอมตัดเลยคือ ต้นโพธิ์ เนื่องจากความเชื่อที่ว่า เป็นไม้โบราณที่มีเทพาอารักษ์สิงสถิตอยู่ นอกจากนี้ ทางกองอาคารและสถานที่ฯ ยังมีแนวทางในการให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจ โดยจะมี QR Code แขวนอยู่ที่ต้นไม้ เพื่อให้ข้อมูลเรื่อง ชื่อพันธุ์ไม้ พิกัดที่ตั้ง ความสูง ขนาดลำต้น เป็นต้น

เพราะต้นไม้ใหญ่เหล่านี้ มีความสำคัญมากกว่าจะเป็นเพียงต้นไม้ที่ให้ร่มเงา หรือประดับพื้นที่ ให้สวยงาม แต่สามารถบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในหลายช่วงเวลาได้ นี่คือมนต์เสน่ห์ของต้นไม้ใหญ่ที่น่าค้นหาและแกะรอยจากกาลเวลาบนพื้นที่ “ร่มแดนช้าง” แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นี้
เอกสารอ้างอิง
- บทสัมภาษณ์ ณัฐวิทย์ ครูบา ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่และสาธารณูปโภค มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- บทสัมภาษณ์ อรรณพ ประกิจ นักวิทยาศาสตร์เกษตร กองอาคารสถานที่และสาธารณูปโภค มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- บทความ “เวียงเจ็ดลิน เมืองโบราณสัณฐานกลม” โดย อิศรา กันแตง
- บทความ “ทรรศนะหนึ่งที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่” โดย สุมนา คำทอง พาณี เชี่ยววาณิช สุขุม อัศเวศน์ ธนกาญจน์ ภัทรากาญจน์ จากหนังสือครบรอบ 20 ปี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- บทความ “ลานสัก” โดย รองศาสตราจารย์ชัยวัฒน์ ปานพลอย จากหนังสือเรื่องเล่าคนเก่า มช.