สถานการณ์มลพิษทางอากาศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนบน และวิกฤตหมอกควันในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย

26 เมษายน 2562

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

     ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตรวจพบการเผาตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม และเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในเดือนมีนาคม ในช่วงตั้งแต่ 1 มกราคม – 10 เมษายน 2562 พบการเผามากที่สุดในประเทศพม่า (41%) ไทย (23%) ลาว (18%) กัมพูชา (13%) และเวียดนาม (5%) ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศเป็นประจำทุกปี พบจุดความร้อนใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ซึ่งจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีจำนวนจุดความร้อนสะสมมากที่สุด (21%) รองลงมาคือ เชียงใหม่ (20%) ลำปาง (14%) ตาก (11%) และน่าน (10%) นอกจากนี้ยังพบว่าค่าฝุ่น PM2.5 ที่ตรวจวัดบริเวณชายแดนของประเทศไทยที่สถานี อ.แม่สาย จ.เชียงราย มีค่าสูงสุด และสูงที่สุด คือวันที่ 30 มีนาคม 2562 ซึ่งสูงถึง 357 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชากร รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจของพื้นที่ภาคเหนือ และธุรกิจการท่องเที่ยว

     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สมพร จันทระ หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ข้อมูลภาพรวมและสถานการณ์มลพิษทางอากาศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนบนไว้ว่า ในช่วงฤดูแล้งของทุกปี (มกราคม – เมษายน) จะพบการเผาในที่โล่งเป็นจำนวนมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนบน ได้แก่ ไทย พม่า ลาว เวียดนาม และ กัมพูชา ซึ่งส่งผลให้มีการปล่อยอนุภาคฝุ่นและก๊าซปริมาณมากขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ และมีผลกระทบต่อคุณภาพอากาศในภูมิภาคอย่างมาก ทำให้ภูมิภาคนี้ได้รับผลกระทบของภาวะหมอกควันในช่วงฤดูแล้งเป็นประจำทุกปี จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมระบบ Visible Infrared Imaging Radiometer Suite (VIIRS) พบจุดความร้อน (hotspots) จำนวนมากในภูมิภาค ดังรูปที่ 1 สำหรับข้อมูลปี 2562 พบการเผาในที่โล่งตั้งแต่เดือนมกราคมในประเทศกัมพูชา ในขณะที่ประเทศไทย พม่า และลาว พบมีการเผาตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม และเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในเดือนมีนาคม (รูปที่ 2ก) เมื่อนำจำนวนจุดความร้อนสะสมที่พบใน 5 ประเทศในภูมิภาคในช่วงตั้งแต่ 1 มกราคม – 10 เมษายน 2562 มาหาสัดส่วนเป็นร้อยละ พบการเผามากที่สุดในประเทศพม่า (41%) ไทย (23%) ลาว (18%) กัมพูชา (13%) และเวียดนาม (5%) ตามลำดับ (รูปที่ 2ข)



     ในส่วนของภาพรวมสถานการณ์มลพิษทางอากาศในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย 9 จังหวัดนั้น ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยประสบปัญหามลพิษทางอากาศ (ภาวะหมอกควัน) เป็นประจำทุกปี โดยมีปัจจัยหลักของปัญหา คือ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ มีที่ตั้งในแอ่ง ล้อมรอบไปด้วยแนวภูเขา (รูปที่ 3) สภาวะอากาศที่นิ่งทำให้ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นสามารถแขวนลอยอยู่ในบรรยากาศได้นาน สภาวะทางอุตุนิยมวิทยา ในช่วงต้นปีประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากร่องความกดอากาศสูงที่พาดผ่านพื้นที่ตอนบนของประเทศ ส่งผลให้หลายพื้นที่มีอากาศหนาวเย็นอย่างต่อเนื่อง สภาพความกดอากาศสูง อุณหภูมิต่ำ ก่อให้เกิดหมอกในตอนเช้า เมื่อหยดน้ำในอากาศรวมตัวกับฝุ่นละอองและสารมลพิษในอากาศเกิดเป็นลักษณะของ smog ขึ้น นอกจากนี้ยังมีการผสมตัวของอากาศในแนวดิ่งได้น้อยเนื่องจากความต่างของอุณหภูมิ (temperature inversion) ก่อให้เกิดการสะสมของมลพิษในบริเวณแอ่ง และมีแหล่งกำเนิดหลักมาจากการเผาในที่ที่โล่ง เช่น เผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และไฟป่า รวมถึงมีผลจากการคมนาคมที่เพิ่มขึ้น

     จุดความร้อนที่ตรวจพบใน 9 จังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย ในช่วงมกราคม – 10 เมษายน 2562 โดยพบว่าเริ่มมีการเผาตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในเดือนมีนาคมและเมษายน โดยเฉพาะจังหวัดในแถบฝั่งตะวันตก ได้แก่ แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่ ดังแสดงในรูปที่ 4ก เมื่อนำมาคิดสัดส่วนร้อยละของจำนวนจุดความร้อนสะสม พบว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีจำนวนจุดความร้อนสะสมมากที่สุด (21%) รองลองมาคือ เชียงใหม่ (20%) ลำปาง (14%) ตาก (11%) และน่าน (10%) ส่วนอีก 4 จังหวัดที่เหลือมีจำนวนจุดความร้อนสะสมน้อยกว่าร้อยละ 10 ดังแสดงในรูปที่ 4ข


     สำหรับข้อมูลปี 2562 ของจังหวัดเชียงใหม่ จากการตรวจวัดที่ตำบลช้างเผือก และตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พบว่าฝุ่น PM2.5 มีค่าเกินค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของประเทศไทย เกือบตลอดทั้งเดือนมีนาคม 2562 ต่อเนื่องไปถึงสัปดาห์ที่สองของเดือนเมษายน ซึ่งสถานการณ์ฝุ่นควันรุนแรงมาก โดยค่าเฉลี่ย PM2.5 รายวันในเดือนมีนาคม มีค่าอยู่ที่ 96 และ 84 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สำหรับตำบลช้างเผือก และตำบลศรีภูมิตามลำดับ

     เมื่อพิจารณาค่าฝุ่น PM2.5 ที่ตรวจวัดบริเวณชายแดนของประเทศไทย พบว่าสถานี อ.แม่สาย จ.เชียงราย มีค่าสูงสุด และสูงที่สุดในทุกสถานีใน 9 จังหวัดภาคเหนือในปีนี้ โดยวันที่มีค่าเฉลี่ยรายวันสูงสุดของ อ.แม่สาย คือวันที่ 30 มีนาคม 2562 ซึ่งสูงถึง 357 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อาจจะมีประเด็นมลพิษข้ามแดนเป็นตัวแปรสำคัญ ประกอบกับทิศทางลมหลักพัดมาจากทิศตะวันตกและทิศใต้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะในประชากรกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ เด็ก และผู้สูงอายุ เป็นต้น นอกจากนี้มลพิษทางอากาศยังส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจของพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยว รวมถึงบดบังทัศนวิสัยการจราจร

     ติดตามสถานการณ์หมอกควันได้ที่  เว็บไซต์ www.shiru-cmu.org/ และเฟสบุ๊ค SHIRU : Smoke Haze Integrated Research Unit หน่วยวิจัยบูรณาการด้านหมอกควัน ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ข้อมูลโดย : ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แกลลอรี่