รศ.ดร. อัมพร จิรัฐติกร อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์กับการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มสนใจละครไทยจากตอนที่เห็นละครไทยส่งออกไปประเทศจีนในปี 2553 นำไปสู่ได้ศึกษาวิจัยของอาจารย์ในเรื่องนี้จากเฟสแรกคือ ‘การศึกษาเรื่องการบริโภคละครไทยในกลุ่มประเทศอาเซียน : กรณีศึกษาในพม่า กัมพูชา และเวียดนาม” มาจนถึงเฟสที่สองเรื่อง “การบริโภคละครไทยทางอินเตอร์เน็ตในประเทศจีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย” ที่พบว่าประเทศต่างๆ ทั้งหลายนี้ บริโภควัฒนธรรมสมัยนิยมของไทยในเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป
จากการศึกษาเรื่องรสนิยมการบริโภคละครไทยในกลุ่มประเทศอาเซียน ได้ต่อยอดไปสู่การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกระแสของซีรีส์วายไทย ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในประเทศญี่ปุ่น จีน และไปไกลถึงยุโรป อเมริกา จนถึงขนาดทำให้มีนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากยุโรปตัดสินใจเลือกที่จะมาเรียนวิชาที่ว่าด้วยเรื่อง Pop Culture ที่คณะสังคมศาสตร์ มช. ด้วยสาเหตุของความนิยมต่อละครวายของไทยในต่างประเทศ
อะไรทำให้ซีรีย์วายสามารถสร้างปรากฎการณ์ความนิยมได้ขนาดนี้ ละครวายแบบไทยๆ สะท้อนหรือตอบโจทย์เทรนด์ของโลกยุคใหม่อย่างไร ทิศทางของซีรีส์วายสู่การเป็น Soft Power ของประเทศ รศ.ดร.อัมพร ได้กล่าวถึงประเด็นเหล่านี้อย่างน่าสนใจ
Why ?? ซีรีส์ Y
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ‘ซีรีส์วาย’ เป็นวรรณกรรมที่สร้างหรือเขียนโดยผู้หญิง เพื่อให้ผู้หญิงอ่าน แม้ว่าในปัจจุบันจะมีผู้อ่านที่ไม่ใช้ผู้หญิงอยู่ด้วยจำนวนหนึ่ง แล้วผู้หญิงเสพอะไรในวรรณกรรมวาย ซึ่งมันก็มีหลายทฤษฎีที่วิเคราะห์ในเรื่องนี้ อย่างแรกเลย คือ เวลาผู้หญิงเสพละครหรือนิยายที่มีผู้หญิง – ผู้ชาย เป็นตัวเอก ผู้หญิงที่สวยกว่าเราจะได้ผู้ชายไป ทีนี้ พอมาเสพละครวายที่เป็นผู้ชายทั้งคู่ ก็จะมาจากความรักในเรือนร่างที่กำยำของผู้ชาย และเรา (ผู้หญิง) ก็สามารถได้ผู้ชายทั้งคู่ในจินตนาการ
อีกคำอธิบายนึง จะเป็นการที่ผู้หญิงมองเรื่องความไม่เท่าเทียมในความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิง-ผู้ชาย ที่ผู้หญิงมักจะเป็นฝ่ายถูกกระทำหรือเป็นฝ่ายไล่ตามความรักอยู่เสมอ ในขณะที่ความสัมพันธ์ในซีรีส์วายที่เป็นคู่ชายกับชาย จะมีความเท่าเทียมกันมากกว่า เพราะฉะนั้น ผู้หญิงจึงรู้สึกว่าสามารถใช้ตรงนี้มาทดแทนความสัมพันธ์แบบหญิง-ชาย ในสังคมที่ชายเป็นใหญ่ หรืออีกแนวคิดนึง คือ เวลาเสพละครหญิง-ชาย เรา(ผู้หญิง) มักจะเอาตัวเองเข้าไปแทนตัวละครผู้หญิงเสมอ แต่เมื่อเราเสพละครที่เป็นผู้ชายทั้งคู่ เราก็สามารถจินตนาการได้ โดยที่ไม่ต้องเอาตัวเราเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในนั้น