มช. อันดับ 2 ของประเทศ 3 ด้าน “ด้าน Sustainability” “ด้าน International Research Network” และ“ด้าน International Students” จากการจัดอันดับของ QS World University Rankings 2024

30 มิถุนายน 2566

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

QS Quacquarelli Symonds สถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ได้รายงานผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก QS World University Rankings 2024 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 โดยในปีนี้มีสถาบันการศึกษาเข้าร่วมการจัดอันดับ 2,963 แห่งจากทั่วโลก ซึ่งได้รับการจัดอันดับทั้งหมด 1,499 แห่ง มีสถาบันที่ได้รับการจัดอันดับเพิ่มจากปีที่แล้ว 83 แห่ง และมหาวิทยาลัยของไทยได้รับการจัดอันดับรวมทั้งหมด 13 แห่ง เพิ่มจากปีที่ผ่านมา 3 แห่ง

โดยผลการจัดอันดับของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยปีนี้ 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อันดับ 211 ของโลก) อันดับ 2 มหาวิทยาลัยมหิดล (อันดับ 382 ของโลก) อันดับ 3 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (อันดับ 571 ของโลก) อันดับ 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อันดับ 600 ของโลก) และ อันดับ 5 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (อันดับ 751-760 ของโลก)


ผลการจัดอันดับของ QS World University Rankings ในปี 2024 มช. ได้รับการจัดอันดับที่ 571 ของโลก อันดับดีขึ้นจากปีที่ผ่าน ๆ มา ซึ่งได้รับการจัดอันดับอยู่ในช่วง 601-650 และยังคงเป็นอันดับ 3 ของไทย ทั้งนี้ หากพิจารณาจากคะแนนที่ มช. ได้รับนั้น แนวโน้มคะแนนเพิ่มขึ้นทุกปี และหากพิจารณาจากตัวชี้วัดด้านความยั่งยืน ซึ่งเป็นตัวชี้วัดใหม่ มช.ได้อันดับที่ 252 ของโลก เป็นอันดับที่ 2 ของไทย โดยตัวชี้วัดนี้พิจารณาด้านผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact) และผลกระทบทางด้านสังคม(Social Impact)



ทั้งนี้ หากเทียบอันดับแต่ละตัวชี้วัดมหาวิทยาลัยในไทยจะเห็นได้ว่า มช. ได้อันดับที่ 2 ของไทย จำนวน 3 ตัวชี้วัด ประกอบด้วย International Research Network, International Students และ Sustainability และสำหรับ Academic Reputation ซึ่งมีค่าน้ำหนักเยอะที่สุด 30% มช. ได้อันดับที่ 3 ของไทย



ด้านความมีชื่อเสียงด้านวิชาการ (Academic Reputation) ของมช. ได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่มีค่าน้ำหนักในการให้คะแนนมากที่สุด และตัวชี้วัดนี้ มช. ถูกจัดอันดับดีขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ปัจจุบันปี 2024 อยู่อันดับที่ 256 ของโลก เพิ่มขึ้นมา 8 อันดับจากปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การจัดอันดับ QS World University Rankings จากเดิมพิจารณาตัวชี้วัด 6 ด้าน ในปัจจุบันปี 2024 มีตัวชี้วัดเพิ่มขึ้น 3 ด้าน รวมเป็น 9 ด้าน คือ Employment Outcomes: ผลลัพธ์ด้านการจ้างงาน (5%) International Research Network: เครือข่ายวิจัยนานาชาติ (5%) และSustainability: ความยั่งยืน (5%) ซึ่งตัวชี้วัดทั้ง 3 ด้านที่เพิ่มเข้ามา ทำให้ค่าน้ำหนักด้านอื่น ๆ ถูกปรับ ได้แก่ ตัวชี้วัดด้าน Employer Reputation : การเป็นที่ยอมรับจากนายจ้าง มีค่าน้ำหนักเพิ่มขึ้นเพียงตัวชี้วัดเดียว เป็น 15% จากเดิม 10% และตัวชี้วัดด้านอื่น ๆ ที่ถูกปรับลด ได้แก่ Academic reputation : ความมีชื่อเสียงด้านวิชาการ (30%) Faculty Student : สัดส่วนของอาจารย์ต่อนักศึกษา (10%) ยกเว้น Citations per Faculty : ผลงานวิชาการต่ออาจารย์ (20%) International Faculty : สัดส่วนของอาจารย์ชาวต่างชาติ (5%) และ International Student : สัดส่วนของนักศึกษาชาวต่างชาติ (5%) ที่ยังมีค่าน้ำหนักเท่าเดิม

รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: https://www.topuniversities.com/university-rankings/world-university-rankings/2024
ข้อมูลโดย สำนักงานบริหารงานวิจัย

ข้อมูลโดย : สำนักงานบริหารงานวิจัย
แกลลอรี่