เมื่อวันที่ 4 - 5 กุมภาพันธ์ 2566 ทีมจักษุแพทย์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับโรงพยาบาลแม่สอด และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก ได้จัดทำโครงการรณรงค์ผ่าตัดต่อกระจก “ฟ้าสวยตาใสที่ชายแดน” ครั้งที่ 4 โดยได้ออกหน่วยเคลื่อนที่ให้แก่ประชาชนผู้ยากไร้ ด้อยโอกาส ที่มีภาวะสายตาเลือนราง ตาบอดจากโรคต้อกระจก จำนวนกว่า 100 ราย ในเขตชายแดนแม่สอด เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ณ โรงพยาบาลแม่สอด ท่ามกลางความหวังและการรอคอยของผู้ป่วย ที่จะได้มีโอกาสกลับมามองเห็นอีกครั้งหนึ่ง
รศ.นพ.ดิเรก ผาติกุลศิลา หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวว่า
“เมื่อครั้ง ได้มีการเดินทางออกหน่วยมายังโรงพยาบาลแม่สอด จังหวัดตาก ในครั้งนี้ เป็นโครงการที่มีชื่อว่า “ฟ้าสวยตาใสที่ชายแดน” โดยในช่วง 2 - 3 ปี ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่มีการระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้ประชาชนไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลา 1 - 2 ปี จึงได้กลับมาเริ่มทำโครงการนี้อีกครั้ง โดยการผ่าตัดครั้งนี้ เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะดวงตามองไม่เห็น หรืออยู่ในเกณฑ์ตาบอดตกค้างเป็นจำนวนมาก
ทางโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มช. จึงได้นำทีมทำงาน ทั้งทีมแพทย์และพยาบาล รวมถึงจักษุแพทย์ที่เป็นศิษย์เก่า ของภาควิชาจักษุฯ คณะแพทย์ มช. ร่วมกับโรงพยาบาลแม่สอด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก และยังมีบริษัทต่างๆ ที่ได้สนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ในการผ่าตัดต้อกระจกในครั้งนี้อีกด้วย
ซึ่งปัจจุบัน โรคต้อกระจก ยังถือว่าเป็นปัญหาที่สำคัญมากของสาธารณสุข จากการสำรวจในหลายครั้ง พบว่าภาวะที่เป็นสาเหตุของโรคตาบอดที่พบบ่อยที่สุดก็คือ โรคต้อกระจกในผู้สูงวัย ซึ่งมีผู้ป่วยโรคต้อกระจกตกค้างในประเทศไทยนับแสนราย เนื่องจากในปัจจุบัน ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว และเชื่อว่าภาวะต้อกระจกจะยังคงอยู่คู่กับสังคมบ้านเราไปอีกนาน
ถึงแม้ว่าการออกหน่วยในครั้งนี้ จะสามารถทำได้แค่ 100 กว่าราย แต่ทีมอาจารย์แพทย์ทุกท่าน จะเป็นแรงบันดาลใจให้แพทย์ประจำบ้านที่จะจบออกไปทำงาน มีจิตสำนึกในการช่วยเหลือผู้ป่วย เพื่อให้แพทย์ประจำบ้านเหล่านี้ ช่วยเป็นอีกแรงที่จะช่วยต่อสู้กับโรคต้อกระจกดังกล่าว และหวังว่าจะสามารถลดโรคต้อกระจกที่ทำให้เกิดภาวะตาบอดในประเทศไทยของเราได้”
ด้าน ผศ.นพ.ณวัฒน์ วัฒนชัย อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวว่า
“ด้วยเหตุที่ อ.แม่สอด อยู่ติดกับขอบชายแดน จำนวนแพทย์เฉพาะทางจึงมีจำนวนน้อยกว่าแพทย์เฉพาะทางในจังหวัดที่มีจำนวนประชากรมาก โดยเฉพาะที่ใกล้กับจังหวัดใหญ่ๆ ใกล้กรุงเทพฯ และในบางครั้ง ยังมีผู้ป่วยกลุ่มชนเผ่าที่มารับการรักษาการผ่าตัดในครั้งนี้ด้วย โดยข้ามฝั่งจากชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เป็นความรู้สึกที่อาจจะเหนื่อยเพิ่มขึ้นอีกนิดหนึ่ง แต่ในบางครั้งก็เป็นการเปลี่ยนชีวิตคน จากผู้ป่วยผู้สูงอายุบางราย ตามองไม่เห็นทั้ง 2 ข้าง ในขณะอยู่ที่บ้านช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ครอบครัวต้องมีลูกหลาน 1 คน เพื่อมาดูแล และหลังจากที่ได้รับการผ่าตัดแล้ว ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองได้ ลูกหลานที่มาดูแลสามารถออกไปทำงานได้ มีรายได้เข้ามาจุนเจือครอบครัวได้มากขึ้น
