วัยเก๋าเตรียมพร้อม รับมือโรคหน้าฝน

19 กรกฎาคม 2567

คณะแพทยศาสตร์

ผู้สูงอายุควรระวังและป้องกันโรคที่เกี่ยวกับการติดเชื้อในช่วงฤดูฝน เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคโควิด-19 โรคไข้เลือดออก และโรคฉี่หนู (Leptospirosis) อีกประการที่ควรระมัดระวัง คือการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ เช่น อุบัติเหตุการจราจร ฝนตกถนนลื่น มีโอกาสที่ผู้สูงอายุขับรถและเกิดอุบัติเหตุได้ รวมถึงการหกล้ม เมื่อเคลื่อนไหวอยู่ภายในบริเวณบ้าน หรือนอกบ้านก็เกิดให้มีความเสี่ยงที่จะหกล้มได้ง่ายเช่นกัน


นอกจากนี้ควรระวังในเรื่องของไฟฟ้าดูด เพราะอุปกรณ์ในบ้านชำรุดหรือสายไฟที่ใช้มานาน ทำให้เกิดไฟรั่ว ก็อาจจะเกิดอันตรายและทำให้ไฟฟ้าดูดได้


โรคไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุ
มีโอกาสพบได้ในผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงเรื่องของการเกิดภาวะแทรกซ้อน มีอาการไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว มีน้ำมูก ไอ เนื่องจากผู้สูงอายุมีภูมิต้านทานที่ลดลง มีการเสื่อมถอยของอวัยวะต่างๆ เพราะฉะนั้นอาจจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้ โดยเฉพาะปอดอักเสบ ให้สังเกตอาการ เช่น หายใจเร็วขึ้น มีไข้สูง


การดูแลตนเองในผู้สูงอายุ
-ให้รักษาตามอาการ พักผ่อนให้เพียงพอ เมื่อมีน้ำมูกให้รับประทานยาแก้แพ้
– หลีกเลี่ยงการโดนละอองฝนหรือเปียกฝน สภาพแวดล้อมที่ชื้น เปลี่ยนเสื้อผ้าที่เปียกชื้น ป้องกันการติดเชื้อไข้หวัด โควิด-19
– ให้พกร่มเมื่อออกไปภายนอก
– หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ มีโอกาสติดเชื้อโรคฉี่หนู (Leptospirosis) ติดเชื้อแบคทีเรีย โรคน้ำกัดเท้า
– หลีกเลี่ยงการถูกยุงกัด กำจัดแหล่งลูกน้ำยุงลาย เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค
โรคฉี่หนู


เชื้อโรคที่มีอยู่ในสัตว์จำพวกหนู จะออกมาจากปัสสาวะหนู ถ้าเกิดมีน้ำท่วมหรือน้ำขังเป็นเวลานาน บางครั้งเมื่อมีการสัมผัสเท้าที่มีบาดแผลโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากการรับรู้ของผิวหนังเสื่อมไป มีโอกาสที่เชื้อโรคจะเข้าไป ทำให้เกิดโรคฉี่หนูได้
อาการของโรค จะมีไข้ ปวดเนื้อตัว ตาแดง ถ้ารุนแรงมากขึ้นอาจจะเกิดตับอักเสบได้ ซึ่งค่อนข้างจะอันตราย


ไข้เลือดออก
เพราะแหล่งน้ำที่ขังจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เพราะฉะนั้นมีโอกาสการติดเชื้อเนื่องจากเป็นไข้เลือดออกได้
ในบางโรคที่กล่าวถึง ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก รวมถึงโควิด-19 อาจป้องกันโดยการฉีดวัคซีน
ผู้ป่วยที่เหมาะกับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ในหญิงตั้งครรภ์ ไตรมาสที่ 2
ไตรมาสที่ 3 หรือมีโรคเรื้อรัง เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคธาลัสซีเมีย โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งโรคเหล่านี้อาจจะต้องพบแพทย์ก่อนเพื่อประเมินว่าสามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่ ถ้าสุขภาพแข็งแรงอายุเกิน 65 ปีขึ้นไป สามารถมาฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้เพื่อป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน
สำหรับวัคซีนไข้เลือดออกยังต้องมีการพัฒนา อาจจะยังไม่มีข้อมูลสำหรับผู้สูงอายุ เพราะฉะนั้นคำแนะนำคือจะฉีดในช่วงที่ยังเป็นผู้ใหญ่ และไม่เกินอายุ 60 ปี แต่ยังไม่มีการแนะนำฉีดสำหรับผู้สูงอายุ แต่เป็นวัคซีนที่ผู้ใหญ่สามารถฉีดได้เพื่อป้องกันหรือลด
อาการที่เกิดจากไข้เลือดออก
วัคซีนที่ควรฉีดคือวัคซีนโควิด-19 ซึ่งขณะนี้ผู้ติดโควิด-19 มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ควรมีมาตรการป้องกัน ในเรื่องของการใช้หน้ากาก การล้างมือ ไม่อยู่ในที่ที่มีชุมชนแออัด แต่ลักษณะอาการความรุนแรงของโรคก็จะน้อยลง แต่ในผู้สูงอายุก็มีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงมาก ลักษณะคล้ายๆไข้หวัดใหญ่ ทำให้เกิดการอักเสบของปอดและเกิดอันตรายได้ จึงควรระมัดระวัง


การป้องกันการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ
– ตรวจเช็คยานพาหนะให้สมบูรณ์
– ควรสวมรองเท้าที่กันลื่น เช่น รองเท้ายาง และสวมใส่รองเท้าให้พอดีกับเท้า
– หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ
– ตรวจเช็คอุปกรณ์ไฟฟ้า สายไฟ ที่ใช้มานาน อาจเกิดการชำรุดได้
ท้ายที่สุดการส่งเสริมสุขภาพสำคัญที่สุด โดยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ฉีดวัคซีนเมื่อครบเวลาที่กำหนด และตรวจสุขภาพประจำปี
โดย รศ.นพ.พีระศักดิ์ เลิศตระการนนท์ หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


เรียบเรียง:นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แกลลอรี่