โครงการ Smart Bee คณะวิทย์ มช. จัดอบรมเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งในประเทศไทย

15 พฤษภาคม 2562

คณะวิทยาศาสตร์

              เมื่อวันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม 2562  โครงการ Smart Bee คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย รศ.ดร.ภาณุวรรณ จันทวรรณกูร หัวหน้าชุดโครงการและอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การเลี้ยงผึ้งให้มีมาตรฐาน ตามการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) เพื่อความยั่งยืนตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียงและการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ผึ้งในยุค 4.0” ณ ห้องประชุมดอยหลวง โรงแรมแคนทารี่ ฮิลล์ เชียงใหม่ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยสู่เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งและผู้ที่สนใจ ให้สามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้สำหรับการพัฒนาและการจัดการการเลี้ยงผึ้งในประเทศไทย  อีกทั้งเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผึ้งให้เป็นผลิตภัณฑ์เวชสำอางและความงาม ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งในชุมชนและเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งในภาคเหนือ และยกระดับมาตรฐานและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ผึ้งในภาคเหนือ

รศ.ดร.ภาณุวรรณ จันทวรรณกูร กล่าวว่า “การเลี้ยงผึ้งถือเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในเขตภาคเหนือ ซึ่งการส่งออกน้ำผึ้งโดยเฉพาะน้ำผึ้งลำไย สามารถสร้างมูลค่าการส่งออกกว่าร้อยล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากผึ้ง ได้แก่ นมผึ้ง และเกสรผึ้ง ที่มีตลาดที่ยั่งยืนทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากผลิตภัณฑ์จากผึ้งถือเป็นวัตถุดิบสำหรับอาหารเพื่อสุขภาพและความงามที่มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ สามารถนำไปประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และเวชสำอางได้”

โดยการจัดอบรมในครั้งนี้มีกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งการบรรยาย และกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้ ในหัวข้อที่น่าสนใจต่างๆ อาทิ การปฏิบัติการทางการเกษตรที่ดีด้านปศุสัตว์ (มาตรฐานฟาร์มผึ้ง) โดยวิทยากรจากสำนักงานปศุสัตว์เขต 5 จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อการจัดการการผลิตที่เหมาะสม การป้องกันและการปราบไรปรสิตโดยปราศจากสารเคมีอันตราย นวัตกรรมผลิตภัณฑ์นมผึ้งในการต้านเชื้อแบคทีเรียก่อโรคบริเวณผิวหนัง การต้านอนุมูลอิสระและการอักเสบ

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม Workshop ในหัวข้อ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่มีผลิตภัณฑ์ผึ้งเป็นส่วนประกอบหลัก” โดยเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้ทดลองทำสบู่เหลวที่มีน้ำผึ้งเป็นส่วนประกอบ ตลอดจนเรียนรู้การตรวจคุณค่าทางการแพทย์ของผลิตภัณฑ์จากผึ้งและการพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งในยุค Thailand 4.0 อีกทั้งทางโครงการฯ ยังได้แนะนำการใช้แอปพลิเคชั่นสำหรับเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการ บรรยายโดย ดร.ชัยณรงค์ สินภู่ ซึ่งการอบรมในครั้งนี้มีเกษตรกรและผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 200 คน ทั้งยังได้รับเกียรติจากประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 คุณวิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ กล่าวแสดงวิสัยทัศน์และบทบาทของหอการค้าต่อการส่งเสริมการค้าน้ำผึ้งและผลิตภัณฑ์อีกด้วย 

การจัดจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การเลี้ยงผึ้งให้มีมาตรฐาน ตามการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) เพื่อความยั่งยืนตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียงและการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ผึ้งในยุค 4.0” ในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากแผนบูรณาการวิจัย และนวัตกรรม (งบประมาณแผ่นดิน) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2561 รวมทั้ง Ricola Foundation ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ที่ให้การสนับสนุนการวิจัย เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาเกี่ยวกับผึ้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เกษตรกรผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารประชาสัมพันธ์ของโครงการได้ทาง เว็ปไซต์ Smart Bee ที่ https://smart-beekeeper.com ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงผึ้งและผลิตภัณฑ์ผึ้ง รวมถึงแจ้งข่าวสารประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ และสามารถดาวน์โหลดเอกสารสำคัญ เช่น มาตรฐานฟาร์ม และหนังสือคู่มือการเลี้ยงผึ้งและแมลงเศรษฐกิจ 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Smart Bee คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โทร. 093-580-0013
e-mail: smartinsect18@gmail.com
Line ID: SMART BEEKEEPERS
Facebook page: Smart Bee 

[ภาพและข้อมูลโดย โครงการ Smart Bee คณะวิทย์ มช.]

แกลลอรี่