เวลาไปสัมภาษณ์ผู้ชม จะพบว่าผู้ชมจะ identify หรือกำหนดตำแหน่งตัวเองว่า ชอบตัวละครผู้ชายที่เป็นแบบ ‘เซะเมะ’ (ผู้ชายที่มีความเป็นชายแท้) หรือแบบ ‘อุเคะ’ (ผู้ชายที่มีรูปลักษณ์หรือลักษณะนิสัยของความเป็นผู้หญิง) ผู้หญิงที่เป็นผู้ชมจะจินตนาการหรือแทนตัวเองว่าเป็นผู้ชายทั้งสองแบบ ซึ่งอาจตีความได้ว่า ที่จริงผู้หญิงก็ใฝ่หาความสัมพันธ์แบบหญิง-ชายนั่นแหละ เพียงแต่อยู่ในร่างของผู้ชายทั้งคู่ โดยไม่ต้องเอาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องในความสัมพันธ์อันนี้ มันก็เป็นแฟนตาซีแบบหนึ่งที่ท้ายที่สุดก็จะนำไปสู่การได้ปลดปล่อยตัวเองจากอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ด้วยไปในตัว การศึกษาเรื่องของซีรีส์วายหรือวรรณกรรมวายเป็นเรื่องใหม่ เกือบจะเรียกได้ว่าอยู่ในแขนงของการศึกษาเรื่อง Pop Culture หรือวัฒนธรรมสมัยนิยม มันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและแพร่หลายมากในช่วงประมาณสิบกว่าปีที่ผ่านมา มีผู้ชมที่เป็นสาว Y หรือผู้หญิงที่ชอบเสพมันอยู่ทั่วโลก ซึ่งตัวดิฉันก็ยังไม่อยากเชื่อเลยว่า ซีรีส์วายนี้ไปไกลถึงยุโรปและอเมริกา ที่มช. มีนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากยุโรปที่ตัดสินใจเลือกมาเรียนที่เมืองไทยแล้วมาเลือกเรียนวิชา Pop Culture เพราะดูซีรีส์วายของไทย
ซีรีส์วายกับความเป็น Pop culture
เรื่องนี้จึงเป็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจ ที่เราควรศึกษา เพราะมีผู้เสพหรือผู้ชมอยู่ทั่วโลก การศึกษาเรื่องซีรีส์วายจึงเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเรื่อง Pop Culture เราควรศึกษา เพื่อทำความเข้าใจว่า ผู้ชมเสพอะไรกับวรรณกรรมหรือซีรีส์เหล่านี้ โดยเอาบริบททางสังคมวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ แต่ละประเทศเข้ามาอธิบาย ก็จะเป็นแนวทางการศึกษาที่ช่วยชี้ให้เราเห็นว่า ตลาดของซีรีส์วายมันไม่ใช่ตลาดเดียว เราจะมองเห็นการเปลี่ยนแปลงหรือการแปรความหมายที่ไม่เหมือนกัน จากค่านิยมของสังคมที่แตกต่างกัน อย่างในอินโดนีเซีย มีสาว Y จำนวนมาก จีนมีจำนวนสาว Y สูงสุดในโลก ญี่ปุ่นก็มีผู้เสพซีรีส์วายของไทยจำนวนเยอะมาก ซึ่งเรื่องเหล่านี้ความรู้ทางสังคมศาสตร์สามารถจะอธิบายมันได้
แล้วความรู้เหล่านี้เอาไปทำอะไรต่อ? เราก็สามารถนำไปสร้างเป็นนโยบายเพื่อผลักดันเรื่อง Soft Power ของไทยให้ออกไปทั่วโลก อย่างที่ไม่เคยทำได้เท่านี้มาก่อน เราเคยพยายามส่งออกละครไทยมาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่สามารถสู้กับประเทศที่มีตลาด มีปัจจัย มีอุตสาหกรรมใหญ่กว่าเรา อย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือไต้หวัน เราสู้เขาไม่ได้ เพราะเงินเราไม่ถึง แต่เรามีอุดมการณ์ เรื่องความหลากหลายทางเพศนี่แหละที่เราสามารถส่งออกได้ ดังนั้น การศึกษาเรื่องนี้ ในแนวทาง Pop Culture นอกจากจะทำความเข้าใจปรากกฎการณ์แล้ว ยังทำให้เราสามารถผลักดันมันไปสู่การทำนโยบายเพื่อการส่งออก Soft Power ได้เป็นอย่างดี