รู้สึกดีใจเป็นอย่างมาก ที่คณะแพทยศาสตร์ มช. ได้ให้การสนับสนุน และแน่นอนว่า ทางคณะฯ มีพันธกิจหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการสอนนักศึกษา แพทย์ประจำบ้าน และบริการผู้ป่วยที่ส่งต่อมายังโรงพยาบาล แต่ในขณะเดียวกันทางคณะฯ ก็ได้สนับสนุนให้ทีมแพทย์ เดินทางไปหาผู้ป่วยปฐมภูมิเหล่านี้ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมากกับทีมแพทย์ประจำบ้านที่มา หากอยู่โรงเรียนแพทย์ ก็จะเห็นแต่เคสแปลกๆ ที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดไม่สามารถที่จะรักษาได้ และส่งตัวมายังโรงพยาบาลมหาราชฯ ในขณะที่มามาออกหน่วยที่นี่ นักศึกษาแพทย์ สามารถพบผู้ป่วยที่จะเจอหลังเรียนจบ ซึ่งจะช่วยได้มาก และยังเห็นการทำงานของโรงพยาบาลชุมชน และทางคณะแพทย์ก็ยินดีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้คำแนะนำ และก็สนับสนุนเท่าที่จะทำได้ ซึ่งไม่ใช่โรงเรียนแพทย์ทุกโรงเรียนจะทำแบบนี้ได้”
ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ป่วยสายตาเลือนรางจากโรคต้อกระจกรอรับการผ่าตัดมากกว่า 1 แสนรายต่อปี ได้รับการผ่าตัดทั้งหมดปีละ 113,800 คน และมีผู้ป่วยโรคต้อกระจกเพิ่มขึ้นทุกปี ผลการสำรวจ พบผู้ป่วยตาบอด ร้อยละ 0.59 สายตาเรือนราง ร้อยละ 1.57 โดยมีสาเหตุจากโรคต้อกระจกมากที่สุด ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด ปัจจุบันการกระจายตัวของจักษุแพทย์ในประเทศไทยยังมีไม่ทั่วถึง ทำให้ผู้ป่วยมีระยะเวลารอคอยผ่าตัดนาน
ดังนั้น โรงพยาบาลแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก จึงเป็นโรงพยาบาลที่ให้บริการผู้ป่วยโรคต้อกระจกใน 5 อำเภอ ซีกตะวันตก โดยมีจักษุแพทย์โรงพยาบาลแม่สอด จำนวน 5 คน เป็นผู้ดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคทางตาใน อ.แม่สอด, อ.แม่ระมาด, อ.ท่าสองยาง, อ.พบพระ และ อ.อุ้มผาง รวมทั้งผู้ป่วยที่อยู่ตามแนวชายแดน ตามศูนย์อพยพต่างๆ โดยประชากรที่มีอายุ 50 ปี ขึ้นไป จำนวน 93,530 ราย มีโอกาสเป็นโรคต้อกระจกตามอายุ และเนื่องจากภูมิประเทศที่เป็นแนวเขาและชายแดน การเดินทางทุรกันดาร ทำให้การเข้าถึงยากลำบาก ทำให้ผู้ป่วยต้องใช้ระยะเวลานานในการเดินทาง
เพื่อลดระยะเวลารอคอยการผ่าตัดต้อกระจก และผู้ป่วยโรคต้อกระจกที่ตกค้างในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลแม่สอดใน 5 อำเภอ ซีกตะวันตก ของจังหวัดตาก และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยโรคต้อกระจกในถิ่นทุรกันดาร ด้วยความร่วมมือของจักษุแพทย์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ท่ามกลางความดีใจ ปลาบปลื้ม ของผู้ป่วยที่เริ่มกลับมองเห็นใหม่อีกครั้ง.
เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่