ทีมนักศึกษาและอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาดัชนีทางทะเลใหม่ เพื่อสร้างโมเดลคาดการณ์ปริมาณฝน สำหรับวางแผนการใช้น้ำในพื้นที่ภาคเหนือ ภายใต้งานวิจัย หัวข้อ Predictive Model for Northern Thailand Rainfall Using Nino Indexes and Sea Surface Height Anomalies in the South China Sea
งานวิจัยนี้ได้ประยุกต์ใช้แนวทางด้านคณิตศาสตร์ สถิติ และวิทยาการข้อมูล เพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบหลักของข้อมูลความสูงคลื่นในบริเวณทะเลจีนใต้ เพื่อนำมาสร้างดัชนีทางทะเลที่มีความสัมพันธ์กับปริมาณฝนในภาคเหนือของประเทศไทย โดยดัชนีทางทะเลที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้ มีความสัมพันธ์กับปริมาณน้ำฝนในภาคเหนือของประเทศ สูงกว่าดัชนีอื่น ๆ และสามารถนำมาสร้างสมการเพื่อคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนรายเดือนสำหรับภาคเหนือของประเทศไทยได้
ผลจากการศึกษาสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพิจารณาวางแผนจัดการผลกระทบจากปัญหาโลกรวนได้อย่างเหมาะสม โดยสามารถนำแบบจำลองการคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนในภาคเหนือ ไปวางแผนการใช้น้ำอุปโภค/บริโภคให้เหมาะสม โดยเฉพาะการวางแผนการเพาะปลูกในระยะกลาง ซึ่งจะช่วยให้ผลผลิตทางการเกษตรไม่เสียหาย
ในปัจจุบันการคาดการณ์ปริมาณฝนในประเทศไทยสามารถทำได้ดีในระยะสั้น (ผ่านข้อมูลเรดาห์) และระยะยาว (ผ่านดัชนี ENSO) แต่การคาดการณ์ในระยะกลางยังคงต้องได้รับการพัฒนา งานวิจัยชิ้นนี้จึงเป็นหนึ่งในงานวิจัยชิ้นแรกๆ ที่ทำการพัฒนาแบบจำลองสำหรับคาดการณ์ปริมาณฝนในระยะกลาง
ผลงานได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Marine Science and Engineering
Published: 22 December 2023
อ่านบทความวิจัยได้ที่ https://doi.org/10.3390/jmse12010035
รายชื่อนักวิจัย
นางสาวกฤตพร บัวทอง นักศึกษาปริญญาโทสาขาคณิตศาสตร์ประยุกต์
รศ.ดร.ธเนศร์ โรจน์ศิรพิศาล ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่
รศ.ดร.สมภพ มูลชัย ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่
รศ.ดร.จิรัฏฐ์ แสนทน ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่
ผศ.ดร.ธิดาพร ศุภภากร ภาควิชาสถิติ คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์