มุมมองใหม่ของละครแบบไทยๆ สู่การเป็น Soft Power ของประเทศ
ตอนไปทำวิจัยเกี่ยวกับผู้ชมละครไทยที่ประเทศจีน ก็พบว่า คนจีนชอบพูดกันว่า ‘ดูละครไทย ต้องไม่ใช้สมอง’ เช่น ‘รถชนทำไมไม่รีบไปแจ้งตำรวจ ทำไมมานั่งร้องไห้’ ‘ทำไมตบกันไม่สมจริง’ ‘อยู่ดีๆ เป็นคน ทำไมกลายเป็นนก หรือ ‘นั่งอยู่ใกล้ ๆ กัน มีคนมากระซิบข้างๆ คนอยู่ใกล้ๆ ทำเป็นไม่ได้ยิน’ คือ ถ้าดูแล้วใช้สมอง ก็จะไม่เข้าใจตรรกะของละครไทย
สำหรับซีรีส์วายของไทย ผู้ชมก็จะมีการพูดถึงในลักษณะของอะไรที่ light คือ เบา ไม่ต้องคิดมาก หรือไม่ซีเรียส ซึ่งโดยทั่วไป ถ้าเป็นซีรีส์หรือภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับผู้ชายสองคนที่เป็นคู่เกย์ มักจะเป็นเรื่องการเป็นเอดส์ การไม่ยอมรับจากสังคม การต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ นานา และจะจบแบบไม่ happy ending แต่ซีรีส์วายของไทย จะน่ารักกุ๊กกิ๊ก เป็นเรื่องของรั้วโรงเรียน คนก็ไม่เคยตั้งคำถามกับเรื่องแบบนี้ ทุกคนยอมรับหมดเลย เพื่อนรู้ เพื่อนก็สนับสนุนช่วยให้จีบให้ติด จะบอกว่าเบาสมองหรือไม่ต้องใช้สมองก็ได้ แต่ท้ายที่สุด มันไปตอบโจทย์อีกแบบหนึ่งที่ละครไทยหญิง-ชาย ไม่ตอบโจทย์ตรงนี้ คือ การฉายภาพของสังคมที่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ การที่พ่อ-แม่เข้าใจและยอมรับในเพศสภาพของลูก ดังนั้น ผู้หญิงหรือผู้ชายที่เป็น LGBT ที่มาจากสังคมที่ปิดกั้น ก็จะรู้สึกว่าเป็นการเสพภาพตัวแทนที่เป็นเชิงบวกต่อความหลากหลายทางเพศ และเขาก็จะชอบมากที่สังคมไทยเปิดกว้างในเรื่องนี้
การที่ละครซีรีส์วายได้รับความนิยมและเข้ามาอยู่ในช่องทีวีกระแสหลัก ก็มองได้ว่าซีรีส์วายได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมสมัยนิยมไปแล้ว เป็น Pop Culture ที่ไทยมี และสามารถส่งออกไปขายได้ทั่วโลก แต่หากถามว่า ซีรีส์วายเป็นละครกระแสหลักได้หรือยัง ดิฉันก็ยังคิดว่า มันเป็นกระแสหลักในกลุ่มคนดูจำนวนหนึ่งเท่านั้น อย่างในประเทศไทย ผู้ชมจำนวนมากยังอยากดูละครหญิง-ชายอยู่ ไม่นับถึงผู้ชมในชนบทที่ยังไม่เปิดรับกับกระแสซีรีส์วาย แต่ก็ต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้ ซีรีส์วายได้เข้ามาอยู่ในช่องทีวีกระแสหลักเป็นจำนวนมาก อย่างช่อง 3 ก็หันมาผลิตละครซีรีส์วาย อย่างเรื่องขลุ่ยปาฏิหารย์ที่ผลิตและฉายในช่วงไพร์มไทม์ ก็ต้องรอว่าเมื่อไหร่ที่ช่อง 7 จะผลิตซีรีส์วาย เมื่อนั้นก็อาจจะเรียกได้ว่าซีรีส์วายได้เป็นกระแสหลักแล้วจริง ๆ
เรื่อง : สิทธิพร ฤทธิสรไกร
ออกแบบ/จัดหน้า : สุดารัตน์ สุวรรณยิก
ถ่ายภาพ : รัตนพงษ์ กันทะวงศ์