เมืองไทย แคปปิตอล จับมือ STeP มช. เผยความสำเร็จ ผลผลิต “โครงการสานฝันเกษตรกรไทย จากใจเมืองไทยแคปปิตอล” พัฒนาศักยภาพเกษตรผู้เลี้ยงผึ้งภาคเหนือ

26 สิงหาคม 2565

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

               บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) จับมือ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) จัดแถลงข่าวความสำเร็จ “โครงการสานฝันเกษตรกรไทย จากใจเมืองไทยแคปปิตอล” พัฒนาศักยภาพเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งภาคเหนือ เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งสามารถพึ่งพาตนเองได้ นับเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการต้นแบบความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย ที่นำองค์ความรู้ทางเทคโนโลยี งานวิจัย และนวัตกรรม รวมกับทุนสนับสนุนจากภาคเอกชนมาสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนและสังคม อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต


              วันที่ 26 สิงหาคม 2565 บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) จัดแถลงข่าวความสำเร็จ “โครงการสานฝันเกษตรกรไทย จากใจเมืองไทยแคปปิตอล” ในกิจกรรมมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งภาคเหนือ ณ NSP Exhibition Hall อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) โดยนำกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งทั่วภาคเหนือจำนวน 43 ราย ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการเลี้ยงผึ้ง การสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์น้ำผึ้ง การตรวจสอบคุณภาพ การสร้างแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องสำอางจากน้ำผึ้ง การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเงิน การตลาด การสร้างแบรนด์ ฯลฯ พร้อมให้คำปรึกษาเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญด้านโมเดลธุรกิจ จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์พัฒนาต่อยอดอย่าง Sleeping Mask น้ำผึ้งทานาคา จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากผึ้งป่าก๋อย จ.เชียงราย และผลิตภัณฑ์เทียนหอม อโรม่า จากวิสาหกิจชุมชนผึ้งจ๋าฟาร์มพะเยา


              ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงที่มาว่า โครงการ “สานฝันเกษตรกรไทย จากใจเมืองไทยแคปปิตอล” เกิดขึ้นจากกลไก “5 โปรแกรมรวมพลัง มช. เพื่อเร่งการฟื้นตัวและการเปลี่ยนผ่านสู่วิถีชีวิตใหม่หลัง COVID-19” ซึ่งเป็นกลไกการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในช่วงสถานการณ์ COVID โดยมีกลไก ให้ความช่วยเหลือครอบคลุมทั้งนักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ที่ยังว่างงาน ผู้ถูกเลิกจ้าง แรงงานคืนถิ่น รวมถึงกลุ่มชุมชนและเกษตรกร โดยใช้ทรัพยากรและความเข้มแข็งของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไปช่วยภาคประชาชนและสังคม ประกอบกับอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) มีหน้าที่เป็นสะพานนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี งานวิจัย และนวัตกรรมจากรั้วมหาวิทยาลัยมาเชื่อมโยงสู่ภาคเอกชนในเชิงพาณิชย์เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งยังพบว่าความต้องการของบริษัทขนาดใหญ่นอกเหนือไปจากการทำงานด้านวิจัยและพัฒนาแล้วนั้น ยังมีความต้องการในการทำกิจกรรม CSR รูปแบบใหม่ ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิม จึงเกิดความร่วมมือระหว่างอุทยานฯ กับบริษัท เมืองไทยแคปปิตอล จำกัด (มหาชน) ผ่านแพลตฟอร์มการให้บริการที่สอดคล้องกับ

              ความต้องการของภาคเอกชนในรูปแบบ CSR Project ซึ่งบริษัท เมืองไทยแคปปิตอล จำกัด (มหาชน) เป็นเอกชนรายแรกที่สร้างความร่วมมือกับทางอุทยานฯ ในการพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการผึ้งในพื้นที่ภาคเหนือเพื่อประโยชน์ของชุมชนและสังคม


              นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากข้อมูลที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการเลี้ยงผึ้งในระดับอุตสาหกรรม โดยสามารถผลิตน้ำผึ้งได้มากเป็นอันดับที่ 36 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากเวียดนาม มีเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งมากกว่า 1,200 ราย โดย 89 เปอร์เซ็นต์ของเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งในประเทศไทยอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่ จึงอยากช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผึ้ง ในภาคเหนือของไทยให้มีมูลค่าสูงขึ้น สามารถแข่งขันกับตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น จึงคิดอยากสร้างองค์ความรู้ พร้อมสนับสนุนการนำเทคโนโลยีที่จำเป็นมาช่วยในการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ของชุมชนเพื่อเป็นการสร้างประโยชน์กลับคืนสู่กลุ่มเกษตรกร สร้างรายได้เพิ่ม พร้อมยกระดับผลิตภัณฑ์ของชุมชนได้อย่างยั่งยืน โดยลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งหลังจากนี้ จะมีการหารือถึงแนวทางความร่วมมือต่อไปในอนาคต ซึ่งนอกจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้ว บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล เองก็ได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานทางการศึกษาและมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในการทำกิจกรรมสร้างประโยชน์กลับคืนสู่สังคมอยู่อย่างสม่ำเสมอเรื่อยมาภายใต้โครงการ “เมืองไทยแคปปิตอล พัฒนาไทยอย่างยั่งยืน” เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมไทยต่อไป

                ผศ.ดร.ธัญานุภาพ อานันทนะ กล่าวทิ้งท้ายว่า ผลกระทบคาดการณ์ 1 ปีจากโครงการดังกล่าว จะสามารถสร้างประโยชน์แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งได้มากกว่า 600 ราย เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 80 คน และสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจรวมกว่า 20 ล้านบาท


รายละเอียดประกอบข่าว : อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม คุณวัชรีพร เรืองฤทธิ์ โทร. 08 0501 5594 LINE ID: Aquamarine_koii
คุณพัชร์สิตา เจริญสุรภิรมย์ โทร. 08 4151 4136 LINE ID: patzetar

แกลลอรี่